สุรชาติ บำรุงสุข | หลักนิยมเจราซิมอฟ สงครามไฮบริดของรัสเซีย

“กฎการสงครามเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของวิธีการที่ไม่ใช่วิธีทางทหารได้นำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และในหลายกรณีวิธีการเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าพลังอำนาจของอาวุธ”
General Valery Gerasimov (2013)

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “สงครามไฮบริด” หรือ “สงครามพันทาง” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในฐานะของการเป็นวิถีของการสงครามนั้น เป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่จบในหมู่นักวิชาการด้านการทหารของโลก

และแม้อาจจะไม่สามารถมีความเห็นร่วมกันในหลายประเด็น แต่ทุกฝ่ายดูจะมีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งว่า รัสเซียเป็นต้นแบบของการทำสงครามชุดใหม่นี้

หรือบางคนอาจจะถือว่าสงครามพันทางในบริบทของหลักนิยมทหารของกองทัพรัสเซียนั้น เป็นสิ่งที่นักคิดทางทหารรัสเซียเรียกว่า “สงครามยุคใหม่”

หรืออาจเรียกตามหลักนิยมได้ว่าเป็น “สงครามเจนใหม่” (The New Generation Warfare)

อย่างไรก็ตาม ในบทนี้จะไม่ถกเถียงเรื่องคำจำกัดความของสิ่งเรียกว่าสงครามพันทาง
เพราะข้อถกเถียงนี้มีหลายมุมมอง

แต่โดยทั่วไปอาจใช้ในความหมายของสงครามที่ไม่ยึดติดอยู่กับการใช้กำลังรบของสงครามตามแบบ (หรือโดยนัยคือจะไม่เน้นถึงยุทธวิธีของกำลังรบตามแบบ)

หากแต่เป็นการผสมผสานของการใช้ยุทธวิธีทั้งในแบบและนอกแบบในพื้นที่การรบหนึ่งๆ (หรือหมายถึงในหนึ่งพื้นที่การรบมีการใช้กำลังหลายรูปแบบและใช้ยุทธวิธีหลายรูปแบบเช่นกัน)

แม้คำนี้อาจเป็นเพียง “ศัพท์เฉพาะ” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายถึงปัญหาภัยคุกคามของรัสเซียในปัจจุบัน แต่หลายคนเริ่มมองว่า รัสเซียได้ทำการปรับหลักนิยมใหม่ทางทหาร และเริ่มนำเอาหลักนิยมนี้ออกสู่การปฏิบัติ

ดังจะเห็นได้จากปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน จอร์เจีย และในเพื่อนบ้านของรัสเซียอื่นๆ
ปฏิบัติการเช่นนี้ดำเนินการด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบทั้งทางทหารและไม่ใช่ทางทหาร

หลักนิยมใหม่

หลักนิยมของ “สงครามยุคใหม่” ของรัสเซียนี้เป็นผลมาจากการออกแบบของนายพลเจราซิมอฟ (General Valery Gerasimov) ประธานคณะเสนาธิการกองทัพรัสเซีย ที่เขียนบทความออกในช่วงต้นปี 2013

และแนวคิดที่ปรากฏในบทความนี้ถูกเรียกว่าเป็น “หลักนิยมเจราซีมอฟ” (The Gerasimov Doctrine)
บทความนี้ถือเป็นต้นทางของการเปิดประเด็นถึงการเปลี่ยนหลักนิยมของรัสเซีย หรือถูกหยิบขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงชุดความคิดทางยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซียในการทำสงครามพันทาง

ดังจะเห็นได้ว่า Dima Adamsky จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งฝรั่งเศส เรียกข้อเสนอของนายพลเจราซิมอฟว่าเป็น “ศิลปะทางยุทธศาสตร์ยุคปัจจุบัน” ของรัสเซีย (The Current Russian Art of Strategy)

หรือ Sam Jones จากหนังสือพิมพ์ Financial Times เรียกสิ่งที่ปรากฏในบทความนี้ว่าเป็น “ศิลปะการสงครามใหม่” ของรัสเซีย (Russia’s New Art of War)

