วงค์ ตาวัน : 66/23 กับ 2 มาตรฐาน

วงค์ ตาวัน
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

มีการพูดถึงคำสั่งที่ 66/2523 ซึ่งใช้ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นคำสั่งชิ้นประวัติศาสตร์ สามารถยุติปัญหาขัดแย้งของคนในชาติที่ต่างลัทธิอุดมการณ์ได้สำเร็จ ว่าสมควรนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่รัฐบาลและ คสช. กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้

โดยคณะกรรมาธิการ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้ออกโรงผลักดันให้ใช้ 66/2523 ดังกล่าวมาเป็นโมเดลการสร้างความปรองดอง

แต่ในทันที ผู้นำรัฐบาลและแกนนำ คสช. ต่างออกมาบอกปัดแนวทางนี้ อ้างว่า เป็นคนละสถานการณ์กัน โดยยุคนั้นเป็นปัญหาต่างลัทธิการเมือง และต่อสู้กันด้วยสงคราม มีกองกำลังสู้รบกัน ซึ่งสถานการณ์เป็นคนละเรื่องกับปัญหาในยุคนี้

รวมทั้งเห็นว่า จะไม่ใช้วิธีแบบยุค 66/2523 คือ การลบล้างความผิดทั้งหมด เพื่อให้ผู้ต่อสู้ด้วยอาวุธ กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

โดยยุคนี้ จะเน้นให้คนทุกกลุ่มหันมาสามัคคีปรองดอง อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่จะไม่มีการลบล้างความผิดตามกฎหมาย

“คาดว่า คงจะเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป ตราบใดที่แผนการปรองดองที่กำลังเร่งด่วนจี๋ในขณะนี้ ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และยังไม่มีใครมองเห็นว่าจะสำเร็จได้หรือไม่ เพียงใด!?”

แน่นอนว่า ความขัดแย้งของประเทศเมื่อ 30-40 ปีก่อน อันนำมาสู่การค้นพบทางออก ด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร เมื่อปี 2523 นั้น

เป็นความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์อันชัดเจน คือ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีฐานกำลังคือกรรมกรและชาวนาชาวไร่ในชนบท จนต่อมามีนักศึกษาปัญญาชนเข้าร่วมครั้งใหญ่ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนทำให้ไฟสงครามคอมมิวนิสต์ยิ่งลุกลามขยายตัว

“โดยทหารป่า ของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อสู้รุกรบกับทหารรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งสองฝ่ายล้มตายไปเป็นจำนวนมาก”

จึงเท่ากับว่า สถานการณ์ขัดแย้งในช่วงอดีตดังกล่าวนั้น คือ ระหว่างขบวนการลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปร่วมการต่อสู้ และมีนักศึกษาปัญญาชนที่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าในปี 2519 หนีไปร่วมจับอาวุธด้วย

“ต่อสู้กับรัฐบาลและกองทัพไทย เป้าหมายคือการแย่งชิงอำนาจรัฐ!”

ถ้ามองในแง่นี้ ก็นับได้ว่า ต่างกับสถานการณ์ความขัดแย้งในชาติยุคสมัยปัจจุบัน

เพราะยุคนี้ เป็นเรื่องของต่างกลุ่มต่างสี และเชื่อมโยงถึงพรรคการเมือง แต่เป็นการต่อสู้กันด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการชุมนุมประท้วง

แต่คนที่เห็นควรนำ 66/2523 มาใช้ในวันนี้ เชื่อว่า หัวใจของคำสั่งฉบับนี้ คือ การใช้หลักอภัยกันและกัน เคารพและให้เกียรติกัน ไม่ถือว่าความผิดในการต่อสู้เป็นเรื่องอาชญากรรมหรือเป็นคดีอาญา แต่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากการเมือง จึงต้องใช้หลักการเมืองเข้ามาแก้ไขปัญหา

แนวทางที่ทำได้สำเร็จมาแล้วในอดีต ก็ย่อมนำมาใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันได้ เพราะมีปมปัญหาเรื่องความคิดต่างเช่นเดียวกัน

 

จุดเริ่มต้นของคำสั่งที่ 66/2523 นั้น มาจากแนวคิดของนายทหารที่ศึกษาการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง จนมองเห็นปัญหาอย่างลึกซึ้ง ทำให้มองออกว่า ถ้ายิ่งใช้การปราบปรามจะยิ่งทำให้คอมมิวนิสต์เติบโต ยิ่งผลักให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐนำมาใช้ แห่ไปเข้าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์มากขึ้น

“นายทหารในยุคแรกๆ ที่พยายามเสนอมุมมองต่อคอมมิวนิสต์แบบใหม่ๆ เช่น พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ ต่อมาได้รับการพัฒนาและขยายตัวมากขึ้นในยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารมันสมองของกองทัพ”

ทหารเหล่านี้ ทั้งศึกษาประวัติศาสตร์และทฤษฎีคอมมิวนิสต์ ยังเข้าถึงแกนนำคอมมิวนิสต์ที่ถูกจับบ้าง หรือที่มอบตัวบ้าง โดยนำมาพูดคุยซักถามอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังมีตำรวจสันติบาลสายพิราบ ที่ทำงานในศูนย์ซักถาม ได้ถกเถียงกับแกนนำคอมมิวนิสต์หลายราย จนมองเห็นปัญหาอย่างรอบด้าน

