วรศักดิ์ มหัทธโนบล : หลากทัพยาตรารุกรานสุย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยในช่วงปลาย (ต่อ)

เริ่มจากทูเจี๋ว์ย ชนชาตินี้มีภูมิหลังที่ถูกกล่าวถึงในบันทึกต่างๆ ของจีนแตกต่างกันจนมิอาจสรุปได้ว่าเป็นชนชาติที่มีปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์กับชนชาติใดแน่ แต่ที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ ชนชาตินี้มีรากฐานทางชาติพันธุ์เดียวกับชนชาติเติร์ก (Turks)

ทูเจี๋ว์ยเป็นปฏิปักษ์กับสุยมาตั้งแต่ที่สุยยังมิได้เป็นราชวงศ์ คือตั้งแต่ที่หยังเจียนยังรับใช้โจวเหนืออยู่ทางตอนเหนือ กล่าวกันว่า ทูเจี๋ว์ยมีลีลาการศึกที่เพริศแพร้วพรรณราย (kaleidoscopic) และหมายจะยึดครองที่ราบทางตอนเหนือให้ได้

แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายจากถิ่นแม่น้ำเหลียวในแมนจูเรียไปยังชายขอบเปอร์เซีย จากพื้นที่นี้ทูเจี๋ว์ยตั้งมั่นได้ด้วยการเกษตรกับการค้าบนเส้นทางสายไหม อย่างหลังนี้ทำให้ทูเจี๋ว์ยครอบครองเส้นทางคมนาคมระหว่างจีนกับตะวันตกเอาไว้ได้

และทำให้เป็นชนชาติที่มั่งคั่งและแข็งแกร่งขึ้นมาในที่สุด

ควรกล่าวด้วยว่า แม้จีนจะเรียกชนชาตินี้ว่าทูเจี๋ว์ยก็ตาม แต่ในทางชาติพันธุ์แล้วถือเป็นชนชาติเติร์กโบราณ (Old Turkic) ที่เรียกว่า คากาเนท (Khaganate)1 จนเมื่อตั้งมั่นได้แล้วก็ถูกแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มคากาเนทตะวันออกกับกลุ่มคากาเนทตะวันตก โดยฟากตะวันตกขึ้นต่อฟากตะวันออกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โอร์คอน (Orkhon) ซึ่งปัจจุบันก็คือมองโกเลียนอก (Outer Maongolia)

อนึ่ง คำว่าคากาเนทนี้คือที่มาของคำว่าคากาน (qaghan) ซึ่งจีนออกเสียงว่าเข่อหัน (Ke-han) ที่หมายถึงราชาเหนือราชา (Khan of Khans, King of Kings) ในกรณีที่เป็นหญิงจะเรียกว่า ข่าตุน (Khatun) คากานจึงเป็นที่มาของคำว่า ข่าน (Khan)

หรือที่เรียกขานกันต่อมาว่าข่านผู้ยิ่งใหญ่ (Great Khan)

 

เมื่อสุยตั้งเป็นราชวงศ์แล้ว ทูเจี๋ว์ยมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับจีนมากกว่าที่จะเป็นมิตร และด้วยเหตุที่เก่งในการศึก ทูเจี๋ว์ยจึงเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวของสุย ในแง่นี้ทัศนะของสุยที่มีต่อทูเจี๋ว์ยจึงติดข้างไปในทางลบ ดังจะเห็นได้จากเมื่อแรกตั้งราชวงศ์นั้น สุยเหวินตี้เคยตรัสถึงทูเจี๋ว์ยเอาไว้ว่า “ครั้งแผ่นดินแยกเป็นสองด้วยการศึกของโจวกับฉีนั้น ทูเจี๋ว์ยผู้ต่ำช้าได้โภคทรัพย์ด้วยการพาณิชย์จากทั้งสองรัฐนั้นเสมอกัน…

…เช่นนี้เองที่เมื่อโจวมองไปยังเบื้องบูรพาทิศก็ปริวิตกว่าฉีกับทูเจี๋ว์ยจักสัมพันธ์กันด้วยดี ข้างฉีเมื่อมองไปยังเบื้องประจิมทิศก็ปริวิตกว่าโจวกับทูเจี๋ว์ยจักรักใคร่กลมเกลียวกับโจวด้วยดี เช่นนี้แล้วจักเรียกกระไรได้นอกเสียจากว่ามันคือความคิดที่ต่ำช้า อันทำให้รัฐเราต้องเลือกในทางใดทางหนึ่งระหว่างสันติหรือสงคราม”

