นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : มากกว่าแค่ Coworking space

 

คุณเคยไปนั่งทำงานที่ Coworking space กันหรือยังครับ?

เมื่อ 2-3 ปีก่อน ผมเคยเขียนถึง Coworking space สถานที่ที่เป็นตรงกลางระหว่าง “สำนักงาน” และ “ร้านกาแฟ” โดยตอนนั้นผมแนะนำว่ามันเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจะได้รับความนิยมในอนาคต เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานในออฟฟิศบรรยากาศเดิมๆ ต้องการจะทำงานอิสระมากกว่างานประจำ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ “คอมมูนิตี้” และ “คอนเน็กชั่น” ที่คุณจะได้อีกด้วย

มาถึงตอนนี้ coworking space ได้กลายเป็นเทรนด์หลักไปแล้วจริงๆ

มีcoworking space เปิดใหม่มากมายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ แถมหลายที่ยังเต็มไปด้วยชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย

ท่ามกลาง coworking space มากมาย HUBBA thailand ถือเป็น coworking space ผู้บุกเบิกและได้รับความไว้วางใจให้เป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย

ปัจจุบัน HUBBA มีสาขาที่เปิดให้บริการราว 8 แห่ง และเพิ่งเปิดอีก 2 สาขาใหม่ไปเมื่อต้นปี คือ Discovery HUBBA ที่ห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ SiamDiscovery จากการชักชวนของ Siam Piwat และ HUBBA-TO ที่ HABITO Mall จากคำเชิญของ Sansiri

พวกเขายังร่วมมือกับเว็บไซต์ไอทีชื่อดังอย่าง Thumbsup สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับวงการสตาร์ตอัพในชื่อ Techsauce.co โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเพิ่งจัดงานสัมมนาใหญ่ Techsauce เชิญ speaker ระดับโลกที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ตอัพมาบรรยายในวันที่ 23-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

สร้างความคึกคักให้กับวงการสตาร์ตอัพไทยเป็นอย่างมาก

รายชื่อคนดังๆ ที่มาพูด ก็มีตั้งแต่พาร์ตเนอร์ของ Y Combinator ผู้ปลุกปั้น AirBnB และ Dropbox, Tikhon Bernstam ผู้ร่วมก่อตั้ง Scribd เว็บไซต์แชร์เอกสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปจนถึง คุณกรณ์ จาติกวณิช หรือ คุณศุภชัย เจียรวนนท์

จะเรียกว่าเป็นงานคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับสตาร์ตอัพที่ใหญ่และอินเตอร์ที่สุดงานหนึ่งในเมืองไทยก็ว่าได้

ผมเพิ่งได้คุยกับ “คุณเอม-อมฤต เจริญพันธ์” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง

เขาแอบบอกแผนการในอนาคตว่า หลังจากเพิ่งระดมทุนได้ราวๆ 10 ล้านบาท เขามีแผนการที่ขยายธุรกิจตัวเองเพิ่มอีก 140 สาขาทั่วประเทศ ภายในปี 2020 และยังมีแผนการขยายไปทั่วอาเซียน

ผมไม่ได้จะมาบอกว่า HUBBA ดีกว่าที่อื่นอย่างไร เพราะแต่ละที่ก็มีข้อดีของตัวเอง แต่หากคุณได้รู้ประวัติและวิสัยทัศน์ของคุณเอม ผมคิดว่ามีหลายสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้

เชื่อไหมครับว่า ในช่วงเริ่มต้นเพียงแค่ 2 เดือน พวกเขาเคยเกือบเจ๊งเอาตัวไม่รอดจนเกือบปิดตัวด้วยซ้ำ

อะไรทำให้ coworking space ที่ชื่อ HUBBA ประสบความสำเร็จมาไกลถึงวันนี้?

เท่าที่ได้คุย ผมคิดว่ามีกุญแจแห่งความสำเร็จด้วยกัน 3 ข้อ

B1AboutUs_facilities_PhotoGallery12

ข้อที่หนึ่ง พวกเขาไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ “พื้นที่” แต่คือ “สังคม”

อย่างที่บอกไปว่า ในช่วงแรกที่ HUBBA บุกเบิกทำ coworking space เพราะพวกเขาได้เห็น “in-sight” ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการที่ทำงานที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างออฟฟิศและร้านกาแฟ

แต่ปรากฏว่าพอเริ่มทำไป ปัญหาใหญ่ที่เจอคือ คนไทยไม่ค่อยเข้าใจและมองไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องจ่ายเงิน 200 กว่าบาทเพื่อมานั่งทำงานกับคนอื่น

สิ่งที่ HUBBA เปลี่ยนตัวเองคือ พวกเขาต้องทำให้สถานที่ของตัวเองเป็นมากกว่าแค่พื้นที่ทำงานที่มี WIFI แรงๆ แต่ต้องให้อะไรกับลูกค้ามากกว่านั้น

แล้วเขาก็พบว่าสิ่งที่ลูกค้าอยากได้มากที่สุดคือ “คอนเน็กชั่น” ในการต่อยอดธุรกิจ และความรู้ใหม่ๆ ในการเพิ่มศักยภาพในการทำงาน

และเพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากทำสตาร์ตอัพ HUBBA จึงโฟกัสไปเลยว่า คนที่อยากทำสตาร์ตอัพ หากไม่รู้จะไปไหน จับต้นชนปลายไม่ถูก ขอให้นึกถึง HUBBA

พวกเขาเริ่มจัดอีเวนต์ กิจกรรม เวิร์กช็อป และโครงการที่สนับสนุน บ่มเพาะ ให้ความรู้ด้านสตาร์ตอัพ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอนอยู่เสมอ

