เกษียร เตชะพีระ | หวังเฉาฮัววิเคราะห์การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง

เกษียร เตชะพีระ

หวังเฉาฮัววิเคราะห์การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง (1)

หวังเฉาฮัว อดีตแกนนำการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนเมื่อปี ค.ศ.1989 เป็นหนึ่งในสองนักศึกษาหญิงในบัญชีรายชื่อ “ผู้นำนักศึกษา 21 รายที่ทางการปักกิ่งต้องการตัวมากที่สุด” หลังการปราบปรามนองเลือดครั้งนั้น

ตอนนั้นเธออายุ 36 ปี เป็นนักศึกษาบัณฑิตศึกษาด้านวรรณกรรมจีนสมัยใหม่ ณ สถาบันสังคมศาสตร์ของจีนในกรุงปักกิ่ง

พ่อของเธอเป็นศาสตราจารย์โดดเด่น ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้ก่อตั้งสาขาวิชาที่เธอเรียนนั้นเอง
เธอเข้าร่วมเป็นแกนนำการชุมนุมประท้วงที่เทียนอันเหมินโดยบังเอิญขณะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบัน โดยตัดสินใจกะทันหันขานรับเสียงเรียกร้องจากพวกผู้นำการชุมนุมให้มีตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันของเธอในคณะกรรมการประจำของสมาคมอิสระของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งกรุงปักกิ่ง

ช่วงเวลา 10 วันที่เธอร่วมเคลื่อนไหวอยู่ด้วยนั้น เธอเน้นทำงานด้านการจัดตั้งมากกว่าร่วมชุมนุมโดยตรง
ความที่เธออายุมากกว่าแกนนำนักศึกษาคนอื่นสิบกว่าปี และมีประสบการณ์เคยผ่านช่วงปั่นป่วนวุ่นวายของการปฏิวัติวัฒนธรรมมา ทำให้เธอเล็งเห็นถึงความไม่แน่นอนและความสุ่มเสี่ยงของการชุมนุมของนักศึกษาครั้งนั้นที่รัฐบาลกลางไม่สนับสนุน

เธอไม่เห็นด้วยกับการเข้ายึดจัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นที่อดข้าวประท้วงของนักศึกษาเพราะเกรงว่ามันจะยั่วยุให้ทางการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวและนำไปสู่การนองเลือดได้

เธอกระทั่งร่ำไห้ในที่ประชุมของปัญญาชนมีชื่อ 12 คนเพื่อขอให้พวกเขาใช้อิทธิพลเกลี้ยกล่อมบรรดานักศึกษาที่อดข้าวประท้วงให้ออกจากจัตุรัสไปเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุรุนแรง

ซึ่งปัญญาชนเหล่านั้นก็ทำตามที่เธอขอแต่เกลี้ยกล่อมนักศึกษาที่ประท้วงไม่สำเร็จ

หลังทางการจีนสั่งทหารเข้าปราบปรามสลายการชุมนุม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหมื่นคน (ตามรายงานโทรเลขลับของเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำจีนสมัยนั้นถึงรัฐบาลของตนที่อ้างแหล่งข่าวสมาชิกคณะมุขมนตรีของจีน)

หวังเฉาฮัวต้องหลบหนีซ่อนตัวอยู่นานถึง 9 เดือนในจีนและฮ่องกงโดยตัดขาดการติดต่อกับครอบครัวของตนเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย

ทำให้เธอไม่รู้ว่าพ่อถึงแก่กรรมระหว่างนั้นจนเธอได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์เอง

ในที่สุดเธอก็เดินทางจากจีนไปลี้ภัย ณ นครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1990

หวังเฉาฮัวปราศรัยต่อผู้ร่วมชุมนุมประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินปี ค.ศ.1989 & ปัจจุบัน

แรกทีเดียว ชีวิตใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองจีนในอเมริกาไม่ได้สะดวกราบรื่นสำหรับหวังเฉาฮัวนัก
เธอดิ้นรนหาเงินเลี้ยงชีพและเรียนต่อด้วยการรับจ้างทำงานในครัวร้านอาหารจีนและดูแลคู่สามีภรรยาวัยชราแลกกับที่พำนักอาศัย

