สิ่งที่ได้ยินในหลายวงสนทนา “เราปล่อยให้ประเทศมีนายกรัฐมนตรีแบบนี้ได้อย่างไร” ?

อคติต่อนายกรัฐมนตรี

ในหลายวงสนทนา เริ่มได้ยินคำถามนี้บ่อยขึ้น

“เราปล่อยให้ประเทศมีนายกรัฐมนตรีแบบนี้ได้อย่างไร”

คำว่า “แบบนี้” ถูกอธิบายในความหมายที่ว่า “คนที่นึกจะพูดอะไรก็พูด ไม่นึกไม่คิดว่างานไหนควรพูดอะไร” หรือ “นึกจะโกรธอะไรแสดงออกทันที ไม่รู้ว่าสถานการณ์ไหนควรจะแสดงออกอย่างไร”

แบบว่า “จะทำอะไรก็ทำไปเรื่อยเปื่อย โดยไม่ไตร่ตรองว่าผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่เห็นที่ได้ยินจะเป็นอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นแค่การสนทนากันแค่ในกลุ่ม แถมใครที่จะพูดต้องเหลียวหลังแลหน้า

ประเมินแล้วว่าคนที่จะได้ยินมีเฉพาะที่เข้าใจกันได้ โดยไม่ถือสาหาความ

แต่สำหรับการแสดงออกทั่วไป กลิ่นอายของการใช้อำนาจยังไม่อนุญาตให้รู้สึกปลอดภัย แม้ระบบการบริหารจัดการประเทศจะเข้าสู่ “มาจากการเลือกตั้ง” อันหมายถึงความเป็น “ประชาธิปไตย” ซึ่งหัวใจอยู่ที่สำนึกที่เปิดกว้างพร้อมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็ตาม

การพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีในที่สาธารณะแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในความรู้สึก

ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ยิ่งดูจาก “นิด้าโพล” อันเป็นการสำรวจของสถาบันทางวิชาการที่ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในความน่าเชื่อถือ

ซึ่งล่าสุดสำรวจเรื่อง “จะเรียกร้องอะไรจากนายกรัฐมนตรี”

ในคำถามที่ว่า “หากพบนายกรัฐมนตรีวันนี้ ท่านจะเรียกร้องอะไรจากนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องแรก”

ถามแบบนี้ก็หมายความว่า “เรียกร้องกันต่อหน้าต่อตาเมื่อได้พบ”

คำตอบที่ออกมาคือ ร้อยละ 44.95 ขอให้ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจ, ร้อยละ 15.80 ไม่เรียกร้องอะไรเลย, ร้อยละ 13.35 ขอให้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ, ร้อยละ 4.35 ขอให้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติด, ร้อยละ 3.63 ขอให้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, ร้อยละ 3.55 อยากให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 2.92 ขอให้รัฐแจกเงินเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน, ร้อยละ 2.29 แก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร, ร้อยละ 2.21 ขอให้แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม, ร้อยละ 1.97 ขอให้ช่วยแก้รัฐธรรมนูญร้อยละ 1.50 ขอให้ช่วยแก้หนี้นอกระบบ

เมื่อฟังคำตอบจากโพลนี้ แล้วย้อนกลับไปที่คำถามข้างต้น

ดูจะเป็นคนละเรื่องกันแล้ว เพราะแม้ความอึดอัดจากความรู้สึกว่า “ทำไมประเทศถึงมีนายกรัฐมนตรีแบบนี้”

แต่หากเจอนายกรัฐมนตรี แล้วจะเรียกร้อง คนที่จะเรียกร้องให้ “ลาออกไป” มีแต่น้อยนิดร้อยละ 3.55 เท่านั้น

ซึ่งจะทำให้ใครก็ตามที่เอาคำถามข้างต้นมาพูดเป็นเรื่องจริงจัง โดยยกให้เป็นความรู้สึกหลักของคนส่วนใหญ่ย่อมถูกมองว่าเป็นคนที่มีมุมมองในทางอคติต่อนายกรัฐมนตรี

เป็นเรื่องที่สรุปเอาเอง โดยไม่มีฐานมาจากความคิดของคนส่วนใหญ่