ผลลัพธ์ก็คือ HUBBA กลายเป็นสังคมสำหรับสตาร์ตอัพในเมืองไทยไปโดยปริยาย และเมื่อคุณมาฟังสัมมนาหรือทำเวิร์กช็อปแล้ว ก็จำเป็นที่ต้องใช้บริการ coworking space ของพวกเขา

ตรงนี้เองที่ช่วยสร้างฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ถือเป็นการหาลูกค้าเพิ่มแบบเชิงรุกที่น่าสนใจมาก

ข้อที่สอง การวางตัวเองเป็นโรงเรียน

หลังจากสร้างตัวเองจนเป็นมากกว่าแค่ “พื้นที่” แต่คือ “สังคม” แล้ว พวกเขาก็ไม่หยุดนิ่ง

พวกเขามองเห็นว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนอยากจะเรียนรู้การทำสตาร์ตอัพ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

หลายคนยังเรียนมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย แต่ก็มีความคิดที่อยากจะทำธุรกิจตัวเองแล้ว

สิ่งที่ HUBBA ทำคือขยายตัวเองไปสู่ “โรงเรียน” จนไปถึง “ผู้วางระบบนิเวศน์” ทางธุรกิจ

พูดง่ายๆ คือ ให้บริการแบบครบวงจร

ลูกค้าของ HUBBA สามารถเข้าถึงบริการอันหลากหลาย เช่น เข้าร่วมกิจกรรมและลงเรียนคอร์สธุรกิจกับ HUBBA Academy หรือขอคำปรึกษาจาก HUBBA X ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การออกแบบ และไอที

คุณเอมถึงกับบอกผมว่า “เรามีทุกอย่างพร้อมที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้โดยที่คุณไม่ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้”

B1AboutUs_facilities_PhotoGallery8-s

ข้อที่สาม การขยายกลุ่มลูกค้า

คุณเอมบอกผมว่าเมื่อทำธุรกิจมาถึงระดับหนึ่ง และประสบความสำเร็จกับกลุ่มลูกค้าของเขาที่เป็นคนทำสตาร์ตอัพแล้ว เขารู้สึกว่าหากอยากจะขยายกิจการให้โตมากกว่านี้ เขาต้องหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เพราะคนทำสตาร์ตอัพยังถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เล็กมาก

กลุ่มลูกค้าที่เขามองในอนาคตคือ “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” ที่ไม่จำเป็นต้องทำสตาร์ตอัพ แต่อาจจะเป็นฟรีแลนซ์ คนขายของออนไลน์ หรือคนที่อยากทำธุรกิจ smart sme นั่นหมายถึงนักธุรกิจรายย่อยที่ต้องการใช้องค์ความรู้ด้านสตาร์ตอัพเข้ามาช่วยในธุรกิจตัวเอง

เขาอยากให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาใช้บริการ เพราะนี่คือโอกาสอีกมหาศาล นอกจากนี้ ยังเป็นเทรนด์ในการทำงานของคนรุ่นใหม่ในอนาคตอีกด้วย

คุณเอมย้ำกับผมว่า ในปี 2035 จะมีดิจิตอลโนแมดซึ่งทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกเพิ่มเป็น 1 พันล้านคน Coworking space อย่างเขาจึงต้องหาทุนเพิ่ม และขยายให้เติบโตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผมถามเขาว่า เป้าหมายไกลๆ ของเขาคืออะไร

เขาบอกผมว่า อยากจะเป็น “ผู้สนับสนุนวัฒนธรรมผู้ประกอบการ” โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการช่วยเหลือแบ่งปัน และเติบโตไปพร้อมกัน เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญที่จะพาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผมคิดว่า สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากกรณีของ HUBBA คือ บทเรียนที่สอนว่า ถ้าคุณทำธุรกิจหรือแม้แต่ทำอาชีพใดก็แล้วแต่ คุณควรถามตัวเองด้วยว่า ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ “มอบ” อะไรให้ลูกค้ามากกว่าแค่ benefit ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น ผมเพิ่งกลับจากบาหลี เวลาโบกรถแท็กซี่จะรู้ได้เลยว่าคนขับคนไหนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

ถ้ารู้จักทางเป็นอย่างดี ขับนุ่ม ถือว่าพอใช้

ถ้าทำได้ทั้งหมดที่ว่ามา แถมยังพูดจาสุภาพ ช่วยถือของ ถือว่าดี

แต่ถ้าทำได้ทั้งหมด และยังแนะนำร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแบบคนท้องถิ่นจริงๆ ถือว่าดีมาก

จะเห็นได้ว่าหน้าที่คนขับแท็กซี่จริงๆ ก็แค่ขับรถพาผู้โดยสารไปส่งถึงที่หมายอย่างปลอดภัยนั้นไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน คุณต้อง “มอบ” อะไรให้มากกว่านั้น และถ้าทำได้ นั่นหมายถึงค่าทิปหรือการการันตีการกลับมาใช้บริการอีกครั้ง

มีอะไรที่ go beyond ไปมากกว่านั้น และช่วยแก้ไขปัญหาที่เขาอยากได้จริงๆ

จาก “พื้นที่” สู่ “สังคม” มาถึง “โรงเรียน” และกำลังก้าวขึ้นมาสู่ “ผู้สนับสนุนวัฒนธรรมผู้ประกอบการ”

ต้องบอกเลยว่าความคิดและวิสัยทัศน์ของ HUBBA น่าจับตาและไม่ธรรมดาจริงๆ