เปิดใจนักเขียน ชื่อ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” คนคุกมี3ประเภท “จน-โง่ และ ดื้อ-ดัง”

“ต้องปฏิรูปประชาชน” คือคำตอบและความคิดเห็นเรื่องทางออกประเทศ จาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าของสถานบริการอาบอบนวดชื่อดัง, อดีตนักการเมือง-หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และอดีตนักโทษในเรือนจำหมาดๆ

ที่มองว่าประเทศไทยยังไงก็เหมือนเดิม ระบบทุกอย่างจะเป็นวงจรอุบาทว์ ในเมื่อทุกคนคิดเพียงจะปฏิรูปการเมือง ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม จัดการนักการเมือง พูดเรื่องปฏิรูปต่างๆ มากมาย

แต่ลืมพูด “เรื่องปฏิรูปประชาชน” ให้มีความรู้เท่าทันนักการเมือง ทั้งที่ควรปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา

“ถามว่าประเทศเราแปลกไหมที่อะไรๆ ก็เหมือนเดิม ที่เราทำข้าวปลูกข้าวมา 40-50 ปี แต่เรายังวนเวียนพูดถึงเรื่องข้าวมีปัญหา แทนที่เราจะคิดถึงการพัฒนา หลุดจากปัญหาเดิมๆ

“หรือว่าเราคุยเรื่องการบริหารแก้ปัญหาเรื่องน้ำ มีบูรณาการหลายหน่วยงาน ใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท แต่กลับมีข่าวเดี๋ยวแล้งเดี๋ยวท่วมอยู่อย่างนั้นทุกๆ ปี วนๆ ไป

“ยิ่งถ้าเป็นผม ประเภทพวกชอบสร้างข่าว ผมก็เดาได้ว่าต้องไปที่ไหนในช่วงไหน ประเทศเราจะทำอะไรทุกอย่างเหมือนเดิม เช่น ผมอยากจุดกระแส ก็อาศัยช่วงปีใหม่ช่วงสงกรานต์ ผมก็ไปแอ๊กชั่นที่หมอชิต-หัวลำโพง ประชาชนจะเข้ามา กล้องจะโผล่มาเอง

“ที่ต้องพูดเรื่องนี้และเรื่องการปฏิรูปประชาชนขึ้นมาเพราะอยากให้ดูตัวอย่างเกาหลี จากประเทศโนเนม หลังช่วงสงคราม ประเทศเขาประสบภาวะความยากจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่เท่าไหร่ ประเทศเขาฟื้นตั้งตัวได้

“ส่วนหนึ่งเขามีภาคประชาชนที่แข็งแกร่ง หากเกิดการทุจริต นักการเมืองติดคุกจริง ไม่มีใครแบ๊กอัพให้กันแบบเรา เมื่อทำอย่างนี้จะไม่มีทางที่เกิดช่องให้กับวงจรของทหารเข้ามา เพราะถูกสกัดโดย “ภาคประชาชน” แล้ว

“ประเทศเราที่ทหารยังต้องเข้ามาเพราะว่าไม่สามารถหาทางออกได้ แล้วเมื่อวงจรเป็นแบบนี้ ภาคประชาชนเป็นแบบนี้ ก็ล้มรัฐธรรมนูญกันแบบนี้ ไปซ้ำๆ วนๆ ไปเรื่อยๆ เราต้องเริ่มหันมาสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน กันคนไม่ดีไม่ให้เข้ามาสู่วงการเมือง

“แต่ถามว่าประชาชนทุกวันนี้จะยอมเชื่อฟังกฎกติกาที่สังคมมีหรือไม่? ยกตัวอย่างง่ายๆ นิสัยส่วนหนึ่งของคนไทย เมื่อมีประชาชนคนหนึ่งโดนหมายเรียกก็หาช่องทางหนีหมายเรียกโดยการหนีไปบวช อย่างนี้เท่ากับว่าเขาขาดความรับผิดชอบหรือไม่?

