วิกฤติศตวรรษที่ 21 | สงครามการค้าสหรัฐ-จีนในสามด้าน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (17)

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนในสามด้าน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่เป็นข่าวใหญ่ คือเรื่องที่สหรัฐเพิ่มอัตราภาษีและขึ้นบัญชีดำกลุ่มบริษัทหัวเว่ย

ปฏิบัติการนี้สหรัฐทำไปโดยเห็นว่าเป็นความจำเป็น ไม่ได้ต้องการป่วนเศรษฐกิจการค้าโลก เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าสงครามการค้าย่อมเกิดผลร้ายแก่ทุกฝ่าย เพียงแต่ประเมินผิดพลาดในประเด็นสำคัญว่าสงครามการค้านี้จะไม่ยากเย็นและจะเอาชนะได้โดยเร็ว

ซึ่งไม่ต่างกับการประเมินสมัยรัฐบาลบุชผู้ลูกในการยกกองทัพเข้ายึดครองอิรักเท่าใดนัก

ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งชนชั้นนำสหรัฐโดยทั่วไป ตัดสินใจทำสงครามการค้ากับจีนด้วยความจำเป็นในการรักษาความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจสามส่วนของตน

ได้แก่ เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจดิจิตอล และเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

กล่าวอธิบายได้ดังนี้คือ

ก) ในด้านเศรษฐกิจการเงิน

เป็นส่วนที่สหรัฐมีความเหนือกว่าจีนและชาติอื่นอย่างเห็นได้ชัด

เนื่องจากสหรัฐสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกตั้งอยู่บนฐานเงินดอลลาร์ ใช้เป็นทุนสำรองและการค้าการทำธุรกรรมระหว่างประเทศหลัก

จีนเองมีทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์ก็ไม่ใช่ว่าไม่ถูกท้าทาย การท้าทายชุดแรก เป็นการท้าทายในหมู่มิตรกลุ่ม 7 เกิดสกุลเงินยูโรและเงินเยน เป็นต้น

แต่การท้าทายในหมู่มิตรนี้มองอีกด้านหนึ่งเป็นเหมือนการปิดตลาดการเงินให้รวมศูนย์อยู่ในกลุ่ม 7 ประเทศอื่น ยากที่จะขึ้นมาท้าทายได้

การท้าทายจากบางประเทศขนาดเล็ก เช่น อิรักและลิเบีย ก็ถูกสหรัฐใช้กำลังทหารเข้าโค่นล้มระบอบปกครองเดิม จนบ้านเมืองย่อยยับ ระส่ำระสายจนถึงทุกวันนี้

การท้าทายแท้จริงมาจากแกนจีน-รัสเซีย ทั้งสองประเทศเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในการยุติการครองเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ

เช่น จีนเคลื่อนไหวผลักดันเงินหยวนของจีนขึ้นมามีบทบาทในทางการเงินระหว่างประเทศ การท้าทายจากจีน-รัสเซียมีลักษณะเข้มข้นขึ้นทุกที เป็นการเคลื่อนไหวสามด้านพร้อมกัน

ด้านหนึ่ง ได้แก่ การลุกขึ้นท้าทายโดยตรง

ด้านหนึ่ง เป็นหลังพิงให้ประเทศขนาดเล็กอย่างเช่น อิหร่าน เวเนซุเอลา ขึ้นมาท้าทายสหรัฐในประการต่างๆ

และอีกด้าน ดึงมิตรประเทศของสหรัฐ มีอินเดีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อให้สหรัฐถูกโดดเดี่ยวในโลกเปิดฉากรุกทางแนวคิด เสนอตัวแบบการพัฒนาของโลก แบบพหุภาคีและความสัมพันธ์ทางสากลแบบหลายขั้วอำนาจ

ตามแนวคิดนี้เศรษฐกิจโลกต้องมีฐานเป็นเงินหลายสกุล มีเงินยูโร หยวน เยน รูเบิล และรูปี เป็นต้น ที่เป็นอิสระเสมอภาคกับเงินดอลลาร์

