วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ พิมพ์ดีดกับนักเขียน (3)

แคมเปญของรัฐบาลสหรัฐ

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับนักเขียน (3)

 

พิมพ์ดีดอีกเครื่องที่ผมมีคืออันเดอร์วู้ดแชมเปี้ยน (Underwood Champion) ที่มีอักษรภาษาไทยและมาพร้อมกับกล่องดั้งเดิม ทั้งมีสภาพชอกช้ำพอสมควร

ซึ่งแปลว่าก่อนจะตกทอดมาสู่ตลาดขายของเก่าและมือของผมได้ผ่านการใช้อย่างโชกโชน

รุ่นนี้อาจจะผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็คล้ายรุ่นก่อนหน้า คือได้รับการยอมรับของกองทัพสหรัฐว่าทนทานพอที่ทหารจะเอาไปใช้ในสงคราม

โฆษณาของรอแยล

เมื่อเริ่มผลิตขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยนักประดิษฐ์ชื่อฟรานซ์ ซาเวียร์ วากเนอร์ และนักธุรกิจชื่อจอห์น โธมัส อันเดอร์วู้ด ถือเป็นการปฏิวัติครั้งหนึ่งของวงการและกลายเป็นตำนานหนึ่งของชื่อนี้

พิมพ์ดีดในยุคแรกยังใช้กลไกและแป้นพิมพ์แบบเดิมซึ่งเป็นการเคาะตัวลงไปโดยมองไม่เห็น (และจึงถูกเรียกว่า blind writer) เมื่อเสร็จแล้วจึงเอากระดาษออกจากเครื่องมาตรวจทานอีกที ซึ่งถ้าพบที่ผิดก็ต้องแก้ด้วยการเริ่มกระบวนการใหม่

แต่วากเนอร์คิดว่าการพิมพ์โดยมองเห็นตัวพิมพ์ทันทีหลังจากที่ตอกกระดาษแล้วจะดีกว่า เขาจึงสร้างระบบ visible writer ขึ้นมา

ไม่กี่ปีต่อมา ระบบนี้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ บริษัทอื่นก็หันมาทำเครื่องแบบเดียวกันและใช้กันทั่วไปในสำนักงาน

ว่ากันว่าในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ครึ่งหนึ่งของพิมพ์ดีดที่ขายในโลกเป็นอันเดอร์วู้ด

นักเขียนหลายคนใช้อันเดอร์วู้ด เช่น วิลเลียม ฟอล์กเนอร์, เอฟ. สก๊อต ฟิตส์เจอรัลด์, แจ๊ก เคอรูแอค และชาร์ลส์ บูโควสกี้ พิมพ์ดีดของฟอล์กเนอร์ที่ตั้งไว้ในบ้านที่โรแวนโอ๊ก มิสซิสซิปปี้ น่าจะเป็นรุ่น พ.ศ.2478

ในสมัยนั้นอันเดอร์วู้ดเป็นคำที่ติดปากคนหรือใช้แทนคำว่าพิมพ์ดีดได้ ดังในถ้อยคำของ แจ๊ก วอร์เนอร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งใช้เรียกนักเขียนในสังกัดของวอร์เนอร์บราเธอร์สว่า  “schmucks with Underwoods”

คำว่า schmucks หมายถึงไอ้โง่ที่เป็นลูกจ้างของเขา ซึ่งน่าจะรวมถึงวิลเลียม ฟอล์กเนอร์ ด้วย

อันเดอร์วู้ดแชมเปี้ยน

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่สู้กันด้วยพิมพ์ดีดเท่าๆ กับสู้ด้วยปืน ในบทความ Typewriter Man ของเอียน ฟราเซีย ที่ลงในนิตยสารแอตแลนติกเมื่อปี พ.ศ.2530 บอกว่า เพราะเอกสารต่างๆ เช่น รายงาน วิธีดำเนินการรบ รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อล้วนต้องใช้พิมพ์ดีด ตัวอักษรที่ทำด้วยเครื่องจักรและเอกสารพิมพ์ดีดถูกระดมมาใช้เพื่อการสงครามอย่างเต็มที่

ว่ากันว่าเรือของสหรัฐลำหนึ่งที่ถูกจมในช่วงดี-เดย์ที่นอร์มังดีนั้น บรรทุกพิมพ์ดีดรอแยลและอันเดอร์วู้ดจำนวนสองหมื่นเครื่องที่ส่งไปรบพร้อมกับทหารอีกกว่าแสนคน

ถ้าจะเข้าใจประวัติศาสตร์พิมพ์ดีด จึงต้องแบ่งออกเป็นยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อพูดถึงบทบาทของอเมริกาในฐานะผู้ผลิตพิมพ์ดีดรายใหญ่ ก็ต้องบอกว่าสงครามครั้งนั้นส่งผลสะเทือนกับธุรกิจพิมพ์ดีดในระหว่างสงครามหลายประการ

ประการแรก พิมพ์ดีดถูกจัดเป็นอาวุธสงคราม กลายเป็นสินค้าที่ต้องขายให้แก่กองทัพเท่านั้น และถ้าไม่ได้รับอนุญาต ห้ามบริษัทและห้างร้านต่างๆ ขายให้แก่พลเรือน

ที่สำคัญ เนื่องจากการผลิตพิมพ์ดีดใช้เครื่องมือและกระบวนการเดียวกับปืน โรงงานส่วนมากจึงถูกขอร้องให้หยุดการทำพิมพ์ดีดและเปลี่ยนไปเป็นผลิตอาวุธสงคราม ด้วยนโยบาย “Forty-Two Keys to Victory” ของรัฐบาล โรงงานพิมพ์ดีดของรอแยลหันไปทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน

ส่วนอันเดอร์วู้ดและสมิธ-โคโรน่าผลิตปืนไรเฟิล

แน่นอน พิมพ์ดีดเป็นที่ต้องการ แต่ปืนจำเป็นมากกว่า

ประการที่สอง การหยุดผลิตและห้ามซื้อขายซึ่งเป็นผลจากประการแรก ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนพิมพ์ดีด รัฐบาลสหรัฐแก้ปัญหาด้วยการขอบริจาคจากวงการที่ใช้มาก เช่น ฮอลลีวู้ดและหนังสือพิมพ์ต่างๆ ธุรกิจเหล่านี้ต้องมอบเครื่องพิมพ์ดีดราวหนึ่งในสี่ของที่มีอยู่แล้วให้กองทัพ

นโยบาย “Forty-Two Keys to Victory” ถูกใช้เพื่อระดมคนเข้าทำงานด้วย มีการเปิดรับสมัครงานหลายพันตำแหน่ง มีบันทึกว่าระหว่างปี พ.ศ.2483 ถึง 2488 จำนวนข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า แต่ก็ยังขาดแคลนคนที่พิมพ์ดีดเป็น การทำงานของพนักงานพิมพ์ดีดจึงต้องถูกปรับเป็นหลายกะ

และมีการรณรงค์ให้พนักงานเหล่านี้ขยันทำงาน บริษัทรอแยลออกโฆษณาที่มีรูปสาวพิมพ์ดีดและสโลแกนว่า

“ชัยชนะอยู่ที่ปลายนิ้วของคุณ!”

 

คำบรรยายรูป :

01อันเดอร์วู้ดแชมเปี้ยน

02วิลเลียม ฟอล์กเนอร์

03แคมเปญของรัฐบาลสหรัฐ

04โฆษณาของรอแยล