วิเคราะห์ | “เรือเหล็ก” ฝ่า 3 มรสุม ปมถวายสัตย์ไม่จบ ฝ่ายค้านจ่อลง “ดาบสอง” จบที่ญัตติ “ไม่ไว้วางใจ”

มีสัญญาณส่งออกมาจาก 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทย-อนาคตใหม่ รวมถึงพรรคประชาชาติของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่า

ถึงแม้การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กับประเด็นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 เนื่องจากไม่มีการชี้แจงที่มารายได้ที่จะนำมาใช้ดำเนินนโยบายเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาจะสิ้นสุดลง พร้อมการปิดสมัยประชุมสภา

แต่ในทางการเมืองทั้ง 2 ประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ นอกจากไม่จบ ยังมีแนวโน้มบานปลายไปถึงการยื่นตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรม และสุดท้ายคือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151

ในการอภิปรายทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน สุดท้ายถึงแม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเนติบริกร เจ้าของฉายา “บิดาแห่งการยกเว้น” จะอาศัยกระบวนท่าพลิกแพลงพา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เอาตัวรอดจาก “ปมร้อน” ไปได้แบบหืดจับ

ด้วยเหตุที่เป็นการอภิปรายทั่วไปในสภาโดยไม่มีการลงมติของ ส.ส. ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลชี้แจงเคลียร์หรือไม่เคลียร์อย่างไร ก็ไม่มีผลต่อการอยู่หรือไปของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในแบบเฉียบพลัน

แต่ในมุมพรรคฝ่ายค้านกลับมองว่า การไม่ได้รับคำตอบชัดแจ้งจากรัฐบาล โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อยู่รับฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านจนจบสิ้นกระบวนความ โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม เป็นคนตอบคำถามชี้แจงแทน

ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความเคารพต่อสภา อันเป็นเครื่องในการซักถาม หารือ เสนอแนะและรับฟังปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางออก ตามกลไกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ การชี้แจงตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีของนายวิษณุ เครืองาม ในประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณก็ไม่สามารถลบล้างความแคลงใจ หรือสร้างความกระจ่างใดๆ ให้กับพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนที่เฝ้าติดตามฟังการอภิปรายของสองฝ่ายผ่านสื่อต่างๆ

ภายใต้การตอบข้อสงสัยฝ่ายค้านของนายวิษณุ สรุปหลักใหญ่ใจความได้ว่า

การถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ ถึงกล่าวด้วยถ้อยคำไม่ครบถ้วน แต่เมื่อมีพระราชดำรัสตอบ ก็ถือได้ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นมีความสมบูรณ์แล้ว

รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้ตั้งแต่บัดนั้น

“ท่านตอบไม่ตรง พยายามขี่ม้าเลียบค่าย อธิบายให้พวกเราเข้าใจว่าการปฏิญาณตนกับการถวายสัตย์เป็นคนละเรื่อง แต่คำถามคือทำไมนายกฯ ไม่พูดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ ถ้าพูดตามนั้นผิดหรือไม่ ถ้าไม่ผิดทำไมไม่พูด

ถ้าบอกว่าจะธำรงไว้และปฏิบัติซึ่งรัฐธรรมนูญทุกประการ ถ้านายกฯ พูดแบบนี้ผิดอะไร ถ้าไม่ผิดทำไมไม่พูด ถ้าไม่พูดแล้วคืออะไร” นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ทิ้งคำถามที่ไร้คำตอบไว้ในสภา

ขณะเดียวกันใน 4 ข้อคำถามของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ในกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบ

นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะ “มวยแทน” บางข้อตอบอย่างคลุมเครือ บางข้อไม่ได้ตอบ เช่น หากมีรัฐมนตรีลาออกแล้วตั้งรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามา นายกรัฐมนตรีจะกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณอย่างไร หรือหากนายกรัฐมตรีคนต่อไปมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ แล้วกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน สามารถทำได้หรือไม่

ไม่นับรวมถึงคำถาม “นอกสภา”

ในกรณีถวายสัตย์ไม่ครบ หากนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ ชินวัตร ชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะมีสภาพเช่นไร จะอยู่รอดปลอดภัยเหมือนนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ คำตอบในใจเป็นที่รู้กันอยู่

หรือกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าใครบางคนมีเกราะคุ้มกันแน่นหนาเพียงใด

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ยอมรับว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำอะไรก็ได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญ ส่งไปองค์ไหนก็รอด ในขณะที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้กับทุกคน แต่พอถึง พล.อ.ประยุทธ์กลับได้รับการยกเว้นเสมอนั้น เป็นเรื่องเกินจากที่ฝ่ายค้านประเมินไว้มาก

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ อภิปรายชี้ว่า กรณีถวายสัตย์ไม่ครบ นอกจากผิดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรฐานทางจริยธรรมอีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธทำตามข้อแนะนำของ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภา

ไม่ว่าข้อเสนอของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ให้นายกรัฐมตรีขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วน

ไม่ว่าข้อเสนอของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วให้ 250 ส.ว. และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตเลือกกลับเข้ามาใหม่ จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดเดิม หรือตัดบางคนที่มีปัญหาภาพลักษณ์ออก ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่อีกครั้ง

ไม่ว่าข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เสนอให้ปรับ ครม.ทั้งคณะ ตั้งคนเดิมกลับเข้ามา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่

ฝ่ายค้านพยายามเตือนว่า การประพฤติตัวอยู่เหนือสภา อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อาจทำให้คะแนนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลตกต่ำลงจนส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่ความน่าเชื่อถือเชื่อมั่นในรัฐบาลคือสิ่งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะไม่จบปัญหาด้วยตัวเอง กลับเลือกปล่อยให้ปัญหาเป็นที่ค้างคาใจประชาชนต่อไป

ตรงนี้เองทำให้พรรคฝ่ายค้านประกาศจะใช้ทุกช่องทางตามกฎหมายเพื่อดำเนินการกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

ช่องทางแรก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เผยว่า 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมหารือร่วมกันเพื่อใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่านไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ให้พิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยประมวลจริยธรรมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศไว้

การจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต การทุจริตคอร์รัปชั่น การแต่งตั้งคนมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมมาบริหารบ้านเมือง เหล่านี้เข้าข่ายความผิดทางจริยธรรมทั้งหมด ดังนั้น นอกจากกรณีถวายสัตย์แล้ว ฝ่ายกฎหมายของ 7 พรรคฝ่ายค้านจะพิจารณาว่าควรยื่นร้องในกรณีใดเพิ่มเติมอีกบ้าง

รวมถึงการพิจารณาไพ่ตายสุดท้ายคือ การเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสมัยประชุมสภาหน้าซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน

แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น ฝ่ายค้านยังมีภารกิจสำคัญคือการอภิปรายชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 18 ตุลาคม

ทั้งหมดคือช่วงจังหวะเวลาชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบางส่วนเกี่ยวพันไปถึงกระแสข่าวเตรียม “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ รวมถึงข่าวแกนนำพรรครัฐบาลร่วมวงกินข้าวกับ ส.ส.พรรคแกนนำฝ่ายค้าน 14 คน ใช้ผลประโยชน์จูงใจย้ายฝั่งการเมือง

แก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำในช่วงศึกใหญ่กำลังจะมาถึง