เหล่านี้บีบให้สหรัฐต้องลงมือกระทำการอะไรสักอย่างเพื่อยุติการคุกคามนี้

ข) ในด้านเศรษฐกิจดิจิตอล

สหรัฐยิ่งรู้สึกถูกคุกคามจากจีนเป็นพิเศษ ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้ เศรษฐกิจดิจิตอลนี้ เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารอย่างรวดเร็ว

มีกิจกรรมสำคัญในการสร้างและเก็บเกี่ยวมูลค่า 2 ส่วนได้แก่

การประมวลและการใช้ข้อมูลดิจิตอลที่เพิ่มพูนอย่างรวดเร็วจนสามารถนำไปใช้เหมือนไม่มีที่สุด

และธุรกิจแพลตฟอร์มหรือธุรกิจแบบชานชาลา ซึ่งเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงความต้องการของหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน

ที่สำคัญระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เหมือนกับการสร้างชานชาลาขึ้นสำหรับผู้โดยสารจำนวนมากที่มีความต้องการต่างๆ ใช้ในการเลือก ว่าจะเดินทางขึ้นขบวนรถใดในเวลาใด

ตัวอย่างธุรกิจแพลตฟอร์ม เช่น แอร์บีเอ็นบี ที่ทำธุรกิจด้านที่พักวันหยุด บ้าน ประสบการณ์ และสถานที่ บริษัทอูเบอร์และแกร็บ เป็นต้น สร้างสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจแบ่งปัน

เช่น มีห้องพักอยู่ก็แบ่งให้ผู้อื่นเช่า หรือมีมอเตอร์ไซค์ก็ใช้ขับไปส่งของได้ เป็นธุรกิจแบบใหม่ต่างกับแบบเดิมที่เป็นแบบท่อประปา

นั่นคือ ผู้ผลิตสร้างท่อลำเลียงส่งสินค้าไปให้ผู้บริโภค ธุรกิจแพลตฟอร์มนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว

พบว่าบรรษัทใหญ่สุดคิดจาก มูลค่าตามราคาตลาดจำนวน 8 แห่งของโลก มี 7 แห่งที่ดำเนินธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีทางดิจิตอลที่สำคัญในขณะนี้และอนาคตได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (หรือลูกโซ่รายการที่เข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยและความแม่นยำในการเชื่อมต่อ ใช้มากทางการเงิน การบัญชี) การพิมพ์สามมิติ อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง โทรศัพท์เคลื่อนที่บรอดแบนด์ 5 จี บริการระบบคอมพิวเตอร์ (Cloud Computing) ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล

สหรัฐเป็นผู้นำโลกในด้านเศรษฐกิจดิจิตอลมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้

มีบริษัทชั้นนำในการผลิตคอมพิวเตอร์ เช่น ไอบีเอ็ม ผู้ผลิตซอฟต์แวร์อย่างเช่น ไมโครซอฟต์ ผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์เช่นอินเทล ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์มือถือเช่นแอปเปิล

ผู้นำในเว็บค้นหาและบริการอื่น เช่น กูเกิล ผู้นำในโซเชียลมีเดียอย่างเช่นเฟซบุ๊ก ผู้นำในอีคอมเมิร์ซเช่นอเมซอน

บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่เพียงครอบงำตลาดในสหรัฐเท่านั้น ยังครอบงำเศรษฐกิจดิจิตอลของโลกด้วย

มูลค่าในราคาตลาดของบริษัทแอปเปิลและอเมซอนสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (จีดีพีของไทยที่มี ขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก ปี 2017 อยู่ที่ราว 455 พันล้านดอลลาร์)

แต่จีนก็สามารถไล่กวดมาติดๆ อย่างเหลือเชื่อ ตาม “รายงานเศรษฐกิจดิจิตอล 2019” ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ชี้ว่าการ สร้างและการเก็บเกี่ยวมูลค่าในเศรษฐกิจดิจิตอลกระจุกตัวอยู่ในเพียง 2 ประเทศใหญ่คือสหรัฐและจีน บนแพลตฟอร์มจำนวนไม่มาก