จนกระทั่งด้วยการผลักดันช่วยเหลือและติดต่อแนะนำของบรรดาเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ชาวจีนทั้งในอเมริกาและจีน เธอจึงได้เข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชียที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลิส โดยได้ทุนผู้ช่วยสอนพร้อมทั้งเคลื่อนไหวรณรงค์ทางการเมืองและปัญญาสาธารณะสืบเนื่องจากกรณีนองเลือดเทียนอันเหมิน

หวังเฉาฮัวจบการศึกษาปริญญาโทในปี ค.ศ.1994 และปริญญาเอกในปี ค.ศ.2009 ด้วยดุษฎีนิพนธ์หนา 400 หน้าเรื่อง “Cai Yuanpei and the origins of the may fourth movement: modern Chinese intellectual transformations, 1890-1920” ซึ่งเป็นชีวประวัติทางภูมิปัญญาของไช่หยวนเป่ย (ค.ศ.1868-1940, นักการศึกษาสมัยใหม่คนสำคัญของจีน ผู้เป็นประธานมหาวิทยาลัยปักกิ่งและผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยแห่งชาติจีนหรือ Academia Sinica

ไช่หยวนเป่ยมีผลงานโดดเด่นในการประเมินค่าวัฒนธรรมจีนเชิงพิจารณ์และสังเคราะห์วิธีคิดจีนกับตะวันตกเข้าด้วยกันรวมทั้งแนวคิดอนาธิปไตยด้วย เขาเป็นแกนกลางในการรวบรวมปัญญาชนผู้ทรงอิทธิพลของจีนในขบวนการวัฒนธรรมใหม่และการเคลื่อนไหวสี่ตุลาคมไว้ด้วยกันที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งสมัยนั้น)

หลังเรียนจบ หวังเฉาฮัวทำงานเป็นนักเขียนและนักวิจัยอิสระ เคยทำงานวิจัยอยู่ที่สถาบันในไต้หวันและฝรั่งเศส และมีผลงานวิชาการและความเรียงตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ เช่น New Left Review, London Review of Books เป็นต้น

เธอร่วมเขียนและเป็นบรรณาธิการหนังสือรวมข้อเขียนและวิวาทะของปัญญาชนหัวก้าวหน้าและอดีตแกนนำการเคลื่อนไหวเทียนอันเหมินของจีนเรื่อง One China, Many Paths (Verso, 2003)

หนังสือของเธอเล่มใหม่เป็นบันทึกส่วนบุคคลของเธอเกี่ยวกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินและข้อคิดสะท้อนว่ามันส่งผลเปลี่ยนแปลงจีนสมัยใหม่ไปอย่างไร เรื่อง The People and the Party : The Tiananmen Conflict of 1989 (Verso)

ซึ่งกำหนดจะตีพิมพ์ออกมาในปีหน้า

ผมได้มีโอกาสติดต่อรู้จักกับหวังเฉาฮัวราวยี่สิบกว่าปีก่อนเมื่อครั้งผมและครอบครัวเพื่อนฝูงช่วยเหลือผู้ลี้ภัยการเมืองชาวจีนฝ่ายค้านคนหนึ่งซึ่งมาพักอาศัยชั่วคราวในเมืองไทยก่อนเดินทางต่อไปลี้ภัยในยุโรปโดยประสานงานกับเธอและพรรคพวกในต่างประเทศ

ผมได้ถือโอกาสสอบถามขอข้อมูลความรู้จากเธอเกี่ยวกับวัฒนธรรมฝ่ายซ้ายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังการปลดปล่อย เพื่อตรวจสอบข้อสันนิษฐานของผมว่าอุปลักษณ์ (metaphor) ที่เปรียบเทียบ “พรรคเหมือนแม่” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลลอกแบบเอาอย่างจีนคอมมิวนิสต์มา
อุปลักษณ์ “พรรคเหมือนแม่” ดำริริเริ่มขึ้นในขบวนการปฏิวัติไทยโดยสหายรวม วงษ์พันธ์ อดีตสมาชิกกรมการเมืองในสมัยสมัชชาครั้งที่สาม (พ.ศ.2504) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาได้ไปศึกษาอบรมและปฏิบัติงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนช่วงพุทธทศวรรษที่ 2490 ก่อนกลับมาเคลื่อนไหวปลุกระดมจัดตั้งในชนบทภาคกลางของไทยและถูกจับกุมและสั่งประหารชีวิตด้วยอำนาจมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 24 เมษายน พ.ศ.2505