จากภาวะเช่นนี้จึงทำให้สุยมิอาจขยายจักรวรรดิของตนไปถึงเอเชียกลางได้ ซ้ำยังต้องคอยระมัดระวังการศึกที่จะมีกับทูเจี๋ว์ยอยู่ตลอดเวลา

แต่แล้วก็ดูเหมือนโชคได้เข้าข้างสุยโดยบังเอิญ เมื่อจู่ๆ บุคคลระดับแกนนำคนหนึ่งของทูเจี๋ว์ยฟากตะวันตกชื่อทาร์ดู (ประมาณ ค.ศ.575-603) ได้ก่อเหตุแก่งแย่งอำนาจขึ้นมา โดยก่อนหน้านั้นราว ค.ศ.582 หรือ 584 เขาได้แสดงตนเป็นคากานของทูเจี๋ว์ยฟากตะวันออกเอาไว้ด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้ทูเจี๋ว์ยแตกแยกกันอย่างหนักและเกิดศึกกันบ่อยครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้สุยจึงฉวยโอกาสด้วยการผูกสัมพันธ์กับทูเจี๋ว์ยตะวันออก ความสัมพันธ์นี้เป็นไปเพื่อให้ทูเจี๋ว์ยในฟากนี้ทำศึกกับฟากตะวันตก แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นความสัมพันธ์ที่จีนได้เปรียบ ด้วยบางครั้งก็ทำทีให้การสนับสนุน บางคราก็ต่อต้าน ท่าทีเช่นนี้ยังความไม่พอใจให้แก่ทาร์ดู

และทำให้ทาร์ดูต้องกรีธาทัพเข้าโจมตีเมืองหลวงของสุย

 

แต่แล้วในขณะที่ทาร์ดูต้องอยู่ห่างไกลจากฐานที่มั่นของตนเพื่อทำศึกกับสุยอยู่นั้น เขาก็ถูกยึดอำนาจโดยชนชาติเดียวกัน นับแต่นั้นชื่อของทาร์ดูก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยเชื่อกันว่าการยึดอำนาจครั้งนี้สุยย่อมมีส่วนอยู่ด้วย เพราะภายหลังจากนั้นสุยก็ทำการติดต่อทูเจี๋ว์ยตะวันออกอีกครั้ง

ซึ่งงานศึกษาของนักวิชาการตะวันตกอธิบายว่า ต่อชนชาติเติร์กแล้ว สุยมิได้ใช้กำลังทางการทหาร แต่ใช้กลอุบายโดดเดี่ยวชนชาตินี้ จากนั้นก็ค่อยๆ กำจัดคากานคนใดก็ตามที่หัวแข็งดื้อรั้นไปทีละคน แล้วสนับสนุนเฉพาะคากานที่ตนไว้วางใจจนอำนาจของเติร์กถูกทำลายไป กลอุบายนี้ยังคงถูกนำมาใช้เมื่อถึงยุคของสุยหยังตี้

ในยุคของสุยหยังตี้กลอุบายดังกล่าวถูกนำมาใช้กับทูเจี๋ว์ยตะวันออก รูปแบบที่ใช้มีตั้งแต่การแต่งงานข้ามชนชาติ การสร้างและขยายกำแพงเมืองจีนโดยให้ทูเจี๋ว์ยอยู่ภายในกำแพง รับเอาลูกหลานชนชั้นนำของทูเจี๋ว์ยมาอุปการะไว้ในวังหลวงเพื่อให้ “การศึกษา” การแต่งตั้งหรือการปลดจากตำแหน่งคากาน การแลกเปลี่ยนสินค้าคงที่ (barter at fixed) ระหว่างผ้าไหมจีนกับม้าพันธุ์เติร์กที่มีขึ้นตามแนวชายแดน การให้ทูเจี๋ว์ยส่งบรรณาการแล้วสุยพระราชทานของกำนัลที่มีมูลค่าสูง

หรือกลอุบายอื่นๆ อีกมากมาย

จนคากานบางคนของทูเจี๋ว์ยยอมรับใช้สุยแม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของสุย จนกล่าวได้ว่า ต่อทูเจี๋ว์ยแล้วสุยประสบผลสำเร็จในการลดความเป็นภัยคุกคาม แต่กรณีที่ทูเจี๋ว์ยรับใช้สุยในเรื่องความมั่นคงนั้นกลับมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อถูกนำมาใช้กับรัฐโกกูเรียวหรือเกาหลีในปัจจุบัน ปัญหานี้จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

นอกจากทูเจี๋ว์ยแล้ว ดินแดนทางตะวันตกสุยก็สามารถปราบรัฐของชนชาติถู่อี้ว์หุนลงไปได้ ชนชาติถู่อี้ว์หุนนี้เป็นอนุชนชาติเซียนเปยซึ่งเป็นศัตรูกับจีนมาช้านานแล้ว ดินแดนของถู่อี้ว์หุนนี้มีความกว้างจากตะวันออกจรดตะวันตกประมาณ 2,166 กิโลเมตร ยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 1,100 กิโลเมตร

