วิเคราะห์ : ตลาดอสังหาริมทรัพย์แสดงอาการ ภายใต้ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

ระยะนี้เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ไปภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลด้วย จะพบนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ในลักษณะอาการเดียวกัน

คือสีหน้าท่าทางเหมือนกับท้องผูก

แม้ยอดขายที่ทำใจเผื่อไว้แล้วว่าจะไม่ดีนัก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับหนักหนากว่าที่คาด

โครงการแนวราบ ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม บ้านแฝด บ้านเดี่ยว ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ซื้อเป็น “เรียล ดีมานด์” หรือความต้องการแท้จริงซื้อจริงอยู่จริง ก็เจอสภาพคนสนใจแวะเยี่ยมชมโครงการน้อยลง การจองน้อยลง

ยิ่งตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อเป็นนักลงทุน นักเก็งกำไร รวมทั้งชาวต่างชาติโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นกำลังซื้อที่อ่อนไหว ยังมีบริษัททำโครงการที่ไม่มีเพียงบริษัทอสังหาฯ ไทย มีโครงการที่ร่วมทุน (JV) กับต่างชาติ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่สร้างโครงการออกมามีจำนวนยูนิตแทบจะใกล้เคียงกับบริษัทอสังหาฯ ไทย

จนทำให้ไร้ข้อโต้แย้งอย่างสิ้นเชิงว่า ตลาดคอนโดฯ โอเวอร์ซัพพลาย ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการดูดซับสภาพส่วนเกินนี้ให้หมดไป

 

แต่ที่หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก คือ จิตวิทยาตลาดขณะนี้ ผู้ซื้อเริ่มมีความเชื่อบ้างแล้วว่า จะมีการปรับลดราคาลงไปอีก แม้จะมีความต้องการแท้จริงก็จะเลื่อนการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน

ดังนั้น จึงไม่เพียงนักเก็งกำไรหายไป ผู้ซื้อชาวจีนหายไป แม้แต่กำลังซื้อจริงๆ ก็ความเชื่อมั่นลดลง และยังเชื่อว่า ราคาจะลดลงอีก เลื่อนการตัดสินใจออกไป

ขณะนี้บริษัทอสังหาฯ ต่างๆ ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปจนถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วประเทศต่างเตรียมการและแก้ปัญหาของตัวเองเป็นการใหญ่

นักพัฒนาอสังหาฯ ประสบการณ์กว่า 40 ปีรายหนึ่ง คาดการณ์ว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ จะชะลอตัวต่อไปอีก จนถึงปลายปี 2563 น่าจะถึงจุดต่ำสุด

และหลังจากนั้นจะฟื้นตัวหรือไม่อย่างไร ยังไม่อาจคาดหมายได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในเวลานั้น

 

แต่ถึงเวลานี้ ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการหรือนโยบายต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่างไปจาก 10 ปี 20 ปีที่แล้วที่รัฐมักจะมีมาตรการอุ้มอสังหาฯ เพื่อไม่ให้สะเทือนไปถึงธุรกิจอื่นๆ

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ

เพราะแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจที่ทำเงินเข้าประเทศมหาศาล โดยที่ไม่ต้องลงทุนและใช้เวลานานให้การกระตุ้น เวลานี้ก็กลายเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจเครื่องสุดท้ายที่วูบดับไป

ธุรกิจการส่งออก เส้นเลือดใหญ่สุดของระบบเศรษฐกิจ ที่เจอปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า

โด่งเกินประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดๆ ออกมาแก้ไขอย่างเป็นระบบ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกแล้วว่า ตัวเองไม่ได้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลปัจจุบัน

ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจ

ถ้านักธุรกิจที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินลำนี้ เขาจะกังวลว่า กัปตันท่านจะขับเครื่องบินไม่เป็น