การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ /They Called Us Enemy เขาเรียกเราว่าศัตรู ตอนที่ 2

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

They Called Us Enemy

เขาเรียกเราว่าศัตรู ตอนที่ 2

 

ฤดูใบไม้ผลิปี 1942 เด็กชายจอร์จ ทาเคอิ กับน้องชายน้องสาวติดตามพ่อ-แม่ขึ้นรถขนย้ายชาวญี่ปุ่นทั้งมวล รถทหารพาพวกเขามาลงที่คอกม้าในแซนตาอะนิตา

ตอนนั้นจอร์จยังเป็นเด็ก การได้นอนในคอกม้าเป็นเรื่องสนุกสนานและน่าตื่นเต้น มีเตียงนอนวางไว้ให้ในแต่ละคอก

แต่สำหรับพ่อ-แม่ของเขาซึ่งทำงานหาเงินเก็บหอมรอมริบซื้อบ้านสองชั้นสองห้องนอนในลอสแองเจลิสได้ นี่เป็นความขมขื่นและทุเรศทุรังครั้งใหญ่

คอกม้าที่พวกเขานอนนั้นยังมีกลิ่นปุ๋ยคอกฉุนอยู่เลย

พวกเขาต้องอยู่ที่นี่หลายเดือน ยืนเข้าคิวอาบน้ำกลางแจ้งที่ลานอาบน้ำม้า ปลูกผัก และเจ็บไข้ได้ป่วย มีเคาน์เตอร์ยาบริการ เด็กชายจอร์จล้มป่วยในคราวหนึ่งพร้อมน้องทั้งสองคน

เด็กไม่อยู่ว่าง พวกเขาเรียนหนังสือกันใต้สแตนด์ดูการแข่งม้านั่นเอง

จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาถูกย้ายอีก ครั้งนี้ทหารพาพวกเขามาที่สถานีรถไฟ คนญี่ปุ่นทุกคนได้รับการติดแท็กไม่เว้นแม้แต่น้องสาวทารกของเขา

พ่อรู้สึกว่านี่เป็นการเหยียดหยาม แต่สำหรับเด็กชายจอร์จ มันคือตั๋วรถไฟ

พวกเขามีที่นั่งบนรถไฟ มีเสียงร้องไห้ มีทหารยามถือปืนหน้า-หลังทุกตู้ สีหน้าพ่อ-แม่เคร่งเครียด

เมื่อจอร์จถามว่าเราจะไปไหนกัน พ่อตอบว่าไปพักร้อนกัน เด็กชายจอร์จก็เชื่อ

 

เป็นการเดินทางที่ยาวนานและน่าเบื่อ ทุกครั้งที่ผ่านสถานีรถไฟ ทหารมีคำสั่งให้ทุกหน้าต่างเอาม่านบังตาลง ห้ามคนภายนอกที่สถานีเห็นพวกเขาและพวกเขาก็ห้ามดูภายนอก

จนกระทั่งครั้งหนึ่งรถไฟจอดกลางทะเลทราย ทหารส่งเสียงดังสั่งการให้ทุกคนลงจากรถไฟ

บางคนนึกว่าจะถูกฆ่า แต่ที่จริงเป็นการพักยืดเส้นยืดสาย

ในขณะที่พ่อเศร้าซึม แม่หางานทำตลอดเวลา แม่ไม่ยอมให้รัฐบาลสหรัฐทำลายครอบครัวของเธอโดยง่าย

เธอชงนมให้น้องสาวเรียวโกะ คอยเช็ดตัวน้องชายเฮนรี่ที่เมารถจนอ้วก ประกบจอร์จไปห้องสุขาเสมอไม่ยอมให้คลาดสายตา เธอเตรียมน้ำสะอาดใส่กระติกของพวกเขามิยอมใช้น้ำตามทาง และเตรียมอมยิ้มกับหนังสือนิทานสำหรับจอร์จและเฮนรี่

เวลานั้นจอร์จเชื่อว่านี่เป็นรถไฟผจญภัย เขาและเด็กๆ บนรถไฟเล่นซ่อนหา วิ่งและคลานสนุกสนานกันไปตามประสา