“หรือบางคนรู้ช่องในการหลบเลี่ยง เวลาไปขึ้นศาลก็ให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ คือจะทำทุกวิถีทางทุกวิธีในการไม่ต้องปฏิบัติตามกติกา

“แต่อยากจะบอกว่าถ้ารู้จักเตรียมพร้อม ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร หากทุกคนได้ทำหรือปฏิบัติตามขั้นตอน ผมเองโดนโทษสองปีเข้าคุก อยู่ไปอยู่มาก็ได้ส่วนลดโทษ กลับออกมาก็สถานะเดิม ใส่เน็กไทเข้าไปอย่างไร วันพ้นโทษก็ออกมาอย่างนั้น เราต้องรู้จักปรับตัวให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้ นั่งพื้น นอนพื้นได้

“ที่สำคัญมนุษย์ควรรู้จักวางแผน และคิดเสมอว่าต้องเตรียมตัว ผู้ที่เตรียมตัวคือผู้ชนะ อย่างวันที่ผมไปฟังคำพิพากษาที่ศาล ผมเตรียมขันเตรียมสบู่ยาสีฟันไป แต่มีคนหัวเราะ ว่าผมจะสร้างกระแส

“แต่เพราะผมรู้และเตรียมพร้อมว่าผมคงต้องได้รับโทษและได้ใช้สิ่งของเหล่านั้นจริงๆ ทั้งขัน ทั้งสบู่ บอกตัวเองอดทนไว้ รอให้ได้ แล้วก็ออกมา สถานะทุกอย่างของผมก็เหมือนเดิม”

ชูวิทย์พูดอธิบายเรื่อง “การปฏิรูปประชาชน” แล้วโยงมาถึงประสบการณ์ส่วนตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วน

 

อีกคำกล่าวหนึ่งของชูวิทย์ในวันแรกที่ได้รับอิสรภาพเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2559 คือขอให้ทุกคนเลือกที่จะต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม

เพราะเขายังเชื่อมั่นว่าถึงแม้หนทางนี้จะไม่ใช่ทางออกที่ดีสุด แต่เมื่อกระบวนการยุติธรรมของบ้านเราเป็นอย่างนี้ ก็ต้องอดทน

แม้บางกรณี “คนถูก” อาจต้องติดคุก ซึ่งถ้าถามว่าคนคนนั้นทำผิดจริงไหม? ก็ต้องบอกว่ามันเป็น “กรณีพิเศษ” จะเอามาเป็นบรรทัดฐานเหมือนกันทั้งหมดไม่ได้

“แต่ถึงรู้ว่าคุณทำถูก คุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เป็นรูปแบบกฎกติกาได้ แล้วจะทำอย่างไร” ชูวิทย์ตั้งคำถามและพูดต่อว่า

“ยกตัวอย่างผมที่โดนคดีรื้อที่ตัวเอง ในประเทศไทยเรานี้ถือว่าผมผิด ในทางกลับกันถ้าเป็นต่างประเทศผมสามารถทำได้เลย

“แต่เมื่อกฎหมายเป็นแบบนี้ ผมต้องยอมรับ หลายคนอาจจะว่าผมได้ว่าพูดดูดีดูหล่อ เพราะติดไปแล้ว

“แต่ผมก็ปฏิบัติตามนั้น (กระบวนการทางกฎหมาย) เพราะถ้าผมเลือกที่จะหนี ต้องถามว่าเหตุผลในการหนีมีเพียงพอไหม? มีเรื่องอะไรเกี่ยวข้องบ้าง?”

 

เมื่อพูดถึงเรื่องเรือนจำแล้ว ต้องบอกว่าเร็วๆ นี้ ชูวิทย์กำลังจะออกหนังสือกับสำนักพิมพ์มติชน ในชื่อเรื่องเบื้องต้นว่า “ชีวิตที่ผกผัน”

(ระหว่างนี้ สามารถตามอ่านฉบับตีพิมพ์เป็นตอนๆ ได้จากมติชนสุดสัปดาห์)

เรื่องราวทั้งหมดถูกเขียนขึ้นตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายที่เขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ มีทั้งหมด 32 บท โดยจะเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในนั้น

“ต้องบอกว่าตอนเราเขียนหนังสือหลายคนตกใจมากในเรือนจำ เพราะผู้คุมก็จะคอยดูว่าเราเขียนอะไรเพราะหลายคนระแวง

“ในอดีตเราเคยพูดเรื่องข้าวผัดกล่องละหลายพัน จึงมีคนจ้องมอง เฝ้าจับตาเราตลอดเวลา อย่างเช่นตอนจะไปเข้าห้องน้ำ วางงานเขียนไว้ก็มีคนรีบมาอ่าน แต่ขอโทษลายมือผมอ่านยากเหมือนลายมือหมอ แต่รับรองว่าสิ่งที่ผมเขียนและถ่ายทอดจะมีประโยชน์สำหรับทุกคน

