วิเคราะห์ : ทำไม “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองหลวงไม่ได้อีก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดแนวคิด “ย้ายเมืองหลวง” กลางวงประชุมของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงในโซเชียลน่าจะมาจากสาเหตุความอึดอัดคับข้องใจเหมือนๆ กับคนที่อาศัยในกรุงเทพมหานครอีก 10 ล้านคนที่เห็นว่าสภาพปัญหาเมืองของกรุงเทพมหานครมีอาการหนักหนาสาหัส

ลุงตู่เสนอต่อที่ประชุมว่า ในกรุงเทพฯ สถานที่ต่างๆ ยังอยู่ในที่เดิม ทำอย่างไรให้ขยายไปรอบนอกบ้าง จะย้ายเมืองหลวงอย่างเขาไหม ก็ต้องไปคิดมา จะย้ายไปที่ไหน ใช้งบประมาณอย่างไร หรือจะขยายรอบกรุงเทพฯ ให้กว้างขึ้น ผู้คนจะได้เข้าพื้นที่ใจกลางเมืองให้น้อยลง

“กรุงเทพฯ ทุกวันนี้มีปัญหาการจราจรติดขัด ระบบไม่พร้อม ตำรวจจราจรลงไปแก้ปัญหาก็โดนด่าว่ารถติดมากกว่าเดิม ไม่มีใครอยากทำงาน รัฐต้องแก้ปัญหาตรงนี้ วางระยะเวลาให้ถูกว่ากรุงเทพฯ ควรเป็นอย่างไร”

เป็นคำพูดสะท้อนถึงความคับข้องใจของลุงตู่

 

ที่มาที่ไปการนำเสนอประเด็นย้ายเมืองหลวงของลุงตู่ คงมาจากข่าวนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งได้ชงต่อรัฐสภาอินโดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปอยู่ที่เมืองคาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว ห่างจากกรุงจาการ์ตาราว 1,300 กิโลเมตร

เทียบสภาพปัญหาของ “จาการ์ตา” เป็นเหมือนๆ กรุงเทพฯ คือผู้คนอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เป็นเมืองไม่น่าอยู่น่าอาศัย

เริ่มต้นจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินในกรุงเทพฯ โดยไม่มีแผนบริหารจัดการรองรับกับความเติบโตของเมือง

ผนวกกับระบบผังเมืองล้มเหลวจนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทำให้เมืองมีความไม่น่าอยู่

ไม่น่าอยู่เพราะไม่มีพื้นที่สาธารณะ สวนหย่อม สนามกีฬามากเพียงพอให้ผู้คนในชุมชนทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพักผ่อนสร้างความสุข ความสนุกสนานและสร้างสรรค์

ภายในเมืองเต็มไปด้วยขยะ มลพิษจากควันเขม่ารถ โรงงานอุตสาหกรรม

แหล่งน้ำลำคลองเน่าเหม็น ปนเปื้อนไปด้วยขยะ

มีสลัมซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมีรายได้น้อยกระจุกกระจายในทุกมุมของเมือง

เมื่อถึงหน้าฝน เผชิญปัญหาน้ำท่วมที่มาจากระบบระบายน้ำด้อยประสิทธิภาพและการบริหารจัดการล้มเหลว

ปัญหาเหล่านี้สะสมหมักหมมมานานเกินกว่าผู้บริหาร กทม.ชุดใดๆ จะมีสติปัญญาแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

 

แต่การคิดย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองอื่นๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะมีความซับซ้อนทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ที่สำคัญ การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ใหม่แล้วทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ตามมาตรฐานโลกที่พัฒนาแล้วเป็นเรื่องยาก

มีหลายๆ ประเทศที่ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ใหม่ ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย อย่างเช่น เมียนมา ย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปตั้งที่กรุงเนปิดอว์ตั้งแต่ปี 2548 ใช้เงินลงทุน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สภาพในปัจจุบัน กรุงเนปิดอว์เป็นเหมือนเมืองร้าง ทางการเมียนมาบอกว่ามีประชากรที่นั่นราว 1 ล้านคน แต่สื่อฝรั่งที่เข้าไปทำรายงานข่าวไม่ค่อยเชื่อตัวเลขนี้เท่าไหร่นัก

คนเมียนมาไม่ได้แห่ไปอยู่ไปทำมาหากิน จะมีเฉพาะบรรดาเหล่าทหาร ข้าราชการเท่านั้น

เช่นเดียวกับมาเลเซีย ย้ายสถานที่ราชการและรัฐสภาไปอยู่เมืองปุตราจายา เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ สมัยนั้นมองว่าจะช่วยแก้ปัญหาสภาพการจราจรแออัดของกรุงกัวลาลัมเปอร์

ปัจจุบันคนกัวลาลัมเปอร์ยังบ่นพึมพำกับปัญหารถติดอยู่เช่นเดิม

 