ดังนั้น หากพิจารณาสงครามชุดนี้จากมุมมองของตัวแสดงที่เป็นรัฐ และมีการใช้วิธีการแบบที่ไม่ใช่ในแบบแผนเดิม คือไม่ใช่การใช้พลังอำนาจของสงครามตามแบบ หรือเป็นในลักษณะของ “ยุทธวิธีในแบบ” (regular tactics) ที่พึ่งพาอยู่กับกำลังรบตามแบบเท่านั้น

ในกรณีนี้ รัสเซียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำสงครามในรูปแบบใหม่ ที่อาศัย “ยุทธวิธีนอกแบบ” (irregular tactics) เข้ามาเป็นปัจจัยดำเนินการผสมผสานกับ “ยุทธวิธีในแบบ” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการ

สงครามพันทางในมุมทางทหารของรัสเซียคือ สงครามที่มีการใช้ยุทธวิธีแบบผสมผสาน (the combination of tactics) และดังที่กล่าวแล้ว รัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของสงครามชุดใหม่นี้ จนนักการทหารในโลกตะวันตกต้องหันกลับมาพิจารณาเรื่องของแบบแผนสงครามใหม่

โดยเฉพาะถ้าเอาตัวอย่างของปฏิบัติการของรัสเซียที่เกิดขึ้นแล้ว สงครามไฮบริดของรัสเซียมีความหมายถึง การดำเนินการด้วยกิจกรรมแบบปกปิด (covert activities) หรือกิจกรรมแบบที่ปฏิเสธได้ (deniable activities)

ตัวอย่างของการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้หมายถึง ปฏิบัติการที่ใช้ทหารนอกเครื่องแบบ และเมื่อเกิดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้ว่ามีการใช้กำลังพลนอกเครื่องแบบเพื่อพรางตน และปฏิบัติการเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากกำลังรบตามแบบและกำลังรบนิวเคลียร์ เพื่อที่สร้างอิทธิพลต่อการเมืองภายในของประเทศเป้าหมาย (คือเป็นการโน้มน้าวให้เกิดการกระทำหรือไม่กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด)
ดังนั้น ในความหมายของหลักนิยมทหารของรัสเซีย สงครามไฮบริดจึงหมายถึงการดำเนินการที่มีกิจกรรมหลายรูปแบบในปฏิบัติการที่เกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็มีการผสมผสานกิจกรรมเหล่านั้นด้วยการใช้ยุทธวิธีที่แตกต่างกัน (a combination of different tactics)

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการแบบไฮบริดมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเพิ่มหลักการอีกสี่ประการเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าวคือ

1) ป้องกันคือการใช้กำลังรบตามแบบเพื่อการคุ้มครอง สนับสนุน และปกป้องกำลังรบนอกแบบที่ปฏิบัติการแบบปกปิด

2) ป้องปรามคือการใช้กองกำลังนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการตอบโต้ของรัฐเป้าหมาย

3) ชวนเชื่อคือเมื่อถึงจุดที่มีการใช้กำลังรบตามแบบ รัฐบาลรัสเซียจะใช้กลไกโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินการทางทหารนั้นๆ หรือใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) สนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร

4) ปฏิเสธคือหากเกิดมีหลักฐานว่ารัสเซียเข้าไปเกี่ยวข้องในทางหนึ่งทางใดแล้ว รัฐบาลมอสโกก็จะปฏิเสธ และแม้หลักฐานจะชัดเจน ก็จะไม่ยอมรับว่าเป็นการกระทำของตน

จากที่กล่าวแล้วในข้างต้น จะเห็นชัดว่านี่คือทิศทางของปฏิบัติการแบบใหม่ที่รัสเซียใช้ในยูเครน และในกรณีของรัฐบอลติกนั้น รัฐบาลรัสเซียไม่เคยยอมรับว่าหลักนิยมของปฏิบัติการใหม่นี้เป็นนโยบายของรัฐ แต่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างคลุมเครือ และตอบโต้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความเชื่อไปในทิศทางที่รัฐบาลรัสเซียต้องการ ซึ่งต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า รัฐบาลรัสเซียมีทั้งขีดความสามารถและประสบการณ์ในการใช้การโฆษณาชวนเชื่อมาอย่างยาวนาน

