สุจิตต์ วงษ์เทศ /บวดควายขอฝน พิธีกรรมหลายพันปีมาแล้ว

การละเล่นของเผ่าชอง ภาพจากเรื่องเผ่าชอง (ไม่บอกที่ไหน?) โดย ชิน อยู่ดี รายงานเสนอกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2506 [จากหนังสือ ชิน อยู่ดี บิดาแห่งวิชาก่อนประวัติศาสตร์ไทย ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ณ เมรุวัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ พ.ศ.2529 หน้า 148-155]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บวดควายขอฝน

พิธีกรรมหลายพันปีมาแล้ว

 

บันทึกพร้อมภาพถ่ายเรื่องคนชอง โดย ชิน อยู่ดี เมื่อ พ.ศ.2506 มีภาพชุดการละเล่นของเผ่าชอง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นชองที่ไหน? เล่นอะไร?

[ชิน อยู่ดี (24 กุมภาพันธ์ 2455-17 กรกฎาคม 2529) ได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งวิชาก่อนประวัติศาสตร์ไทย” อดีตข้าราชการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร]

 

ภาพไม่ชัดนัก เพราะเป็นภาพรุ่นเก่า ถ่ายด้วยเครื่องมือไม่ทันสมัย แต่พอจะดูออกว่าเป็นการละเล่นมีสวมเขาควายบนหัว แล้วมีกิริยาคล้ายเต้นแร้งเต้นกาแบบหัวหกก้นขวิดในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าพันธุ์

เมื่อเทียบกับพิธีกรรมที่พบในที่อื่น ได้แก่ ชาวจ้วงในกวางสี กับชาวอีสานบางชุมชนในไทย เป็นการละเล่นขอฝน โดยมีคนแต่งเป็นควาย

เหล่านี้น่าจะมีต้นทางของความเชื่อในภาพเขียนสีบนเพิงผารูปคนจูงควาย แล้วสืบทอดต่อมาเป็นกระอั้วแทงควาย จนกลายเป็นกระตั้วแทงเสือ

 

กบต้อนควายเปลี่ยว

 

ชาวจ้วง บ้านหนาหลี่ซุน อ.เทียนเอ๋อ มณฑลกวางสี มีพิธีเซ่นผีกบ (ผู้บันดาลฝน) แล้วมีการละเล่นขอฝน มีคนแต่งเป็นสัตว์ต่างๆ ได้แก่ กบ, ควาย ฯลฯ

การละเล่นชุดใหญ่ที่ออกตามมาคือการทำมาหากิน มีการทำนา ทำไร่ ทอผ้า ฯลฯ มีคนแต่งเป็นควายสวมเขาไถนา มีชาวนาตามหลังใส่หน้ากากถือไถ-คราด มีคนหลายคนเขียนลายตามตัวให้เป็นกบ แล้วออกมากระโดดอย่างกบตามหลังชาวนา

กบ เป็นตัวเอก ทำหน้าที่ขจัดปัดเป่าความเดือดร้อน เช่น ควายขี้เกียจลงนอนเขลงไม่ไถนา กบจะเข้าไปจัดการให้ควายลุกขึ้นมาไถนา และถ้ามีแมลงลงมากินพืชพันธุ์ในไร่นา กบก็จะเข้าไปจัดการกินแมลง ฯลฯ

จากนั้นผู้ทำอาชีพต่างผลัดกันออกมาเต้นฟ้อนแล้วไปเซ่นวักที่หน้าเกี้ยววิญญาณกบจนครบทุกอาชีพ

[จากหนังสือ คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537 หน้า 103]

(บน) บวดควายขอฝน เมื่อ พ.ศ.2558 บ้านหวายหลึม กับบ้านแมด อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด (ซ้าย) บวดควายขอฝนราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากรจากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี)

 

บวดควายขอฝน

 

พิธีบวดควายขอฝนเป็นการละเล่นคุมควายเปลี่ยวดุร้ายให้เป็นปกติ

โดยคนแต่งเป็นควาย ทาตัวดํา ขอบตาแดง สวมเขาควายบนหัว สวมเครื่องต่างๆ ที่สําคัญ ได้แก่ ผูกเอวด้วยอวัยวะเพศชายขนาดใหญ่ทําด้วยไม้ทาสีแดงตรงหัวถอก เป็นต้น แล้วมีคนจูงเชือกล่ามควายเพื่อบังคับต่างๆ

 

บวดควาย หมายถึง ควบคุมความดุร้ายของควายให้อยู่ในอาการปกติ ไม่เฮี้ยว

[บวด เป็นคําเก่าที่เหลือตกค้างอยู่ในภาคใต้ ว่าวัวบวด หรือบวดวัว (หมายถึงควบคุมวัวให้เคลื่อนไหวตามต้องการของคน) แต่ถูกลืมจากคนท้องถิ่นอื่นเลยเขียนเป็น “บวชควาย”]

ต่อมาราชสํานักอยุธยายกย่องบวดควายเป็นการละเล่นของหลวง เรียก กระอั้วแทงควาย หลังจากนั้นชาวบ้านเลียนแบบดัดแปลงเล่นทั่วไป เรียก กระตั้วแทงเสือ

(บน) กระอั้วแทงควาย สมัยรัตนโกสินทร์ (ลายเส้นคัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า โดย ธัชชัย ยอดพิชัย) (ล่าง) กระอั้วแทงควาย การละเล่นมหรสพหลวงโดยกรมศิลปากร [ภาพจากหนังสือวัฒนธรรม ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม-ธันวาคม 2557 หน้า 26]

คนไทยอยู่ที่นี่

 

การละเล่นในพิธีกรรมดั้งเดิมของคนอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว ยังทำสืบเนื่องจนปัจจุบันโดยปรับเปลี่ยนสิ่งปลีกย่อยเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งว่าคนไทยมาจากคนหลายชาติพันธุ์ ร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งล้วนอยู่ที่นี่หลายพันปีมาแล้ว