ที่ประเทศอียิปต์ ตั้งเป้าหมายในปีนี้จะขยายเขตปริมณฑลของ “กรุงไคโร” ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองหลวงมานานกว่า 1 พันปี และมีประชากรอยู่อาศัยมากกว่า 24 ล้านคน เพื่อแก้ปัญหาสภาพเมืองซึ่งแออัดและมีการจราจรติดขัด

พื้นที่ที่ขยายออกไปนั้นอยู่ห่างจากกรุงไคโรไปทางตะวันออก 45 กิโลเมตร มีขนาดใหญ่พอๆ กับประเทศสิงคโปร์ จะเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ

สำหรับประเทศบราซิล ประสบความสำเร็จในการย้ายเมืองหลวงจากเมืองริโอ เดอ จาเนโร ไปตั้งใหม่ที่กรุงบราซิเลีย เป็นการวางแผนตั้งแต่สมัยนายจูสเซลิโน คูบิตส์เชค ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

นายคูบิตส์เชคทำตามคำมั่นสัญญาประชาคมว่าถ้าได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีบราซิลจะย้ายเมืองหลวง

เมื่อชนะเลือกตั้ง นายคูบิตส์เชคเชิญ “ลูซิโอ คอสตา” ศิษย์เอกของ “เลอ กอร์บูซิเยร์” สถาปนิกชื่อดังของโลกชาวสวิสมาช่วยออกแบกรุงบราซิเลีย

“คอสตา” วางผังเมือง “บราซิเลีย” เป็น 2 แกนหลัก คือแกนโมนูเมนตัล (Monumental Axis) และแกนเรซิเดนเทียล (Residential Axis)

แกนโมนูเมนตัล วางไว้ทางทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก เป็นแนวก่อสร้างอาคารที่ทำการของรัฐบาล ทำเนียบประธานาธิบดี อาคารของศาลสูง หอส่งสัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์

ส่วนแกนเรซิเดนเทียล วางแนวทิศเหนือลงมายังทิศใต้ ประกอบด้วยตึกอาคารพาณิชย์ โรงเรียน แหล่งสันทนาการ โบสถ์ และที่พักอาศัยซึ่งกำหนดความสูงไม่เกิน 6 ชั้น ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม และวางระบบการจราจรให้รถวิ่งได้คล่องตัว

สี่แยกซึ่งเป็นจุดตัดของแกนทั้งสองนั้นประกอบไปด้วยที่ตั้งของธนาคาร โรงแรม ศูนย์การค้า ภัตตาคาร โรงละคร โรงหนัง สถานีขนส่ง

ถ้ามองจากมุมสูง จะเห็นกรุงบราซิเลียเหมือนเครื่องบิน แผ่ปีกกว้าง

รัฐบาลบราซิลย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังกรุงบราซิเลียมานานเกือบ 60 ปี ทุกวันนี้กรุงบราซิเลีย กลายเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของบราซิล และเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ ประชากรที่นี่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอื่นๆ ในละตินอเมริกา

การออกแบบกรุงบราซิเลียของ “คอสต้า” ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ซึ่งองค์การยูเนสโกยกย่องให้ “บราซิเลีย” เป็นเมืองแห่งดีไซน์และเป็นมรดกโลกทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีการวางผังเมืองยอดเยี่ยม

สำหรับแนวคิดการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ก็มีมานานก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

บางคนเคยเสนอให้ไปตั้งศูนย์ราชการที่นครนายกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร บางคนแนะไปตั้งที่นครราชสีมา สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอย้ายไปที่เพชรบูรณ์

ถ้าให้ผมประเมินการย้ายเมืองหลวงในช่วงระยะเวลานี้มีความเป็นไปได้ยาก เพราะแม้ผู้คนจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ แต่ต้องยอมรับว่ากรุงเทพมหานคร คือศูนย์กลางของความเป็นประเทศ

การฟื้นฟูกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

ฉะนั้น น่าจะคิดว่าทำอย่างไรจึงเร่งรัดปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการเชื่อมต่อระหว่างระบบราง การขนส่งทางน้ำ และรถเมล์

โครงการรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน บนดินที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบันจะเสร็จก่อนเป้าหมาย สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบช่วยลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ลำคลองสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ใสสะอาด ใช้เป็นเส้นทางสัญจรและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำอย่างไรจึงจะให้กรุงเทพมหานครเขียวร่มรื่นและเป็นเขตปลอดขยะเน่าเสีย

ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองน่าอยู่เหมือนเมืองใหญ่ๆ ที่มีคนอยู่กันแออัดหนาแน่นเช่นกรุงโตเกียว

ส่วนปัญหาโลกร้อนที่คาดการณ์กันว่าจะทำให้กรุงเทพมหานครจมอยู่ใต้ทะเลเหมือนกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ตั้งอยู่ชายฝั่ง คงเป็นอีกเรื่องที่ผู้บริหารประเทศควรเตรียมแผนรับมือกันเนิ่นๆ