กล่าวกันว่า ตอนที่ทำศึกกับถู่อี้ว์หุนจนได้ชัยใน ค.ศ.608 นั้น สุยได้ตัดหัวทหารของชนชาตินี้ไปหลายพันนาย และสามารถจับกุมบุคคลระดับหัวหน้าแล้วนำไปเป็นทาสทั้งชายและหญิงราว 4,000 คน

 

ส่วนทางด้านใต้ที่ไกลไปจนถึงจามปาหรือที่เวลานั้นจีนเรียกว่าเจียวโจวนั้น ปัจจุบันคือพื้นที่ของฮานอยและไฮฟองของเวียดนาม จามปาเคยขึ้นต่อจีนมาช้านานแล้ว แต่ในช่วงที่ราชวงศ์ใต้-เหนือ จีนไม่อาจควบคุมจามปาได้อีก

ดังนั้น เมื่อสุยตั้งราชวงศ์ได้แล้วจามปาก็ยอมขึ้นต่อสุยอีกครั้ง โดยเริ่มส่งบรรณาการให้แก่จีนตั้งแต่ ค.ศ.595 แต่ระหว่างนั้นก็กระด้างกระเดื่องต่อสุย จนต้องกรีธาทัพเข้าตีทั้งทางบกและทางเรือ ในขณะที่ทัพของกษัตริย์จามปาซึ่งในเวลานั้นคือกัมพุวรมัน (Cambhuvarman) ใช้ทัพช้าง

ผลคือ ทัพสุยสามารถปราบทัพจามปาลงได้ใน ค.ศ.602

 

ดินแดนต่อมาคือหลิวฉิวหรือริวกิวของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ญี่ปุ่นถือรัฐที่รับเอาวัฒนธรรมจีนมาใช้กับตนตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น ในช่วงที่จีนเกิดความแตกแยก ญี่ปุ่นได้ส่งบรรณาการให้แก่รัฐที่เข้มแข็งที่อยู่ทางเหนือ
ครั้นถึงสมัยสุยจึงได้มีการติดต่อกับจีนอีกครั้งในช่วงระหว่าง ค.ศ.581-600 แต่เริ่มตั้งสถานทูตในจีนใน ค.ศ.607 ซึ่งตรงกับสมัยของสุยหยังตี้ โดยทูตญี่ปุ่นได้เปรียบสุยหยังตี้ว่า “เป็นโพธิสัตว์โอรสแห่งสวรรค์ที่ให้การสั่งสอนพุทธศาสนาที่แข็งขันยิ่ง” แต่ที่ก่อปัญหาก็คือ สารที่ทูตญี่ปุ่นมีไปถึงสุยหยังตี้ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“โอรสแห่งสวรรค์จากดินแดนอาทิตย์อุทัยขอส่งสารถึงโอรสแห่งสวรรค์ในดินแดนอาทิตย์อัสดง”

แม้เป็นข้อความที่มิบังควรโดยมิได้เจตนาก็ตาม แต่ก็ทำให้แก่สุยหยังตี้ทรงกริ้วจนถึงกับตรัสว่า นี่เป็นสารของคนป่าเถื่อนที่ไร้มารยาท จากเหตุนี้ สุยจึงลดความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นลงด้วยการส่งนักการทูตระดับล่างไปประจำที่ญี่ปุ่นในปีถัดมา

จากปัญหานี้ได้ทำให้ญี่ปุ่นระมัดระวังมากขึ้น แต่ความโกรธเคืองนี้ก็มิได้กระทบกับสถานทูตที่ถูกตั้งขึ้นมาแล้ว กล่าวได้ว่า หากไม่นับปัญหาดังกล่าวแล้ว การมีความสัมพันธ์ของทั้งสองในสมัยนี้ นับว่ามีผลต่อประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ความเป็นภัยคุกคามของญี่ปุ่นต่อจีนจัดอยู่ในระดับต่ำจนแทบจะไม่มี เหตุผลสำคัญที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะญี่ปุ่นเป็นรัฐที่ยอมขึ้นต่อด้วยดี

และโดยที่จีนไม่ต้องใช้กำลังบังคับแต่อย่างไร

————————————————————————————————————-

1คำว่า Khaganate นี้มีตัวเขียนอีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบเดิมคือ Qaghanate โดยในกรณีนี้จะใช้ตัวเขียนที่ใช้กันในปัจจุบัน