ประโยชน์และความมั่งคั่งทางดิจิตอลอยู่ในมือของบุคคล บรรษัทและประเทศจำนวนน้อยนิด

ความมั่งคั่งในเศรษฐกิจดิจิตอลของสหรัฐและจีนเห็นชัดได้ดังนี้คือ ทั้งสองประเทศได้จดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนถึงร้อยละ 75 ของโลก ใช้จ่ายในการพัฒนาอินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่งสูงร้อยละ 50 ครอบงำตลาด บริการระบบคอมพิวเตอร์ (คลาวด์ คอมพิวติ้ง) ร้อยละ 75 ของโลก

และพบว่ามูลค่าในราคาตลาดของบริษัทด้านแพลตฟอร์มใหญ่ที่สุดของโลกรวม 70 บริษัทนั้น ร้อยละ 90 เป็นของสหรัฐและจีน (ดูรายงานอังค์ถัดชื่อ Digital Economy Report 2019 – Value Creation and Capture : Implications for Developing Countries ใน unctad.org กันยายน 2019)

เหตุปัจจัยที่จีนสามารถไล่ทันสหรัฐทางดิจิตอลอย่างรวดเร็วคือ

1) ปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย

ก) มีประชากรมาก สามารถสร้างข้อมูลจำนวนมาก เหมาะสำหรับการพัฒนาข้อมูลใหญ่ทางดิจิตอล และยังเป็นตลาดรองรับที่พอเพียงในการพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร

ข) เริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากพัฒนาหลังผู้อื่น ใช้เทคโนโลยีล่าสุด เช่น การข้ามไปใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ รถไฟความเร็วสูง การผลิตแบบอัตโนมัติ และการใช้หุ่นยนต์ การสื่อสารบรอดแบนด์

ค) การมีแรงงานที่ราคาถูก ฉลาด ขยัน มีวินัย อยากรวยหรือตั้งตัวเร็ว สามารถรับทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ ไม่มีประเทศกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ใดประสบความสำเร็จใหญ่หลวงเท่าจีน

2) การปกป้องคุ้มครองเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเข้มงวดตั้งแต่ต้น ที่สำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการรักษาความมั่นคง ป้องกันไม่ให้วัฒนธรรม ค่านิยม อุดมการณ์และข่าวสารตะวันตกแพร่เข้ามาครอบงำความรู้สึกนึกคิดของชาวจีน หรือเปิดช่องให้ตะวันตกสามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนทางความคิดได้ง่าย

อีกส่วนหนึ่งเป็นด้านเศรษฐกิจการตลาดในการเป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตของจีนให้ก้าวรุดหน้า ทัดเทียมกับประเทศตะวันตกได้ ไม่ใช่เพียงผู้รับจ้างทำของ เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารและเศรษฐกิจดิจิตอลของจีนได้เติบโตอย่างรวดเร็ว

เช่น บริษัทเสียวหมี่ที่เพิ่งก่อตั้งปี 2010 สามารถผลิตสมาร์ตโฟนมียอดขายสูงอันดับสี่ของโลก ตามติดแอปเปิลที่อยู่อันดับสาม จนได้สมญาว่า “บริษัทแอปเปิลของจีน” ส่วนบริษัทหัวเว่ยนั้นมียอดขายอยู่ที่อันดับสองเป็นรองแต่ซัมซุงของเกาหลี และได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นผู้นำเทคโนโลยีบรอดแบนด์ 5 จี ในขณะนี้จีนมีโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มของเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างพอเพียง มีเว็บค้นหาไป่ตู้แทนกูเกิล เว็บวีแชตแทนเฟซบุ๊ก มีระบบดาวเทียมนำร่อง เป่ยโต่ย แทนจีพีเอส หากสหรัฐจะตัดการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตของตน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อจีนมากมาย

3) การสนับสนุนจากภาครัฐในการแปรเป็นดิจิตอล รวมถึงการที่ภาคธุรกิจเอกชน และสาธารณชนยอมรับและปฏิบัติตาม รัฐบาลจีนให้การ สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอลและอุตสาหกรรมไฮเทคของตนอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง ในปี 2015 ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทำในประเทศจีน 2025 เพื่อให้จีนเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไฮเทคของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสาร หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