“ไม่ต้องห่วงเรื่องฟ้องร้อง ผมเบื่อแล้ว ไม่ได้เขียนกระทบใคร

“และต้องบอกว่าระบบราชการของเราอาจถูกจำกัดด้วยงบประมาณ ภาพในคุกจึงไม่เหมือนในหนังที่แบบนักโทษอยู่กันไม่กี่คนต่อห้อง แต่ (ของไทย) ห้องนึงจะแออัดมาก ต้องผูกเปลนอน ต่อหลายชั้น

“มีการแต่งงานกันในคุก มีการจับคู่ มีการขอสินสอด หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน” ชูวิทย์ เกริ่นนำถึงจุดเด่นของหนังสือ

นอกจากนี้ งานเขียนของชูวิทย์ยังจะกล่าวถึงประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น มีระบบอุปถัมภ์ในเรือนจำจริงหรือไม่? เขาพบเจอบุคคลระดับ “วีไอพี” คนไหนในคุกบ้าง? (รายชื่อตัวอย่างมี อาทิ หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสนธิ ลิ้มทองกุล บิ๊กธนาคารกรุงไทย ตลอดจนอดีต กกต.)

สำหรับชูวิทย์ คุกคือสังคมสังคมหนึ่ง ที่เปิดห้องขังเวลา 06.30 น. แล้วพอถึง 15.00 น. ก็กลับเข้าไปห้องขังใหม่ ห้องใครห้องมัน

ระหว่างนั้นใครจะสวดมนต์ จับกลุ่มคุยกัน กินกาแฟ นั่งห้องสมุด ก็ทำไป มีช่องทางพูดคุยสมาคม บางคนก็คุยกันว่ามาที่นี่ทำไม? มาติดคุกได้อย่างไร? มาปรับทุกข์กัน บางคนเป็นพวกเชื่อทนาย ถูกทนายหลอกก็มี

โดยตนจะนำเรื่องราวเหล่านี้มาเขียนให้สนุกๆ ส่วนชื่อที่วางไว้เบื้องต้น คือ “ชีวิตที่ผกผัน” ก็หมายถึงการเคยอยู่จุดสูงสุดแล้วตกลงมาที่ต่ำสุด หรือชีวิตที่เหมือนเส้นกราฟขึ้นลงแบบสุดๆ

เนื่องจากตนได้เห็นหลากหลายชีวิต ที่ผกผันจากคนรวยสุดมาจนสุด บางคนโดนโทษจำคุกตลอดชีวิต เด็กบางคนอายุ 20 ปี ก็ทิ้งชีวิต เพราะเห็นเงินไม่กี่บาทมีค่ากว่าอนาคต

ทั้งนี้ ชูวิทย์จัดแบ่งกลุ่มคนในคุกออกเป็นสามประเภท ประเภทแรก คือ “คนจน” ไม่มีปัญญาจ้างทนาย ไม่มีช่องทางสู้คดี บางรายศาลหาทนายให้ ทนายก็บอกให้รับสารภาพเสีย “เพราะว่าถ้าสู้ติดแน่ แต่ถ้าแพ้ติดนาน แต่ถ้าเลือกสารภาพจะติดแบบพอประมาณ”

ประเภทที่สอง คือ “คนโง่” คนแพ้ คนไม่รู้กฎหมาย

และประเภทสุดท้าย คือ “คนดื้อคนดัง” เช่นตนเอง ที่มีผู้หวังดีเคยเตือนเคยบอกแล้วแต่ไม่เชื่อ บอกแล้วก็ไม่ยอมฟัง

สุดท้ายก่อนจากกัน ผู้สื่อข่าวถามถึงสิ่งที่ชูวิทย์ตั้งใจจะทำ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำสักที

เจ้าตัวตอบว่าสิ่งที่ค้างอยู่มีเยอะแยะ โดยเฉพาะการพูดในบางเรื่องที่เห็นว่าจะทำให้สังคมฉลาดขึ้น ตาสว่างขึ้น ให้สังคมได้ทราบในสิ่งที่ควรรู้ควรทราบ อย่างเช่นในอดีต ตนเคยพูดเรื่องบ่อนใหญ่โต หรือพูดประเด็นเรื่องบุกรุกที่ป่าที่ค้างไว้ก่อนเข้าคุก เป็นต้น

“ผมอาจจะไปติดตาม (เรื่องเหล่านี้) อีกก็ได้ เพราะจากนี้ไป ผมไม่มีข้างแล้ว ไม่มีพูดเพื่อฝั่งใด ผมไม่ต้องขอคะแนน ใครจะด่าเชิญเลย ผมอยากทำให้ประชาชนได้ยินได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน!”