ฉะนั้น การใช้เครื่องมือทางด้านข้อมูลข่าวสารมาเสริมและ/หรือสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของรัสเซียแต่อย่างใด และใช้เพื่อสร้างอิทธิพลและความเชื่อทั้งกับสังคมภายนอกและภายใน
อีกทั้งต้องทำความเข้าใจว่าการใช้เครื่องมือนี้ในสงครามไฮบริด มีจุดมุ่งหมายไม่ใช่การสร้างอิทธิพลต่อกองทัพของประเทศเป้าหมาย

แต่จุดหมายของสงครามคือการมุ่งสร้างอิทธิพลเหนือสังคมเป้าหมายต่างหาก เพราะสงครามนี้ไม่ได้มุ่งไปสู่การรบโดยตรง หากแต่มุ่งการสร้างอิทธิพลเหนือรัฐเป้าหมายเป็นเบื้องต้น

ดังนั้น สงครามพันทางจึงไม่ใช่เรื่องของการใช้กำลังรบตามแบบเพื่อมุ่งเอาชนะทางทหารในแบบเดิมที่ผู้นำทหารบางส่วนคุ้นเคย

ภัยคุกคามแบบพันทาง

เมื่อรัสเซียใช้เครื่องมือที่หลากหลายพร้อมทั้งยุทธวิธีที่หลายหลายผสมผสาน อันทำให้สงครามมีลักษณะที่เป็นพันทางแล้ว ภัยคุกคามใหม่ที่เกิดก็มีลักษณะที่เป็นพันทางด้วย (คือเป็น hybrid threat)
กล่าวคือ ปฏิบัติการที่มีหลายรูปแบบจนทำให้เกิดภัยคุกคามพันทาง เช่น สงครามไซเบอร์ สงครามตัวแทน (เช่น การใช้กำลังพลของฝ่ายที่สาม หรือการใช้กำลังจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐแต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ) การโฆษณาชวนเชื่อ

และหากจำเป็นในสุดท้ายแล้วก็นำไปสู่การตัดสินใจใช้กำลังรบตามแบบเปิดปฏิบัติการรุกเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย โดยได้รับการสนับสนุนจากกำลังรบพิเศษนอกเครื่องแบบ หรือจากกองกำลังติดอาวุธในประเทศเป้าหมายที่ให้การสนับสนุนรัสเซีย (หรือในทางกลับกันคือกองกำลังในประเทศเป้าหมายที่รัสเซียให้การสนับสนุน)

ฉะนั้น ในอีกมุมหนึ่งอาจกล่าวเป็นข้อสรุปได้ว่า ปฏิบัติการของรัสเซียที่ชัดเจนในยูเครนคือ การใช้ยุทธวิธีนอกแบบเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือประชาชน

ขณะเดียวกันก็เพื่อบ่อนทำลายประชาชนในประเทศเป้าหมายคู่ขนานกันไป

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่นายทหารจากกองทัพยูเครนจะอธิบายว่า ภัยคุกคามแบบไฮบริดคือ การโฆษณาชวนเชื่อ การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และกิจกรรมบ่อนทำลายในรูปแบบต่างๆ

และในกรณีของภัยคุกคามนี้ต่อบรรดารัฐริมชายฝั่งทะเลบอลติกแล้ว มีลักษณะของการใช้กำลังรบตามแบบเป็นเครื่องมือของการกดดันด้วย

ซึ่งอาจเป็นเพราะที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ติดต่อกับรัสเซีย จึงเปิดโอกาสให้สามารถใช้การวางกำลังรบตามแนวชายแดนเป็นเครื่องมือได้

ตัวอย่างของปฏิบัติการของรัสเซียในไครเมียและในยูเครนตะวันออกมีความแตกต่างออกไป การใช้กำลังรบนอกแบบ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จได้จริง จนต้องมีการใช้กำลังรบตามแบบที่เหนือกว่าเพื่อสร้างแรงกดดันโดยตรง

เช่นในกรณีไครเมีย มีการกดดันด้วยการใช้การฝึกของกำลังรบตามแบบขนาดใหญ่

แต่ในอีกด้านก็ใช้การฝึกนี้เพื่ออำพรางปฏิบัติการนอกแบบของรัสเซียเพื่อเข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์ในคาบสมุทรไครเมีย

แม้ทุกฝ่ายจะรู้ว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้นมาจากกำลังพลของรัสเซีย แต่รัสเซียก็ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีกำลังพลของรัสเซียในพื้นที่ความขัดแย้ง