ซึ่งสหรัฐเห็นว่าเป็นการคุกคามรุนแรงต่อการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของตน

และสหรัฐก็ได้ลงมือก่อสงครามการค้า นอกจากนี้ ในระบบตลาดแบบสังคมนิยมของจีน มีผลให้รัฐบาลและวิสาหกิจต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนมีความใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ ต่างกับในประเทศตะวันตก จนสหรัฐรู้สึกไม่ไว้วางใจ เช่น กล่าวหาว่าบริษัทหัวเว่ยใกล้ชิดกับกระทรวงกลาโหมของจีนมากเกินไป ซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธ

ภาคธุรกิจของจีนได้เข้าร่วมการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนอย่างแข็งขันด้วย พิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา พบว่าค่าใช้จ่ายจากภาคธุรกิจทั้งของรัฐและเอกชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจากภาครัฐบาล โดยเพิ่มจากร้อยละ 30 ในปี 1995 เป็นร้อยละ 70 ในปี 2016 ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของจีนทั้งหมดในปี 2017 สูงถึง 262 พันล้านดอลลาร์ เป็นที่สองรองจากสหรัฐ

(ดูบทรายงานข่าวของ Teng Jing Xuan ชื่อ Chinese R&D Spending Continues to Grow, but Regional Inequality Persists ใน caisinglobal.com 08/03/2019)

สาธารณชนชาวจีนก็เห็นด้วยกับแนวทางการสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นหนทางให้รวยและตั้งตัวเร็ว เข้าใช้โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรมและการศึกษาด้วยตนเองให้มีความรู้ความสามารถทางดิจิตอล

4) ท่าทีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนโยบายการศึกษาของจีน นับแต่การปลดปล่อยปี 1949 รัฐบาลจีนให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพิเศษในการเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ

แต่ในระยะเริ่มแรกนั้นก็ต้องการความเข้มข้นและความถูกต้องทางอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ด้วย

จึงเห็นว่าผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายควรที่จะ “ทั้งแดงทางอุดมการณ์และเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี” เมื่อถึงการเคลื่อนไหวการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ ได้กลับแนวทางใหม่เป็น “แดงเหนือความเชี่ยวชาญ” เมื่อถึงยุคการปฏิรูปและเปิดกว้างของเติ้งเสี่ยวผิง ปรับแนวทางอีกครั้ง

ถือว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการพัฒนากำลังการผลิตและเศรษฐกิจของชาติ ไม่ใช่ลัทธิมาร์กซ์-ลัทธิเสนิน-ความคิดเหมาเจ๋อตง เปิดทางให้เกิดนโยบายการศึกษาที่เน้นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (เรียกย่อในภาษาอังกฤษว่า STEM Education)

เดือนกุมภาพันธ์ 2017 กระทรวงศึกษาธิการของจีนประกาศใช้การศึกษาระบบสเต็มในหลักสูตรประถมศึกษา และให้กำหนดแผนปฏิบัติการไปจนถึงปี 2029 (ดูบทศึกษาชื่อ China”s STEM Education in Action : Observations. Initiatives and Reflections ใน medium.com 28/05/2019) ตามการจัดการแบบนี้ ในไม่ช้าประชาชนจีนทั้งประเทศ ก็จะเป็นผู้รู้ภาษาเศรษฐกิจดิจิตอล สหรัฐที่ต้องการชนะสงครามการค้าอาจต้องบังคับให้จีนเลิกนโยบายการศึกษาระบบสเต็ม หรือไม่ก็ทำเลียนแบบจีน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเหตุปัจจัยข้อที่ 3 ในการตัดสินใจทำสงครามการค้าของสหรัฐ อันเนื่องจากคุกคามด้านสินค้าอุตสาหกรรมของจีน และการรบที่มีลักษณะพลิกสถานการณ์ในเศรษฐกิจดิจิตอล