จนกระทั่งสามวันผ่านไป พวกเขาก็มาถึงอาร์คันซอ

 

หนังสือตัดกลับมาที่บ้านของรูสเวลต์ในเวลาปัจจุบัน ที่ซึ่งจอร์จ ทาเคอิ มาเยี่ยมเยียนและพูดคุย เขาเล่าว่าพ่อของเขารักประชาธิปไตยอเมริกันและเชื่อในพลังของประชาธิปไตยอเมริกัน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นความผิดพลาด

กลับไปที่อาร์คันซอ พวกเขาขนสัมภาระลงจากรถไฟแล้วขึ้นรถบรรทุกต่อไปยังแคมป์โรห์เวอร์ แคมป์โรห์เวอร์เป็นสถานกักกันที่อยู่ตะวันออกไกลมากที่สุดของสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐใช้คำว่า internment ที่นี่มีโรงเรือน 33 หลัง แต่ละหลังจุได้ 250 คน บางเวลามีคนทั้งหมด 8,500 คน พวกทาเคอิได้อยู่ห้องล็อกที่ 6

เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งอาสาถือกระเป๋าให้แม่แต่แม่ไม่ยอม แม่ไม่เคยยอมให้ใครช่วยถือกระเป๋าเลยแม้แต่พ่อ เธอถือเองเสมอในขณะที่อีกมือหนึ่งอุ้มเรียวโกะ เมื่อไปถึงล็อกที่อยู่แล้วพ่อเดินไปเปิดประตู ทันใดนั้นไอร้อนมหาศาลพุ่งออกมาปะทะพ่อหน้าซีดเผือด เมื่อพ่อเดินเข้าไปในห้องจึงพบว่าเป็นห้องโล่งไม่มีเตียง และร้อนจนไม่สามารถอยู่ได้ พ่อขอให้แม่รอข้างนอกก่อน แต่แม่ก็ไม่ยอมวางกระเป๋าที่ถือเลย

เมื่อความร้อนลดลงจนกระทั่งแม่พาจอร์จและเฮนรี่เข้าไปได้ พวกเขาได้ยินเสียงคนข้างห้องพูดกันชัดเจน แม่รู้แล้วว่าจะไม่มีความเป็นส่วนตัว พ่อปลอบแม่และช่วยแม่แกะของ ของที่แม่ถือมาตลอดทางคือจักรเย็บผ้า

“มันผิดกฎ” พ่อตกใจ “เธอรู้ว่ามันผิดกฎ”

ในขณะที่จอร์จกำลังรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป พ่อและแม่ก็หัวเราะออกมาพร้อมกัน นั่นคือความทรงจำที่จอร์จจำได้ถึงวันนี้

จักรเย็บผ้าคือชีวิตของแม่บ้าน เราคงเคยได้ยินคำนี้ ไม่มีจักรไม่มีชีวิต จักรเย็บผ้าเป็นนวัตกรรมพลิกโลกสำหรับแม่บ้านเมื่อมากกว่าห้าสิบปีก่อนเหมือนวิทยุ โทรทัศน์ และโทรศัพท์ทำกับพวกผู้ชายและสังคมทั้งหมด สำหรับสตรีแล้วนอกเหนือจากดูแลบ้าน สามี และลูกๆ แล้ว พวกเธอมิได้ออกจากบ้านไปทำงาน พวกเธออยู่บ้านเย็บเสื้อ ซ่อมกางเกง สามีและลูกๆ จะดูดีอยู่เสมอก็ด้วยจักรเย็บผ้า

แม่บ้านใช้จักรเย็บผ้าควบคุมชีวิต

และจักรเย็บผ้าที่ดีต้องซิงเกอร์ ผ่อนได้ด้วย จอร์จมิได้เขียน ผมเขียนเอง

 