จนกระทั่งหลัง 6 ตุลาคม 2519 ด้วยปฏิบัติการของฝ่ายขวาจัดในการกวาดล้างนักศึกษา ผลักดันให้ปัญญาชนนับหมื่นแห่กันเข้าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ในป่า ยิ่งทำให้คอมมิวนิสต์ขยายตัว จนเหลืออีกไม่กี่กิโลเมตรจะมาถึง กทม. อยู่แล้ว

“มาถึงบ้านไร่ อุทัยธานีแล้ว ถึงปากท่อ ราชบุรีแล้ว!”

แต่ในช่วงปี 2523 เกิดความขัดแย้งในโลกคอมมิวนิสต์ระหว่างโซเวียตกับจีนอย่างรุนแรง ระหว่างจีนกับเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย ทำให้ขัดแย้งแตกแยกภายใน

เพราะกลุ่มของ พล.อ.ชวลิต ได้ศึกษาคอมมิวนิสต์อย่างละเอียด จึงเห็นว่าเป็นสถานการณ์ช่วงสำคัญ ที่กองทัพไทยจะรุกเข้าสลายฝ่ายคอมมิวนิสต์ ด้วยการผลักดันแนวทางการเมืองการทหาร

จึงนำเสนอนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ให้ออกคำสั่งที่ 66/2523 โดยหัวใจสำคัญคือ การเปิดให้ผู้เข้าร่วมการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในป่า วางปืนแล้วกลับคืนเมืองมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ต่อสู้ทางการเมืองบนเวทีสันติได้ โดยไม่ถือว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ผ่านมานั้น เป็นความผิดทางอาญาใดๆ

“ขณะที่ในป่ากำลังระส่ำ พอมีคำสั่งที่ 66/23 เปิดทางให้ ป่าก็เลยแตก”

เมื่อคนในป่าเห็นว่า การต่อสู้ร่วมกับคอมมิวนิสต์เริ่มถึงทางตัน และรัฐบาลเปิดทางให้กลับไปต่อสู้ตามแนวทางสันติได้ โดยไม่ถือว่าที่ผ่านมาได้ก่อความผิดทางอาญาใดๆ

นั่นจึงทำให้คนป่าเลือกจะกลับมาบ้าน เพื่อหาแนวทางใหม่ ที่อยู่ในกรอบสันติ

สงครามคอมมิวนิสต์จึงยุติอย่างสิ้นเชิงหลังจากนั้นไม่กี่ปี!

 

แต่ประเด็นที่รัฐบาลและ คสช. ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ 66/2523 หากจะนำมาใช้แก้ปัญหาวันนี้ น่าจะอยู่ที่การลบล้างความผิดในช่วงขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมด โดยยังเห็นว่าต้องคงคดีความต่างๆ เอาไว้ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับที่ฝ่ายขวา และขบวนการสีหนึ่ง ผลักดันมาตลอด

เพราะฝ่ายที่ได้เปรียบนั้น เคยก่อความผิดในระหว่างการต่อสู้มากมาย เช่น ปิดสนามบิน ยึดทำเนียบฯ แต่ผ่านไปแล้ว 9 ปี คดียังไม่ถึงไหน ยังไม่มีใครต้องติดคุกในข้อหาเรื่องนี้แม้แต่คนเดียว

เช่นเดียวกับอีกม็อบ ที่โดนกล่าวหามากมาย ทั้งปิดเมือง ยึดกระทรวงต่างๆ ขัดขวางการเลือกตั้ง ยิงคนแตะกรวย ก็ยังไม่มีใครโดนอะไรเช่นกัน

“แกนนำพรรคการเมือง ที่คัดค้านการนิรโทษกรรมตลอด บอกว่าพร้อมจะสู้ทุกคดีและพร้อมจะติดคุกถ้ามีคำตัดสิน แต่คนตาย 99 ศพ กำลังจะเป็นแค่ความผิดข้อหาเล็กๆ ส่ง ป.ป.ช. ไต่สวน”

เพราะความได้เปรียบเสียเปรียบทางความยุติธรรม เพราะปัญหา 2 มาตรฐาน

“จึงทำให้ขบวนการการเมืองฝ่ายหนึ่ง ไม่เอานิรโทษกรรม ด้วยตัวเองยังสบายดีไม่มีปัญหา!”

ตรงกันข้ามม็อบอีกสี ติดคุกกันหลายรอบ ติดแล้วติดเล่า

“จึงเป็นข้อเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัด และนำมาซึ่งความรู้สึกที่ขัดแย้งไม่สิ้นสุด”

หากจะไม่ใช่แนวทางแบบ 66/2523 หากจะยืนยันว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย

รัฐบาลและ คสช. ต้องแก้เรื่อง 2 มาตรฐานให้ได้ก่อน

ถ้าจะให้ทุกสีร่วมปรองดองและเคารพการต่อสู้คดีตามกฎหมาย ก็ต้องทำให้เกิดความเสมอภาคขึ้นมาให้ได้!