คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ยามเมื่อขมิ้นโปรยปราย บูชา ‘ขัณโฑพา’ เทพ-ผีบรรพชนคนแคว้นมหาราษฎร์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คนไทยไปเที่ยวแคว้นมหาราษฎร์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ โดยเฉพาะการไปไหว้พระพิฆเนศวร์และการร่วมฉลองเทศกาลคเณศจตุรถี

ที่จริงหลังจากไปเยือนแคว้นนี้ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียบ่อยครั้ง ผมพบว่านอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระพิฆเนศวร์แล้ว ที่นี่ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก

เพราะคนมหาราษฎร์หรือที่เรียกว่าคนมาราฐีมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองหลายอย่าง
ที่นี่เป็นแหล่งของ “นักบุญ” หรือ “ภักตะ” (ผู้ภักดีในพระเจ้า) ในยุคกลางของอินเดียจำนวนมาก เช่น ชญาเนศวร ตุการาม เอกนาถ รามทาส ฯลฯ

ท่านเหล่านี้มาจากพื้นภูมิที่หลากหลาย ส่วนมากเป็นชนชั้นต่ำ แต่ด้วยความเป็นกวี จึงครองใจมหาชนไว้ได้เป็นจำนวนมากถึงปัจจุบัน

กวีนิพนธ์และบทเพลงของท่านเหล่านี้คือรากฐานทางวัฒนธรรมและศาสนาของคนมหาราษฎร์ หรือที่จริงคือคนฮินดูโดยทั่วไปด้วยซ้ำ

หากจะเข้าใจคนที่นี่ รวมทั้งเข้าใจศาสนาฮินดูแบบที่คนอินเดียนับถือก็ควรศึกษาเรื่องราวของท่านเหล่านี้ไว้ด้วย

 

เวลาเราไปอินเดียเรามักมองหาสิ่งที่เราต้องการจะเห็น มากกว่ามองดูว่าเขาเป็นอย่างไร
เราจึงไม่ได้รู้จักเขาเพิ่มอย่างน่าเสียดาย

บางครั้งก็เห็นแต่อะไรที่ไกด์ชวนมอง ซึ่งมีแต่เรื่องสำหรับล้อเลียนและบิดเบือนเสียมาก

นอกจากนักบุญเหล่านั้น ซึ่งพอจะมีหนังสือในภาษาอังกฤษให้ได้ศึกษา คนที่นี่ก็มีเทพเจ้า หรือที่จริงคือ “ผี” อันเป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ด้วย

ผมโชคดีที่ผีท่าน “เรียก” ให้เข้าไปหาเมื่อสองสามปีก่อน

คือทุกปีที่ผมไปอินเดีย เมื่อเราพาชาวคณะไปไหว้พระและกลับเข้าปูเน่ จะมีเส้นทางหนึ่งที่ผ่านเมืองเล็กๆ ชื่อเชชูรี (Jejuri ออกเสียงคล้ายๆ เยยูรี่หรือเจจูรี่)

ที่นั่นมีเนินเขาและป้อมปราการทะมึนๆ มีป้ายไฟเขียนว่า “ชัย มัลหาร” และ “โอม นมะ ศิวายะ”)

เราทราบแค่ว่าคงเป็นศิวาลัยสถาน ก็ได้แต่นมัสการในใจแล้วรถก็ผ่านเลยไป

สักสามปีที่ผ่านมา (ไม่แน่ใจนักว่าปีไหน) เราผ่านเชชูรีในเวลาค่ำ ไม่รู้อะไรดลใจ ผมบอกหัวหน้าทัวร์ว่าเราเลี้ยวเข้าไปดูเถิด นี่ผ่านมาหลายปีแล้ว จะได้เห็นอะไรต่ออะไร ได้คลายสงสัย

ชะรอยผีจะดลใจหรือเรียกอยู่กระมัง

 

เราเข้าไปตามทางเดินในชุมชน ข้างทางมีเครื่องบูชาขายอยู่ซึ่งประหลาดกว่าที่ใดเพราะเป็นผงขมิ้นและมะพร้าวแห้ง คนขายหยิบใส่ถุงหิ้วให้เรา เราต้องผ่านบันไดหินกว่าสองร้อยขั้นขึ้นไปยังยอดป้อมปราการ ระหว่างทางมีศาลเล็กศาลน้อย เราหยิบผงขมิ้นโปรยปรายบูชาเลียนแบบตามคนแถวนั้น ซึ่งทำให้เขาอมยิ้มกับอาการบูชาเงอะๆ งะๆ ของเรา