ที่โรงเรือนแห่งนี้พวกเขาอยู่ร่วมกับอีกหลายครอบครัวเป็นชุมชน หัวหน้าครอบครัวบางคนถูกทหารนำตัวออกไปเพียงเพราะเป็นผู้มีสถานะและชื่อเสียงพอสมควร โชคดีที่พ่อไม่ถูกนำตัวออกไปด้วย พ่ออายุ 39 ปีเท่านั้น แม้ว่าเขาจะจมดิ่งอยู่กับความโกรธแค้นที่ถูกกระทำแต่ถึงตอนนี้เขาเริ่มปรับตัว และยอมรับตำแหน่งผู้จัดการชุมชน

ห้องน้ำที่วางโถส้วมเรียงเป็นพรืด อาหารแย่ เมื่อฝนตกโคลนเฉอะแฉะจนออกนอกบ้านกันมิได้ เหล่านี้ต้องการผู้จัดการรวมใจแก้ปัญหาหรือเจรจาต่อรองกับทหารสหรัฐ พ่อพูดได้ทั้งอังกฤษและญี่ปุ่น พ่อมีอายุมากพอจะพูดกับชาวญี่ปุ่นอพยพรุ่นแรกซึ่งอายุมากแล้ว และมีอายุน้อยพอที่จะคุยกับเด็กหนุ่มญี่ปุ่นซึ่งเป็นรุ่นลูกของรุ่นแรก หลายบ้านมีรุ่นที่สามแบบเดียวกับพวกเขา จอร์จ เฮนรี่ และเรียวโกะ

จอร์จและเฮนรี่ผ่านเวลาในค่ายนี้ด้วยการเล่นกับเด็กที่โตกว่า พวกเขาเล่นเป็นอเมริกันและญี่ปุ่นยิงปืนใส่กัน จะอย่างไรเด็กก็คือเด็ก

วันหนึ่งเด็กโตสองคน ฟอร์ดและเชวี่ อายุ 13 และ 12 ปีตามลำดับ เดินมาหาจอร์จแล้วสอนว่าถ้าเขาอยากได้อะไรให้ไปตะโกนบอกยามที่ป้อมพร้อมตะโกนว่า “ซาคานาบีช” พวกยามจะโยนของให้ จอร์จเชื่อเด็กโตทั้งสองจึงเดินดุ่ยเข้าหายามสองคนที่ถือปืนอยู่พลางตะโกนว่า

“หมากฝรั่ง อมยิ้ม จักรยาน” ตามด้วย “ซาคานาบีช ซาคานาบีช ซาคานาบีช” ในตอนแรกทหารยามยิ้มให้ แต่แล้วสีหน้าแปรเปลี่ยนเป็นโกรธขึ้งแล้วคว้าก้อนหินขว้างใส่ จอร์จวิ่งหนีท่ามกลางเสียงหัวเราะของฟอร์ดและเชวี่

แม่ไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร พ่อเอาแต่หัวเราะแล้วบอกจอร์จว่าห้ามพูดอีก จอร์จรู้ในเวลาต่อมาว่ามันคือซันออฟเดอะบิตช์ (son of the bitch)

 

จอร์จ ทาเคอิ เติบโตมาในวัฒนธรรมของสองชาติที่ขัดแย้งกัน

เขามีเลือดญี่ปุ่น แต่เขาเป็นอเมริกัน

ตอนที่เขารับบทซูลูบนยานเอ็นเตอร์ไพรส์ซึ่งท่องอวกาศไปหาสิ่งมีชีวิตใหม่ อารยธรรมใหม่ ไปในดินแดนที่ไม่เคยไปมาก่อน จะว่าไปสตาร์เทร็คฤดูกาลแรกนั้นไม่ต่างจากหนังเคาบอยพิชิตตะวันตกเลย

ที่ต่างกันคือกัปตันเคิร์กนอกจากมีหมอแม็กคอยน์แล้ว

เขามีชาววัลแคน ชาวสก๊อต ชาวรัสเซีย สตรีผิวสี และคนญี่ปุ่นเดินทางไปด้วย

พวกเขามิได้ไปเข่นฆ่าและยึดครองผืนดินของอินเดียนแดง

แต่พาทุกคนไปสู่โลกใหม่ร่วมกัน