จัตวา กลิ่นสุนทร : หอศิลป์ร่วมสมัย ของ “กมล ทัศนาญชลี” บ้านเลขที่ 111/1

ต้องขอเขียนถึง “หอศิลป์” (ร่วมสมัย) ย่านวงเวียนใหญ่ (ซอยราษฎร์ร่วมเจริญ) กรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากที่เคยนำเสนอมาบ้างแล้ว

และจะต้องกล่าวถึงต่อไปอีกหลังจากหอศิลป์ที่เกิดขึ้นในซอยลึกแห่งนี้ได้เปิดตัวดำเนินการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ

หลายทศวรรษที่ผ่านศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสถานที่สำหรับจัดการแสดงผลงานศิลปะ งานปั้น ภาพเขียน ภาพพิมพ์ และศิลปะแขนงต่างๆ ของศิลปินหลากหลายสาขาได้เกิด เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน

ความสนใจในการเสพรสชาติศิลปะของประชาชนคนไทย สามารถเป็นตัวผลักดันให้ซีกของรัฐปฏิเสธไม่ได้กับความสำคัญของศิลปะ การแสดงงานศิลปะ

เพราะฉะนั้น “หอศิลป์” ต่างๆ จึงก่อกำเนิดตามมา สถานแสดงงานศิลปะของเอกชน แม้จะต้องใช้ฝีมือการบริหารจัดการทางด้านธุรกิจเพื่อให้ ระเบียงภาพ แกลเลอรี่ (Art Gallery) หรือหอศิลป์ เหล่านี้สามารถยืนหยัดอยู่ได้

 

สถานแสดงงานศิลปะประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เฉพาะในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นหลากหลายพื้นที่กระจายเกือบทุกมุมเมืองแม้ตามตรอก ซอย ซึ่งนอกเหนือจากติดตั้งแสดงงานศิลปะเป็นประจำแล้ว ยังต้องมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน

หอศิลป์ สถานแสดงงานศิลปะดังกล่าวที่ดำรงอยู่ได้จากการจำหน่ายผลงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียวนั้นค่อนข้างยาก จึงจำเป็นอยู่ที่เจ้าของผู้ก่อตั้งจะต้องเป็นผู้มีใจรักศิลปะ และต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยในประเทศนี้โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

นักสะสมงานศิลปะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ที่มีกำลังซื้อก็มีอยู่ไม่น้อย และเพิ่มจำนวนขึ้นพร้อมกับสังคมที่เปิดกว้างยอมรับความร่วมสมัยในทุกด้านจากผู้คนของสังคม นอกจากแรกเริ่มจะให้ความสนใจศิลปะประจำชาติของตนเองแล้ว ยังก้าวสู่ “ศิลปะร่วมสมัย” ศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีผลงานเป็นที่ยอมรับชื่นชอบของนักสะสมงานศิลปะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียวเพิ่มจำนวนขึ้น

ในขณะที่ทางด้านภาครัฐเห็นความสำคัญของศิลปินสาขาต่างๆ ด้วยการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” พร้อมจัดหางบประมาณเพื่อมอบให้เป็นรายเดือนเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตนอกเหนือจากเกียรติยศชื่อเสียง เท่ากับเป็นการยืนยันในความสามารถ

“ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+ประติมากรรม+สื่อผสม+ภาพพิมพ์) หลายท่านได้เปิด “หอศิลป์” ส่วนตัวขึ้น ก่อนที่กระทรวงวัฒนธรรมจะให้การสนับสนุนเป็นนโยบาย เปิดเป็น “หอศิลป์บ้านศิลปินแห่งชาติ” รวมทั้งงานศิลปะด้านอื่นๆ เช่น การทอผ้า การเชิดหนัง และทำตัวหนังตะลุง และ ฯลฯ

เคยนำเสนอไปบ้างแล้วอีกเช่นกันสำหรับสถานที่ตั้ง “หอศิลป์” มีทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ไม่นับ “บ้านดำ เชียงราย” ซึ่งผู้ก่อตั้ง คือ ท่าน (พี่) “ถวัลย์ ดัชนี” (ศิลปินแห่งชาติ) ผู้ล่วงลับ กับ “วัดร่องขุ่น” จังหวัดเดียวกัน ซึ่งก่อตั้งโดย “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” (ศิลปินแห่งชาติ) เช่นกัน

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการเปิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ” (หอศิลป์) จำนวน 24 แห่ง ซึ่งได้เขียนถึงไปแล้วในระยะแรกจำนวน 10 แห่ง โดยเริ่มต้นจากศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540-2554 และจะดำเนินการเปิดขึ้นเรื่อยๆ จนครบ

 

“หอศิลป์ “(ร่วมสมัย) ของ “กมล ทัศนาญชลี” เลขที่ 111/1 วงเวียนใหญ่ (ซอยราษฎร์ร่วมเจริญ) เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เป็นบ้านเกิดของผู้ก่อตั้งที่เป็นมรดกตกทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ละแวกดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยกลุ่มเครือญาติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย แต่เดิมเป็นสวนผลไม้ (ฝั่งธนบุรี)

กมล ทัศนาญชลี เติบโตบริเวณบ้านสวนฝั่งธนบุรี ขณะสภาพบ้านเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลงจนแออัดเหมือนเช่นทุกวันนี้ ธรรมชาติยังบริสุทธิ์สวยงาม แม่น้ำลำคลองสะอาดสดใสสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ในถิ่นฐานที่ถือกำเนิดนั้นยังเป็นแหล่งของครูช่างทั้งหลาย

เขาเขียนถึงตัวเองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ตอนหนึ่งว่า

 

“มีความเชื่อมั่นในตนเองมาตั้งแต่เยาว์วัยและมีรากแก้วที่มั่นคงแข็งแรงเป็นรากแก้วสำคัญที่เกิดมาอยู่ในตระกูลช่างสิบหมู่ มีคุณตาส่าง สดประเสริฐ (หมื่นช่างชำนาญกิจ) ช่างไทยในราชสำนักรัชกาลที่ 6 เป็นครูคนแรก อบรมสั่งสอนข้าพเจ้าตั้งแต่วัย 7-8 ขวบ คุณตาส่างเป็นศิษย์เอกหลวงตาโม้แห่งวัดเชิงเลน กรุงเทพฯ

หลวงตาโม้ พระอาจารย์ทางศิลปะสูงอายุฝีมือเยี่ยมในยุคนั้นเขียนภาพผนังนิยายจีน หรือภาพสามก๊ก และรามเกียรติ์ เป็นฝีมือท่านเกือบทั้งนั้น แต่ท่านไม่ชอบเซ็นชื่อที่ภาพ ท่านเป็นสหายสนิทของท่านขรัวอินโข่ง ศิลปินไทยที่โด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 4 สืบเนื่องกันต่อๆ มา (ศิลปินในยุคนั้นเป็นพระ) การศึกษารวมทั้งศิลปะอยู่ที่วัด ศิลปะจึงถูกถ่ายทอดเป็นช่วงๆ ต่อกันมา

ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้จากศิลปินอาวุโสเพื่อนๆ ของคุณตาอีกหลายท่าน เช่น ครูสวงษ์ ทิมอุดม, ครูเหม เวชกร, ครูแม้น, ครูเลื่อน จิตรกรไทยที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว ช่างฝีมือปั้น แกะสลัก แทงหยวก จัดดอกไม้ ซ่อมแซมโบสถ์วิหารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากนั้น ก็ยังมีคุณลุงที่เป็นช่างไทยและสถาปนิก คุณลุงสวง, คุณลุงแสวง, คุณลุงกระวี สดประเสริฐ ที่อยู่ในตระกูลช่างไทยในสายเลือด รากแก้วในศิลปะของข้าพเจ้าฝังลึก และแข็งแรงพอเลี้ยงลำต้นได้อย่างสบาย”

ปี พ.ศ 2503 เข้าเรียนโรงเรียนเพาะช่างไม่นานก็สามารถขายรูปเขียนจากฝีไม้ลายมือตัวเองได้ ขณะเดียวกันในความเป็นคนจริงจังมุ่งมั่นตั้งใจกระหายในการเรียนรู้ การทำงานศิลปะทุกเวลานาที เขาจึงได้รับการยอมรับจากอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ) แต่งตั้งให้เป็นประธานศิลปะ และคัดเลือกผลงานไปร่วมแสดงเป็นกลุ่มกับครูเหม เวชกร ณ บางกะปิแกลเลอรี่ (ซอยอโศก/กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นหอศิลป์เอกชนแห่งแรกของประเทศ

เมื่อเรียนจบหลักสูตร 5 ปีจากโรงเรียนเพาะช่าง พ.ศ.2507 เขาได้สร้างเรือนไม้ขนาด 2 ชั้นครึ่งที่บ้านสวน ทำการสอนศิลปะให้กับชาวต่างชาติอยู่หลายปี และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒิ (มศว ประสานมิตร) จนจบหลักสูตร ระหว่างนั้นเขาสร้างงานศิลปะพร้อมเปิดแสดงงานแบบแสดงเดียว (Solo Exhibition) ในกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี และเมื่อได้ส่งงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็ได้รับรางวัลด้วยเช่นเดียวกัน

ได้รับทุนจาก MR.William (Bill) Alexander สถาปนิกนักสะสมศิลปะให้เดินทางไปจัดนิทรรศการศิลปะ ที่หอศิลป์ในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles) และศึกษาต่อยังสถาบันศิลปะโอทิส ในนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ (Otis Art Institute, California, USA.)

ยึดอาชีพเป็น “ศิลปิน” อิสระทำงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว โดยลงหลักปักฐานอยู่ในสหรัฐ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็น “ศิลปินไทย” คนเดียวที่ได้รับรางวัลต่างๆ ของนครลอสแองเจลิส และมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California, USA) ได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐ ได้รับวีซ่าถาวร “บัตรเขียว” สามารถเดินทางเข้าออกสหรัฐได้ตลอดเวลา ดังที่เดินทางไปกลับสหรัฐ-ไทย เพื่อปฏิบัติงานทางด้านศิลปะในนามกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะศิลปินแห่งชาติ โดยเดินสายสัญจรไปทั่วประเทศ เพื่อการสร้างงานศิลปะ การเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย

กมล ทัศนาญชลี เป็นหัวเรือใหญ่ของครอบครัวหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินไทยในสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” และรู้จักกันอีกนามหนึ่งว่า “ศิลปินสองซีกโลก”

 

ยังจบไม่ลง ขอไปต่อคราวหน้าอีกสักครั้งเรื่อง “หอศิลป์” (ร่วมสมัย) ในซอยเล็กๆ ฝั่งธนบุรี พร้อมเรื่องราวผลงาน (60 ปี) ของ “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (2540)

แม้จะอยู่ในวัยกว่า 70 ปียังเต็มไปด้วยไฟในหัวใจ

ทุ่มเทเพื่อ “ศิลปะ” ตลอดเวลา