บนยอดนั้นเป็นลานกว้าง เทวาลัยองค์กลางประดิษฐานหินคล้ายศิวลึงค์สององค์อยู่ในฐานเดียวกัน ว่ากันว่าคือองค์เทพและชายา กับมีด้านข้างอีกหนึ่งองค์เป็นชายาองค์รอง คือตรงผนังมีเทวรูปผู้ชายหน้าตาดุดันน่ากลัวไว้หนวดเครา ด้านนอกมีรูปปั้น “ม้า” อยู่

เทพหรือผีองค์นั้น เรียกขานกันด้วยภาษาท้องถิ่นว่า “ขัณโฑพา” (Khandoba ออกเสียงว่าคันโดบา) ขัณโฑเพี้ยนมาจากสันสกฤตว่า ขัฑวางคะ ซึ่งแปลว่าดาบ เพราะพระองค์ทรงดาบ ส่วนพาหรือบาแปลว่า “พ่อ” ในภาษามาราฐี

อีกพระนามที่เรียกขานกันคือ มัลหารหรือมัลหารี (Malhari) แปลว่าผู้สังหาร (อสูร) มละ

เรื่องพระขัณโฑพามีในคัมภีร์ชื่อ “มัลหารี มหาตมยะ” ซึ่งมาจากนิทานพื้นบ้าน บางท่านอ้างว่ามีเค้าลางอยู่ในพรหมาณฑะปุราณะ แต่โดยมากยอมรับกันว่ามาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือขัณโฑพา

ศาสนิกนับถือว่าขัณโฑพาเป็นปางหนึ่งของพระศิวะในภาคดุร้าย คือเป็น “มรตาณฑะไภรวะ” ชายาของท่านชื่อมหาฬสา (Mhalsa) ถือเป็นภาคหนึ่งของพระปารวตี และอีกองค์เป็นหญิงชาวบ้าน ชื่อพาไน (Banai)

ภาคปรากฏ นอกจากอยู่ในรูปศิวลึงค์หรือหินธรรมชาติแล้ว ยังปรากฏประติมาแบบกษัตริย์นักรบทรงม้า โดยมีเทวีมหาฬสาประทับอยู่ และมี “สุนัข” บริวารเคียงข้าง กำลังเข้าสู้กับอสูรสองพี่น้อง มละและมนิ
เทพที่ทรงม้าเป็นลักษณะร่วมของผีหรือเทพพื้นเมืองทั่วๆ ไปในภาคใต้ของอินเดียครับ คือเจ้าที่เจ้าทางจะขี่มาดุจตำรวจ คอยไล่จับไล่ฆ่าพวกผีสางที่เลวร้าย “ม้าขี่” ของท่านจะวิ่งไปรอบๆ หมู่บ้าน ส่งเสียงร้องน่ากลัวในเวลากลางคืน และบางโอกาสชาวบ้านก็อาจกลายเป็น “ม้าขี่” หรือ “คนทรง” ท่านด้วยในเวลาพิธีกรรม

ส่วน “หมา” นับเป็นสัตว์ชั้นต่ำในคติพราหมณ์วัฒนธรรมสันสกฤต แต่กับผีพื้นเมืองหรือกับชีวิตชาวบ้านโดยเฉพาะพวกล่าสัตว์ นับว่าผูกพันกันมาก ซึ่งนี่สะท้อนความเป็นผีพื้นเมืองอย่างชัดเจน

 

นาม “มรตาณฑะไภรวะ” ก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะมรตาณฑะแปลว่า “ไข่ตาย” (มรตะ-ตาย, อัณฑะ-ฟองไข่) ซึ่งหมายถึงดวงอาทิตย์ (พระอาทิตย์เป็นฟองไข่ที่ไม่ฟัก ถึงได้กลมๆ อยู่แบบนั้น) ดังนั้นเขาจึงว่ากันว่าต้องบูชาขัณโฑพาด้วยผงขมิ้น ซึ่งเป็นสีสว่างดุจดวงอาทิตย์ สะท้อนความรุ่งเรืองและมั่งคั่ง

แต่ที่จริงผมว่า เหตุเพราะขมิ้นผงเป็นยาสมุนไพรของชาวบ้าน มีมาก่อนของจุณเจิมอย่างอื่น ชาวบ้านเอามาใช้ในทุกพิธีกรรม เพราะมันช่วยสมานแผลและรักษาโรคภัยสารพัด

ส่วนเหตุผลอื่นน่าจะมาทีหลัง

การนับถือขัณโฑพาแพร่หลายมากในแคว้นมหาราษฎร์และกรรณาฏกะ โดยเฉพาะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบหก มีเทวาลัยของพระองค์ถึงแปดสิบแห่ง โดยมีเชชูรีเป็นศูนย์กลาง

