คุยกับทูต ‘เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย’ ความสัมพันธ์สเปน-ไทย ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

คุยกับทูต เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย หวังนำเสนอศักยภาพที่หลากหลาย ของสเปนให้ปรากฏในไทย (2)

แม้ว่าสเปนและไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นระยะเวลา 149 ปี แต่ความสัมพันธ์ในระดับราชวงศ์กลับเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากกว่าความสัมพันธ์ในระดับอื่นๆ

“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา สเปนกับไทย ยังไม่ค่อยมีความโดดเด่นมากนัก ดังนั้น หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของผมในประเทศไทยครั้งนี้ คือพยายามหาแนวทางยกระดับความน่าสนใจ และกำหนดภาพลักษณ์ที่เหมาะสมของสเปน เพราะความรู้ในข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับสเปนอาจยังมีไม่มากเท่าที่ควร ผมตระหนักดีว่า เราไม่ได้เป็นผู้เล่นคนแรกในเวทีนี้ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการและโอกาสที่เหมาะสมในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสเปนให้ดียิ่งขึ้น”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (H. E. Mr. Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำราชอาณาจักรไทย แสดงความคิดเห็น

“ผมกำลังทำงานอย่างหนักในการเพิ่มเติมความรู้ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและสเปน โดยมีความมั่นใจว่ากิจกรรมทางวัฒนธรรมหรือธุรกิจที่เรามีส่วนร่วมกันนั้น จะเป็นโอกาสหนึ่งในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสเปนและทำให้สเปนเป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างแพร่หลาย”

“การประชาสัมพันธ์และการออกไปพบปะผู้คน ช่วยในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศของเรา ผมได้เรียนรู้และเกิดความคิดริเริ่มขึ้นหลายอย่างระหว่างการสนทนา”

นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสเปนกับไทยยังคงมีข้อจำกัดมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะในอดีต แทบไม่เคยมีสเปนปรากฏตัวมากมายในส่วนนี้ของโลกยกเว้นในฟิลิปปินส์

ในความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม

“เราพยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสเปนในต่างพื้นที่ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้เราจัดงานนิทรรศการโดยประติมากรชาวสเปนที่จังหวัดเชียงใหม่”

โดยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย จัดนิทรรศการ On the Road to Chiang Mai โดยศิลปิน Teresa Esteban เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน ปีนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

“นอกจากนี้ เรานำนักออกแบบชาวสเปน คือ Miss Maria Fuente และ Sergio Giardo มาร่วมในการออกแบบชุดผ้าไหมไทยในงาน มหกรรมผ้าไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 8 ปี ค.ศ.2018 (8 THCelebration of Silk, Thai Silk Road To The World)”

“เราจัดเทศกาลภาพยนตร์ที่ให้เสียงภาษาสเปนพร้อมคำบรรยายไทยเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมภาษาสเปน ดังในปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสเปน จัดภาพยนตร์สเปนเรื่อง El bar โดย ?lex de la Iglesia ในเทศกาลภาพยนตร์สหภาพยุโรป 2018 ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่”

“และในโอกาสครบรอบ 500 ปีการเดินเรือรอบโลกของมาเจลลันและเอลกาโน (500th of the Circumnavigation of the World by Magellan and Elcano) เราจัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง การผจญภัยที่เหลือเชื่อ (Impossible Adventure)”

โดยมีกัปตันเรือโฆเซ่ มาเรีย บลังโก (Captain Jos? Mar?a Blanco) ราชบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์การเดินเรือสเปน และ ศ.ดร.มาเรีย เด ฟาติมา เฮย์ส (Professor Dr. Maria de F?tima Reis) ราชบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์โปรตุเกส ร่วมบรรยายพิเศษในโอกาสเดียวกันที่สยามสมาคม เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา

จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสเปน และสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทางการค้า

“โดยรวมแล้วมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ยังไม่มากนักโดยหวังว่าเมื่อข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ก็จะทำให้การค้าขายระหว่างกันมีมากขึ้น สเปนมีสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ น้ำมันมะกอก และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี”

เนื่องจากสเปนมีความแข็งแกร่งในด้านการเกษตรโดยเป็นที่เจ็ดในยุโรป จึงนำเข้าทางด้านเกษตรน้อยมาก ส่วนที่นำเข้าจากไทยมักเป็นข้าว ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนไฟฟ้า

“ระดับการค้าของสเปนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ถึงกระนั้นประเทศไทยก็เป็นคู่ค้าอันดับสองของเรา รองจากสิงคโปร์ แม้จะยังมีปริมาณไม่สูงมากนักก็ตาม”

สเปนมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมแฟชั่น บริษัทสเปนเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยส่งออกสินค้าที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมไปยัง 5 ทวีปทั่วโลก ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการสเปนรู้จักใช้ประโยชน์จากยุคดิจิตอลในการสร้างธุรกิจ ผู้ประกอบการ Start-ups ได้ลงทุนกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ และได้เปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจและการผลิตทั่วโลก

