การศึกษา / สารพัดปัญหา ‘ร.ร.เอกชน’ พิสูจน์ฝีมือ ‘ณัฏฐพล-กนกวรรณ’

การศึกษา

 

สารพัดปัญหา ‘ร.ร.เอกชน’

พิสูจน์ฝีมือ ‘ณัฏฐพล-กนกวรรณ’

 

ปัญหาของ “โรงเรียนเอกชน” ในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในแวดวงการศึกษา ถึงมาตรการแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น จากในอดีตที่โรงเรียนเอกชนมีบทบาทอย่างมากในการจัดการศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ

ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงนโยบายของรัฐที่หันมาสนับสนุนการบริหารจัดการการศึกษาของโรงเรียนรัฐมากขึ้น โรงเรียนรัฐจึงได้รับการพัฒนา ในขณะที่โรงเรียนเอกชนกลับถูกละเลย ทำให้ได้รับความนิยมและความน่าเชื่อถือลดลง

ส่งผลให้ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนประสบปัญหารอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้การบริหารจัดการมีปัญหา หลายๆ แห่งถึงขั้นปิดกิจการลง และต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรายหัว หรืองบฯ อุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนโรงเรียนเอกชน จะได้ไม่เท่ากับโรงเรียนรัฐ ส่งผลให้คุณภาพการจัดการศึกษามีปัญหา เป็นต้น

เนื่องจากปัจจุบันเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กไทยที่เรียนในโรงเรียนเอกชน ในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับจัดสรรเพียง 62-63% ของอัตราเงินอุดหนุนที่นักเรียนโรงเรียนรัฐได้รับ ส่วนระดับมัธยมศึกษาได้รับจัดสรรเพียง 70% ในขณะที่นักเรียนโรงเรียนรัฐได้รับการจัดสรร 100%

ส่วนเงินอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนโรงเรียนเอกชนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้น ป.6 ได้รับจัดสรรเพียง 28% ของนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั้งหมด

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนโรงเรียนเอกชนในสังกัด ระหว่างปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 พบว่า การศึกษาในระบบ ประเภทโรงเรียนสามัญศึกษา ปีการศึกษา 2561 มีโรงเรียน 4,003 แห่ง และปีการศึกษา 2562 ปิดตัว 66 แห่ง เหลือ 3,937 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ ปีการศึกษา 2561 มี 206 แห่ง และปีการศึกษา 2562 เปิดเพิ่ม 1 แห่ง รวม 207 แห่ง

ส่วนการศึกษาเอกชนนอกระบบ ได้แก่ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนสอนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนเสริมทักษะชีวิต โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา ปีการศึกษา 2561 มีทั้งหมด 10,538 แห่ง และปีการศึกษา 2562 ปิดตัว 15 แห่ง เหลือ 10,523 แห่ง

เมื่อรวมโรงเรียนเอกชนทุกประเภทในสงกัด สช.ในปีการศึกษา 2561 มีจำนวนรวม 14,747 แห่ง และปีการศึกษา 2562 ปิดตัวรวม 80 แห่ง!!

ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนเหลือ 14,667 แห่ง!!

 

เรื่องนี้ “เสมา 3” นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนข้อเสนอการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนโรงเรียนเอกชนต่อรัฐบาล

นางกนกวรรณระบุว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช.ได้เสนอให้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว และเงินอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนโรงเรียนเอกชนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงระดับชั้น ป.6 ให้ได้ 100% เท่ากับนักเรียนโรงเรียนของรัฐ จากปัจจุบันได้รับจัดสรรเพียง 28% ของนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั้งหมด

นอกจากนี้ นางกนกวรรณยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า โรงเรียนเอกชนตามแนวตะเข็บชายแดน มีเด็กต่างชาติที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน เดินทางเข้ามาเรียนในประเทศไทยในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐ ต่างได้รับเงินอุดหนุนรายหัว และเงินอุดหนุนอาหารกลางวันเท่ากับเด็กไทย

ในขณะที่เด็กไทย แต่เรียนในโรงเรียนเอกชน กลับไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว และไม่ได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน เท่ากับเด็กต่างชาติที่เรียนในโรงเรียนรัฐ ขณะเดียวกันหากเป็นเด็กที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก แม้จะอยู่ในประเทศไทยมานาน แต่ถ้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว

“ดิฉันจะรวบรวมข้อมูล และสภาพปัญหาการจัดการศึกษา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชน เสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการปรับเพิ่มงบประมาณนั้น ต้องดูอย่างรอบคอบ และในปีงบประมาณ 2563 คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ทัน”

นางกนกวรรณระบุ

 

ด้าน ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ส.ปส.กช.ได้เรียกร้องให้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวมาโดยตลอด เพราะไม่ได้ปรับเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2552 รวมกว่า 10 ปี

ขณะนี้ สช.และ ส.ปส.กช.อยู่ระหว่างเร่งรวบรวมข้อมูลเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนโรงเรียนเอกชน และวิเคราะห์ให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

“เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะเป็นเด็กไทย แต่ถ้าเรียนในโรงเรียนเอกชน จะได้เงินอุดหนุนน้อยกว่าเด็กต่างชาติที่เดินทางข้ามชายแดนมาเรียนในโรงเรียนรัฐ ซึ่ง ส.ปส.กช.กำลังรวบรวมข้อมูลข้อมูลเด็กต่างชาติเข้ามาเรียนในโรงเรียนของรัฐทั่วประเทศ ที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว 100% ว่ามีจำนวนเท่าใด เบื้องต้นคาดว่าอาจมีจำนวนมากถึง 100,000 คน” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

ปัญหาที่นักเรียนลดลง จนทำให้โรงเรียนอีกหลายๆ แห่งอาจต้องปิดกิจการลง หรือการให้เงินอุดหนุนรายหัว และเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ที่ยังไม่เท่าเทียมกับโรงเรียนรัฐ นอกจากนี้ ยังพบความเหลื่อมล้ำ เมื่อเด็กต่างชาติเข้าไปเรียนโรงเรียนรัฐ กลับได้เงินอุดหนุนรายหัว 100% ต่างจากเด็กไทยที่เรียนโรงเรียนเอกชน!!

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนเอกชนกว่า 90% ที่มีผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการเรียนของนักเรียน

โดยบางคนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ถึงปีการศึกษา 2562 และมีแนวโน้มค้างจ่ายเพิ่มขึ้นทุกโรงเรียน!!

เมื่อผู้ปกครองไม่จ่ายค่าเทอม แต่รายจ่ายยังมีมาต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เพราะโรงเรียนเอกชนต้องรับภาระเสียภาษีโรงเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กล่าวว่ามานี้ ดร.ศุภเสฏฐ์ระบุว่า ขณะนี้ขอแค่ให้โรงเรียนอยู่ได้ ไม่คิดถึงกำไร แค่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ให้เงินเดือนครูก็พอ อย่างไรก็ตาม ผู้รับใบอนุญาตของบางโรงเรียนก็ถอดใจ ประกาศขายกิจการแล้ว 10-20 แห่ง!!

 

ด้านเจ้ากระทรวงอย่างนายณัฏฐพล ออกมาให้ความเห็นเรื่องประเด็นการให้เงินอุดหนุนรายหัว และเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชน ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาการใช้งบฯ ที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ และถูกต้อง ตนมั่นใจว่าถ้า ศธ.นำตัวเลขและข้อมูลทั้งหมดมาศึกษาอย่างละเอียด จะตัดสินใจได้ว่า ศธ.ควรจะทำอย่างไรในการสนับสนุนโรงเรียนเอกชนให้พัฒนา และอยู่ต่อไปได้ เช่น การเพิ่มเติมงบ หรือการคงงบฯ อุดหนุนต่างๆ ไว้เท่าเดิม

“ปัญหาต่างๆ ตอนนี้ ต้องดูที่งบฯ ศธ.มีอะไรทำหลายอย่าง งบฯ เป็นเรื่องสำคัญ เบื้องต้นนั้น ศธ.ได้วางแนวทางการการดำเนินงาน ที่จะต้องส่งเสริมให้การศึกษามีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือในพื้นที่ที่นักเรียนไม่สามารถรับการศึกษาอย่างเท่าเทียมเป็นหลักก่อน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารพัดปัญหาที่โรงเรียนเอกชนต้องประสบพบเจอ เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับวงการศึกษาไทยเสียที

คงต้องจับตาดูว่ารัฐมนตรี ศธ.ในฐานะรัฐมนตรีผู้ควบคุมดูแลงานด้านการศึกษา จะผ่าทางตัน เพื่อช่วยโรงเรียนเอกชนให้อยู่รอด

    และจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร?!?