ถ้าจำที่ผมเคยเขียนได้ ผมเคยบอกว่าบรรดาผีเจ้าพ่อต่างๆ ในอินเดียเขามักถือว่าเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะหรือไภรวะ คือปางดุของพลังแบบผู้ชาย

ส่วนผีเจ้าแม่นั้นเขามักเอาไปรวมกับพระกาลีคือปางดุของพลังแบบผู้หญิง

คนมหาราษฎร์หรือคนมาราฐีจำนวนมาก ถือว่าขัณโฑพาเป็น “กุลไทวัต” หรือกุลเทวตา คือเทวดาประจำตระกูลของตน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ เช่น พวกนักรบ เกษตรกร เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนคนล่าสัตว์และหาของป่า (มีพราหมณ์แค่เล็กน้อยที่นับถือขัณโฑพาเป็นเทพประจำตระกูล) และที่น่าสนใจคือ แม้แต่มุสลิมบางกลุ่มที่เป็นคนพื้นเมืองในแถบนั้นก็ให้ความเคารพขัณโฑพาด้วย

การเป็น “กุลเทวตา” นอกจากหมายถึงเทวดาประจำตระกูลยังสื่อถึงสถานะที่เป็น เทพหรือผีบรรพบุรุษ ดังนั้น ระบบการบูชาและพิธีกรรมของขัณโฑพาจึงต่างไปจากเทพฮินดูทั่วไป

 

นอกจากบูชาด้วยผงขมิ้นอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังถือกันว่าขัณโฑพาเป็นเทพแบบต้องไหว้ดีพลีถูก เพราะดุร้ายและให้โทษได้ แต่ก็เฮี้ยนมากเช่นกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าหากใครบำเพ็ญตนจนท่านพอใจก็จะได้รับพรนานัปการ

พิธีสำคัญคือการทำ ชาครัณ โคนธาล (Jagran Gondhal)แปลว่า การขับเพลงตื่นเฝ้าชาครัณแปลว่าตื่น ซึ่งมักใช้เรียกพิธีสรรเสริญเจ้าแม่ตลอดทั้งคืนในภาคเหนือของอินเดีย ส่วนโคนธาลเป็นการขับเพลงและการละเล่นของคนมาราฐี

พิธีนี้จะมีคณะนักแสดง เรียกว่าพวกโคนธาลี ทำหน้าที่ขับเพลงและเล่าตำนานตลอดทั้งคืน โดยใช้กลองหน้าเดียวสองอันที่เรียกว่าสัมพาล (Sambal) จนกว่าเทพและเทพีประจำตระกูลซึ่งมีขัณโฑพาเป็นประธานมาเข้าทรงลูก-หลาน

เมื่อเข้าทรงสนิทดีแล้ว คนทรงจะไปหยิบเอา “ฏาก” หรือแผ่นทองแดงดุนเป็นรูปเทพบรรพชนบนแท่นบูชา เพื่อบอกให้ทราบว่าเทพองค์ใดมาเข้า จากนั้นก็จะสวมรองเท้าตะปูเดินไปรอบๆ และใช้เครื่องทรมานต่างๆ เช่น โซ่ ไม้เท้า และแส้ปอบังคับม้า (เหมือนกับฮวดโสะ ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนใช้ในพิธีกรรมเข้าทรง) แล้วให้พรลูกหลาน

ให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนพิธี “โนราลงครู” ในบ้านเรานั่นแหละครับ

พิธีบูชาแทบไม่มีคำหรือมนต์สันสกฤตเลย และกระทำโดยชาวบ้าน ทุกคนจะมีคำสรรเสริญว่า “เยลโกฏ! เยลโกฏ! ชยะ มัลหาร!” (Yelkot Yelkot Jaya Malhar !) แปลว่า ไหว้นับโกฏิครั้ง พระมัลหารีมีชัยเถิด และเป็นดุจคำขานสำหรับผู้นับถือด้วยกัน

การได้พบเจ้าพ่อ “ขัณโฑพา” จึงช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมผีพื้นบ้านของอินเดียและช่วยให้เข้าใจด้วยว่าความเป็นฮินดูได้ผสานกับความเชื่อพื้นบ้านอย่างไร

เมื่อเข้าใจผีอินเดีย ก็ช่วยให้เข้าใจผีไทย

เข้าใจผีไทย ก็ช่วยให้เข้าใจผีอินเดียยิ่งขึ้น