กรองกระแส / ทวิลักษณ์ การเมือง ทวิลักษณ์ รัฐธรรมนูญ 2560 ทวิลักษณ์ ดาบ 2 คม

กรองกระแส

 

ทวิลักษณ์ การเมือง

ทวิลักษณ์ รัฐธรรมนูญ 2560

ทวิลักษณ์ ดาบ 2 คม

 

พลันที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำธงแก้ไขรัฐธรรมนูญไปมอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โฉมหน้าอันแท้จริงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปรากฏ

ไม่เพียงแต่เปิดความเป็นจริงในทางความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากแต่ความเป็นจริงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ฉายชัด ความเป็นจริงของพรรคพลังประชารัฐก็ฉายชัด

ความเป็นจริงของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็ไม่สามารถปิดบังอำพรางไว้ได้ แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยประกาศเป็นเงื่อนไข 1 ใน 3 ที่จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่าจะเอาจริงมากน้อยเพียงใดต่อเงื่อนไขนี้ของตนก่อนวันที่ 5 มิถุนายน

เพียงการปรารภดังขึ้นมาจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านในเรื่องจะนำธงแก้ไขรัฐธรรมนูญไปมอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

ตัวตนของรัฐบาล ตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ล่อนจ้อน

เพราะการประกาศเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลก็เสมอเป็นเพียงน้ำยาบ้วนปาก ไม่ว่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าของพรรคประชาธิปัตย์ หากว่าไม่เคลื่อนไหวหรือแสดงท่าทีอะไร

ถามว่า “เป้าหมาย” แท้จริงของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านคืออะไรและอยู่ตรงไหน

 

แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ศึกษากรณี “งาช้าง”

 

คล้ายกับการระบุว่าจะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อมอบธงแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสะท้อนถึงความไร้เดียงสาทางการเมือง

บางคนถึงกับคิดว่ามาจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือนายปิยบุตร แสงกนกกุล

เพราะรู้อยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คิดอย่างไรในเรื่องของรัฐธรรมนูญ

เพราะรัฐธรรมนูญคือเครื่องมือสำคัญในทางการเมือง

แต่เดิมอาจยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสะท้อนอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชน แต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้ไม่เพียงกับอำนาจรัฐประหาร หากแต่ยังประกันการดำรงอยู่ในอำนาจของขบวนการรัฐประหาร

กระทั่งนำไปสู่บทสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

ข้อเสนอของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมิได้มาจากความไร้เดียงสาหรือความไม่รู้ในสภาพความเป็นจริงของการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ตรงกันข้าม เป็นข้อเสนออันมาจากบทสรุปที่ตกผลึกแล้วในทางความคิดรู้อยู่เป็นอย่างดีว่างาช้างไม่เคยงอกจากปากสุนัขฉันใด ประชาธิปไตยย่อมไม่ได้มาจากคณะรัฐประหารอย่างเด็ดขาด

ข้อเสนอจึงเสมอเป็นเพียงการฉายสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงอย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรม ณ เบื้องหน้าประชาชนอีกคำรบหนึ่งเท่านั้นเอง

 

ระดมมวลชน

กดดันรัฐธรรมนูญ

 

ถามว่าเหตุใด 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องเดินสาย ถามว่าเหตุใดจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่จึงสัญจรไปในขอบเขตทั่วประเทศ

ไม่ว่า กทม. ไม่ว่าภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้

ถามว่าเหตุใดจึงมีความพยายามในการเสริมสานเวทีเสวนาที่มีทั้งคนอย่างนายกษิต ภิรมย์ คนอย่างนายโคทม อารียา คนอย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คนอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล คนอย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณ เป็นต้น

คำตอบก็คือ การประสานและร่วมมือกันอันมิได้จำกัดแต่เพียงภายในพรรคการเมืองเท่านั้น หากแม้กระทั่งกลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคม และปัญญาชน นักวิชาการก็อยู่ในเป้าหมาย

จึงได้เกิดกลุ่มนักศึกษาวิชาการ จึงได้เกิดกลุ่มภาคีเครือข่ายมากมาย

นี่คือการถอดความจัดเจนมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2561 นี่คือการถอดความจัดเจนมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มธงเขียวอันมีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี 2540

เป้าหมายอย่างแท้จริงจึงมิได้อยู่ที่การเคลื่อนไหวในรัฐสภา ตรงกันข้าม ต้องการประสานและสร้างเครือข่ายมวลชนขึ้นอย่างกว้างขวาง

อาศัยพลังของมวลชนอันไพศาลมากดดันรัฐบาล กดดันพรรคร่วมรัฐบาล

 

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

กับความมีชีวิต วิญญาณ

 

แม้เป้าหมายพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะวางเพื่อรักษาและสืบทอดอำนาจอันมีพื้นฐานมาจากกระบวนการรัฐประหาร แต่โดยตัวของรัฐธรรมนูญเองเมื่อประกาศและบังคับใช้ก็เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งในทางการเมือง

นั่นก็คือ การดำรงอยู่อย่างมีชีวิต มีผลสะเทือนที่แน่นอน

เหมือนกับว่ารัฐธรรมนูญจะอวยประโยชน์ให้กับ คสช. ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ความเป็นจริงในท่ามกลางการปฏิบัติ ภายในการดำรงอยู่ของอำนาจความมีชีวิตของรัฐธรรมนูญก็เปิดโปงตัวเองออกมาอย่างล่อนจ้อนและดำรงอยู่อย่างเป็นดาบสองคม

คมหนึ่งอาจเพื่อประโยชน์ของขบวนการรัฐประหาร แต่อีกคมหนึ่งกลับทำลายขบวนการรัฐประหาร