หวังเฉาฮัวตอบอีเมลของผมโดยยืนยันด้วยความตื่นเต้นว่าอุปลักษณ์ “พรรคเหมือนแม่” ก็มีในจีนคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมเช่นกัน เด่นชัดมากในกรณีวีรชนเหลยเฟิง และข้อสันนิษฐานของผมนับว่ามีมูลเป็นไปได้มากทีเดียว (ดู Kasian Tejapira, “Party as Mother” : Ruam Wongphan and the Making of a Revolutionary Metaphor”, in Caroline S. Hau and Kasian Tejapira, eds., Traveling Nation-Makers : Transnational Flows and Movements in the Making of Modern Southeast Asia, 2011. โดยเฉพาะหน้า 207-08)

ล่าสุด หวังเฉาฮัวได้ตีพิมพ์ความเรียงเรื่อง “Hong Kong v. Beijing” วิเคราะห์ภูมิหลังความเป็นมาในระยะใกล้ทางการเมืองของการลุกฮือประท้วงทางการปักกิ่งระลอกปัจจุบันในฮ่องกง ในนิตยสาร London Review of Books, 41:16 (15 August 2019), 11-12.

ข้อเขียนของเธอมีเนื้อหาชัดเจนเป็นระบบและกว้างขวางพิสดาร ช่วยให้เข้าใจการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงขณะนี้ได้ดีมาก

ผมจึงขอนำมาถ่ายทอดลงคอลัมน์นี้ไปตามลำดับดังนี้ :

“มันเป็นฤดูร้อนในฮ่องกงที่ร้อนลวกยิ่งในทุกๆ ความหมาย การชุมนุมประท้วงขนานใหญ่หลายครั้งได้สั่นคลอนนครแห่งนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

การชุมนุมสองครั้งมีผู้คนเข้าร่วมกว่าล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 7.4 ล้านคน

การประท้วงมีจังหวะจะโคนเป็นรายสัปดาห์เหมือนดังการประท้วงของพวกเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสต้นปีนี้
กล่าวคือ ก่อหวอดปั่นป่วนขึ้นทุกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์และแผ่ขยายไปรอบนอกของอาณาเขตฮ่องกง
การประจันหน้าระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจมีลักษณะเผชิญหน้ากันแรงกล้าขึ้นทุกทีพร้อมกับช่วงหลายสัปดาห์ที่ล่วงเลยไป และได้มีการวางแผนจัดเหตุประท้วงไว้ล่วงหน้าทุกสุดสัปดาห์ในเดือนสิงหาคมยื่นเหยียดเข้าไปในเดือนกันยายน หลังจากนั้น จะมีการจัดการเลือกตั้งบรรดาสภาเขตและจัดการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของนครฮ่องกงในปีหน้า ถ้าหากจะมีการต่อสู้รอบตัดสินระหว่างพลังการเมืองฝ่ายต่างๆ ได้แก่ พวกผู้ประท้วง รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สำนักงานประสานงานของรัฐบาลกลางในฮ่องกง และบรรดาเจ้าพ่อของพรรคในปักกิ่งแล้วละก็ มันจะออกมาในรูปแบบใด?

มันจะละม้ายเหมือนการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ.1989 หรือไม่

รึว่ามันจะเป็นยุทธการการเลือกตั้ง?

บรรดาการประท้วงในฤดูร้อนนี้ถูกจุดปะทุขึ้นโดยร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง

แต่ตอนดิฉันพบบุคคลชั้นนำบางคนในขบวนการหนุนประชาธิปไตยของฮ่องกงที่ไต้หวันเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้นั้น พวกเขาบอกดิฉันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นแค่หนึ่งในประเด็นปัญหาเร่งด่วนหลายประการเท่านั้น ไม่มีใครในหมู่พวกเขาเลยที่คาดการณ์ว่าขั้นตอนใหม่ที่ตื่นตาตรึงใจแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกงกำลังจะคลี่คลายขยายตัวออกมา…”

(ต่อสัปดาห์หน้า)