ขณะเดียวกันจักรกลการโฆษณาชวนเชื่อได้เริ่มปฏิบัติการข่าวสารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการของรัสเซีย
ในยูเครนตะวันออกก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน กำลังพลนอกเครื่องแบบของรัสเซียถูกส่งเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสร้างขบวนการแบ่งแยกดินแดน

แต่ก็จำเป็นต้องใช้กำลังรบตามแบบเข้ามาสนับสนุน เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนถูกทำลายจากกองทัพยูเครน และในอีกด้านรัสเซียได้วางกำลังรบขนาดใหญ่เพื่อป้องปรามฝ่ายยูเครน และเมื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

รัสเซียได้เปิดการโจมตีด้วยการยิงปืนใหญ่ข้ามพรมแดนยูเครน และรัสเซียยังส่งอาวุธให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน อีกทั้งยังมีการสนับสนุนด้วยปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อ

ดังนั้น ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าสงครามไฮบริดมีลักษณะของการใช้กำลังรบตามแบบมากขึ้น

สงครามในพื้นที่สีเทา

จากข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แบบแผนสงครามของรัสเซียได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสงครามพันทาง โดยมีการเปลี่ยนในระดับรากฐานคือการสร้างหลักนิยมใหม่ ดังที่เรียกว่า “หลักนิยมเจราซิมอฟ” อันเป็นการใช้ยุทธวิธีหลากหลาย ผสมเข้ากับสงครามนอกแบบ ผสานเข้ากับการบ่อนทำลายทางการเมือง และทั้งมีการใช้ปฏิบัติการสร้างอิทธิพล (การโฆษณาชวนเชื่อและปฏิบัติการข่าวสาร) ตลอดรวมถึงปฏิบัติการลวง ซึ่งรัสเซียมีความชำนาญในเรื่องเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ดังนั้น ในด้านหนึ่ง สงครามใหม่ของรัสเซียอาจจะถูกมองว่าเป็น “สงครามการเมือง” (political warfare) โดยเฉพาะส่วนสำคัญของสงครามไฮบริดคือ การบ่อนทำลายทางการเมืองและการสร้างอิทธิพลทางการเมืองต่อรัฐเป้าหมาย

ดังนั้น ในปฏิบัติการนี้จึงมีการใช้ “เทคโนโลยีการเมือง” (political technologies) เพื่อทำให้ผลลัพธ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการของรัฐบางมอสโก

เช่น การสร้างข่าวปลอม การครอบงำจิตใจประชาชน เพื่อโน้มน้าวการตัดสินใจของประชาชน (ในกรณีนี้หมายถึงประชาชนรัสเซียและประชาชนของรัฐเป้าหมายควบคู่กัน)

แต่นักคิดฝ่ายรัสเซียตอบโต้ว่า รัสเซียไม่ได้คิดปรับหลักนิยมได้ด้วยตัวเอง การปรับเกิดผลจากการสรุปปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาว่า มีลักษณะเป็นแบบแผนสงครามใหม่ จนรัสเซียมองว่า สุดท้ายแล้วแบบแผนใหม่ของตะวันตกเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย โดยเฉพาะรัสเซียมองว่าตะวันตกคุกคามต่อความสามารถในการใช้ยุทธวิธีทั้งทางทหารและไม่ใช่ทางทหารเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือการเมืองภายในของรัสเซีย จนรัสเซียจำเป็นต้องปรับหลักนิยมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของตะวันตก

อย่างไรก็ตาม การใช้สงครามข่าวสารผสมผสานกับสงครามการเมืองในยูเครน ซึ่งตะวันตกมองว่าเป็นสงครามพันทางนั้น สำหรับรัสเซียแล้ว สิ่งนี้เป็นเพียงการปรับแนวคิดเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ของฝ่ายตะวันตกเท่านั้นเอง แต่ไม่ว่าประเด็นใดจะเป็นจริง อย่างน้อยเราได้เห็นการปรากฏตัวของแบบแผนสงครามใหม่แล้วและสงครามนี้เกิดขึ้นใน “พื้นที่สีเทา” ซึ่งมีนัยหมายถึงปฏิบัติการที่เกิดขึ้นไม่มีความชัดเจน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เกิดความชัดเจนด้วย!