เทศมองไทย : ‘กัญชา’ กับทัศนะที่เปลี่ยนไป ในไทยและภูมิภาคเอเชีย

ข้อเขียนของมาร์ก ยัง ใน www.wikileaf.com เมื่อวันที่ 24 กันยายน ว่าด้วยเรื่องที่ไทยเรากำลังจะกลายเป็น “ประเทศที่เป็นมิตรกับกัญชามากที่สุดในเอเชีย”

นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปมากมายจากก่อนหน้านี้แล้ว ยังแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างยิ่งว่า เมื่อพูดถึง “กัญชา” ในเวลานี้มีบริบทต่างๆ มากมายอย่างยิ่ง

ผมเข้าใจเอาเองว่า มาร์ก ยัง ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้จากการได้ฟังบทสัมภาษณ์ของหลายต่อหลายฝ่ายต่อพับลิก เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล (พีอาร์ไอ) องค์กรข่าวสำหรับสถานีวิทยุสาธารณะในมินนีอาโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายองค์กรในหลายรัฐ รวมทั้งเอ็นพีอาร์, เอพีเอ็ม และพีอาร์เอ็กซ์

แต่มาร์ก ยัง ดูเหมือนชำนิชำนาญและมีองค์ความรู้เรื่องกัญชาอยู่ในตัวครบเครื่องครบครันทีเดียวครับ

 

ตัวอย่างเช่น เขาทำให้ผมรู้ว่าในภาษาอังกฤษ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษมาตรฐาน แต่เป็นอังกฤษ-อเมริกัน แถมอาจเป็นอังกฤษ-อเมริกันที่เป็นสแลง คือใช้และรู้กันเฉพาะที่ เฉพาะกลุ่มนั้น มีคำว่า “บ้อง” (bong) และคำว่า “กัญชา” (ganja) บัญญัติอยู่ด้วย

เขาระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ที่มาของมันมาจากภาษาไทยเรา และใช้กันเข้าใจดีไม่เพียงในหมู่อเมริกันกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเข้าใจกันอยู่ในภูมิภาคเอเชียอีกต่างหาก

มาร์ก ยัง บอกว่า ประวัติศาสตร์กัญชาในไทยนั้นยาวนานทีเดียว แล้วก็สอดประสาน เกี่ยวพันและเชื่อมโยงถึงความผูกพันระหว่างอเมริกันกับพืชเสพติดชนิดนี้ชนิดแยกกันไม่ออก

ผมเลยชักงงๆ ว่า เอาเข้าจริงวัฒนธรรมกัญชาในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ (ที่ถูกกฎหมายในหลายๆ รัฐแล้ว) คืออิทธิพลที่เหล่า “ไอ้เณร” อเมริกันในยุคสงครามนำกลับไปเผยแพร่หรือเป็นเพราะอิทธิพลของ “จีไอ” เหล่านั้นที่ทำให้กัญชาเป็นที่รู้จักและแพร่หลายกันในประเทศไทย กลายเป็นยาเสพติดประเภท 5 ในบัญชียาเสพติดของทางการมาจนถึงทุกวันนี้กันแน่

เอาเป็นว่า ทำให้กัญชาไทยโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วก็แล้วกัน

 

ในฐานะของยาเสพติด มาร์ก ยัง บอกว่า ในเอเชียนั้น แทบทุกประเทศต่อต้านกัญชา ถึงขนาดที่ว่าหากถูกจับได้ถ้าไม่ถูกปรับหนักก็ติดตะรางยาวได้เลยทีเดียว

เขาบอกข้อมูลที่ผมเองก็เพิ่งรู้ด้วยว่า ประเทศไทยเรา นอกจากจะมีระบบเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแล้ว ในจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังและลงโทษอันเนื่องมาจากยาเสพติดมีสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

โทษทัณฑ์สำหรับผลิต หรือมีอยู่ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกกัญชาในประเทศไทยนั้น ว่ากันว่ามีโทษหนักที่สุดในภูมิภาคเอเชียอีกต่างหาก

แต่แล้วเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ไทยกลายเป็นประเทศที่ทำให้การใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย

นั่นทำให้เราต้องหันมามองกัญชาในแง่มุมใหม่ๆ ในบริบทใหม่ๆ อีกหลายอย่าง ตั้งแต่บริบทในทางการแพทย์, บริบทของ “อุตสาหกรรมการเกษตร”, ในบริบทของพืชเศรษฐกิจสำคัญ เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกันกับข้าว, ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

 

ข้อสังเกตของมาร์ก ยัง ก็คือ กัญชาเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แถมยังมีพื้นที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกกัญชาได้อยู่มากมายอีกด้วย

“ระบบกัญชาทางการแพทย์” เริ่มลงหลักปักฐานในประเทศไทยแล้ว เพื่อนำเอากัญชามาใช้รักษามะเร็ง, ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว, ภาวะปวดเรื้อรัง, โรคลมชัก และอื่นๆ อีกมาก มีศูนย์วิจัยเพื่อมองหาแนวทางการใช้ประโยชน์อื่นๆ เกิดขึ้นอีกมากมายในรูปของผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยลดอาการปวด อย่างเช่น เวเฟอร์ผสมทีเอชซี (สารออกฤทธิ์ในกัญชา), น้ำมันกัญชาสำหรับนวด, สเปรย์พ่นจมูก และกัญชาผง ซึ่งสามารถนำไปผสมกับน้ำมันมะพร้าวเสริมด้วยสมุนไพร อาทิ ลูกจันทน์, ขิง และพริกไทย ให้เป็นเครื่องดื่มรสมะพร้าว เป็นอาทิ

มาร์ก ยัง บอกว่า ในบรรดาประเทศในเอเชีย คู่แข่งสำคัญของไทยคือมาเลเซีย ที่เริ่มต้นลดระดับระวางโทษสำหรับกัญชาลงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และกำลังเตรียมการ “อย่างเงียบๆ” สำหรับโครงการพัฒนากัญชาของตัวเอง

จีน, เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ก็กำลังเริ่มต้นขั้นตอนเล็กๆ ที่จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกัญชากันแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเริ่มต้นมองไปในด้านการวิจัยและโครงการทางการแพทย์เป็นหลัก
นั่นคือในบริบททางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีอีกบริบทหนึ่งซึ่งมาร์ก ยัง เรียกว่าเป็น “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ที่ยังไม่มีใครในภูมิภาคนี้ริเริ่ม

น่าสนใจที่มาร์ก ยัง ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ด้วยเหตุที่มีพรรคร่วมรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดสนับสนุนกัญชาเสรี เป็นไปได้ว่า กัญชาในบริบทนี้อาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

ขอเวลาอีกเพียง 2-3 ปีเท่านั้นเอง