ในด้านการลงทุน สเปนมีข้อเสนอเรื่องการลงทุนมากมาย สเปนเป็นประเทศอันดับ 8 ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรปโซน และอันดับ 14 ของโลก

นอกจากนี้ สเปนเป็นประเทศอุตสาหกรรมล้ำสมัย โดยผลิตรถยนต์มากที่สุดอันดับ 2 ของยุโรป และอันดับ 8 ของโลก และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่สามารถพัฒนาระบบการผลิตเครื่องบินทั้งกระบวนการได้ และยังติดอันดับ 7 ของโลกด้านการผลิตดาวเทียมด้วย

ในด้านความยั่งยืน สเปนเป็นผู้นำพลังงานหลายสาขา ร้อยละ 78 ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ดำเนินการโดยบริษัทสเปน โดยเป็นประเทศแรกในยุโรปและอันดับ 2 ของโลกที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ระบบการจัดการขยะแบบครบวงจรของสเปนก็มีชื่อเสียงระดับโลก

“ผมคิดว่าการค้าขายของเราอยู่ในระดับที่ดี เมื่อปีที่แล้ว มีการลงทุนของไทยที่ใหญ่มากในสเปน คือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ อินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Ventures : IVL) ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง และขนสัตว์ ส่วนอีกด้านหนึ่งเราเห็นบริษัทสเปนเข้ามาให้ความสนใจในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แม้ว่าเราจะเริ่มจากระดับที่ต่ำมาก แต่ก็มีความสุขจากแนวโน้มที่เราได้เห็น”

เกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

“เราได้ติดต่อกับคณะกรรมการการลงทุนและกระทรวงต่างๆ เพื่อรับข้อมูล และเพื่อส่งผ่านข้อมูลไปยังบริษัทต่างๆ ในสเปน แต่เป็นบริษัทเหล่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า พวกเขามีความสนใจและต้องการมีส่วนร่วมในการเสนอราคาหรือไม่ เราสามารถช่วยได้เพียงการส่งผ่านข้อมูล”

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

ในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศอยู่แล้ว

EEC ผ่านการบริหารจัดการในการกำกับดูแลของ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ในด้านความสัมพันธ์กับอาเซียน (ASEAN)

“สหภาพยุโรป (European Union – EU) เริ่มต้นความสัมพันธ์กับอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 และได้พัฒนาเป็นคู่เจรจาอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1977 เรามีแผนปฏิบัติการของกิจกรรมที่เราทำร่วมกัน เราพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงผ่านกรอบ ASEAN Regional Forum (ARF)” ท่านทูตกาลาเบียชี้แจง

“ในฐานะที่สเปนเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในด้านหนึ่ง เรามีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีไทย-สเปน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่สเปนมีส่วนช่วยคือการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปที่มีต่ออาเซียน เอเชีย และต่อประเทศอื่นๆ และเมื่อมีการนำนโยบายมาใช้ เราประสานงานกับประเทศอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน”

สเปนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษและมีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา มีเทคโนโลยีในการพัฒนาผลผลิตทางเกษตรกรรมและเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งด้านพลังงานทดแทน

ทั้งมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมการต่อเรือ industria naval ซึ่งกองทัพเรือไทยและสเปนมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันเสมอ

และไทยให้สเปนต่อเรือหลวงจักรีนฤเบศร

เรือหลวงจักรีนฤเบศร (HTMS Chakri Naruebet : CVH-9111) เป็นเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทย ประจำการในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือ เป็นเรือที่ต่อขึ้นจากประเทศสเปน โดยนำแบบมาจากเรือปรินซีเป เด อัสตูเรียส (Principe de Asturias) ของกองทัพเรือสเปน

โดยปรับปรุงระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุมการบิน ระบบอาวุธ และลดระวางขับน้ำลงเหลือสองในสาม เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม ค.ศ.1993 และวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1994

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จไปทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1996 และขึ้นระวางประจำการวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1997 เดินทางถึงประเทศไทยในต้นเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และเข้าประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1997 ได้ใช้งานปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการ และช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

ซึ่งในการนี้กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อเรือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า เรือหลวงจักรีนฤเบศร แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี”

และใช้คำขวัญว่า “ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร”

โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1997 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ ท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด

ท่านทูตเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย กล่าวตอนท้ายว่า

“ไทยและสเปนต่างเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสามารถขยายความร่วมมือแบบทวิภาคีด้านเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกอย่างต่อเนื่อง”

“อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ผมครบวาระการปฏิบัติหน้าที่และอำลาจากประเทศไทย ผมก็หวังจะฝากผลงานไว้เบื้องหลัง”

“ด้วยการทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รู้จักกัน มีความเข้าใจใกล้ชิดกัน และมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”