โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /เหรียญรูปเหมือนยืน 2520 หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า

หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

เหรียญรูปเหมือนยืน 2520

หลวงปู่ศุข เกสโร

วัดปากคลองมะขามเฒ่า

“พระครูวิมลคุณากร” หรือ “หลวงปู่ศุข เกสโร” วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า จนได้รับสมญา “เจ้าสำนักทางพุทธาคมยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

เป็นพระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงให้ความเคารพนับถือและมีความใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้างล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูง ด้วยพุทธคุณเป็นเลิศ และยังคงเป็นที่กล่าวขานและแสวงหามาจวบจนปัจจุบัน อาทิ เหรียญรูปเหมือน พระพิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑล พระปรกใบมะขาม ตะกรุด ประคำ ฯลฯ

ในปี พ.ศ.2520 วัดปากคลองมะขามเฒ่า จัดสร้างวัตถุมงคล อาทิ ครอบน้ำมนต์พระธรรมจักรมงคลชัย 108 ลูก, รูปหล่อเหมือนหลวงปู่ศุขยืน ขนาด 15 นิ้ว ฯลฯ เพื่อหาทุนบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและศาลาการเปรียญที่สร้างยังไม่แล้วเสร็จ

เป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคลที่ได้จัดสร้างในครานั้น

เหรียญหลวงปู่ศุขยืน (หน้า-หลัง)

 

ลักษณะเหรียญหลวงปู่ศุขยืน วัดปากคลองฯ ปี 20 รุ่นนี้ เป็นเหรียญกลมขนาดกลาง มีหูห่วง เนื้อทองแดง (เนื้อเดียว) จำนวน 3,000 เหรียญ

ด้านหน้า มีขอบรอบ ตรงกลางมีรูปนูนหลวงปู่ศุขยืนถือไม้เท้า มีรัดประคด รอบเหรียญใต้ขอบ มีอักษรไทย เขียนคำว่า “พระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

ด้านหลัง มีขอบรอบเช่นกัน ตรงกลางเป็นยันต์นะใหญ่ หรือนะเศรษฐี รอบยันต์นะเศรษฐี ล้อมรอบด้วยอักขระขอม นะ โม พุท ธา ยะ, อา ยุ วัณ โณ สุ ขัง พะ ลัง กำกับด้วยอักขระขอม นะ มะ อะ อุ ทั้งสี่ทิศอีกชั้น

ประกอบพิธีพุทธาภิเษก วันที่ 20 ธันวาคม 2520 ที่อุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า มีพระเกจิคณาจารย์ร่วมนั่งปรก อธิษฐานจิต จำนวน 13 รูป ได้แก่ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง, หลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว, หลวงพ่อเทียม วัดลาดหลุมแก้ว, หลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ, หลวงพ่อพุฒ วัดทุ่งแก้ว, หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม, หลวงพ่อดัด วัดโบสถ์, หลวงพ่อมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ, หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู, หลวงพ่อสำเนียง วัดเวฬุวนาราม จ.นครปฐม และหลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม

แม้จะเป็นเหรียญตาย แต่ด้วยเจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ รายได้ทั้งหมดใช้ในการพัฒนาวัด พระเกจิคณาจารย์ที่ปลุกเสกล้วนวิทยาคมเข้มขลัง พุทธคุณจึงโดดเด่นรอบด้าน

ปัจจุบัน กำลังเป็นที่เสาะหาอย่างมาก

 

มีนามเดิมว่า ศุข เกิดในสกุล เกษเวช (ภายหลังใช้เป็น เกษเวชสุริยา) เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2390 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านมะขามเฒ่า (ปัจจุบันคือ บ้านปากคลอง) ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

บิดา-มารดาชื่อ นายน่วม-นางทองดี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายและทำสวน มีพี่น้องรวมกัน 9 คน โดยท่านเป็นพี่ชายคนโต

ในวัยเด็กเป็นคนมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเชื่อมั่นในตัวเอง จึงมักถูกยกให้เป็นผู้นำของเด็กในย่านตลาดวัดสิงห์

ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำมาหากิน ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในแถบลำคลองบางเขน จ.นนทบุรี จนมีครอบครัวและมีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ สอน เกษเวชสุริยา

แต่ด้วยจิตตั้งมั่นที่จะบวชทดแทนคุณบิดามารดา พออายุครบ 22 ปี จึงได้ลาไปอุปสมบท ที่วัดโพธิ์บางเขน (ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์ทองล่าง) โดยมีหลวงพ่อเชย จันทสิริ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่เป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลัง ซึ่งหลวงปู่ศุขได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระอุปัชฌาย์อย่างครบถ้วน

จากนั้น ก็เริ่มออกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวกฝึกฝนวิทยาการต่างๆ พร้อมแสวงหาและศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิผู้ทรงคุณหลายรูปในด้านพระกัมมัฏฐานและวิทยาคม อาทิ พระสังวราเมฆ ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น ที่สำนักวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม ด้านการเล่นแปรธาตุและโลหะเมฆสิทธิ์ โดยพักอยู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกในฐานะชาวชัยนาทด้วยกัน ฯลฯ

จึงเป็นผู้รอบรู้และแตกฉานทั้งพระไตรปิฎก วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ

 

เวลาล่วงเลยไป มารดาที่พำนักอยู่ที่บ้านมะขามเฒ่าก็แก่ชราลง ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่า จนเสร็จสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2447 โดยมีลูกศิษย์อย่าง เสด็จในกรมฯ เป็นกำลังสำคัญ

ที่ปรากฏเป็นประจักษ์พยาน คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ และภาพเขียนสีน้ำมันรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มองค์และถือไม้เท้า ที่ยังคงรักษาไว้อย่างสมบูรณ์

สมณศักดิ์สุดท้ายป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูวิมลคุณากร ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันคือ เจ้าคณะอำเภอ) รูปแรกของ อ.วัดสิงห์ ก่อนมรณภาพลงในปลายปี พ.ศ.2466 สิริอายุ 75 ปี พรรษา 50

ทุกวันนี้ผู้เคารพศรัทธายังขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ศุขอย่างต่อเนื่อง

นาม “หลวงปู่ศุข” ยังทรงพุทธาคมมาจนถึงทุกวันนี้