จรัญ พงษ์จีน : ก่อนพายุโหม วันพิจารณาร่างงบปี 63

จรัญ พงษ์จีน

ตามโปรแกรมเหลืออีกไม่กี่อึดใจแล้ว รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเผชิญกับพายุลูกใหญ่อีกระลอก กับปมเงื่อน “งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563”

ซึ่งสำนักงบประมาณนำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ในกรอบวงเงินตัวเลขกลมๆ เคาะที่ 3.22 ล้านล้านบาท ตามกำหนดจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 ตุลาคม และ “7 พรรคฝ่ายค้านร่วม” ส่งเสียงขู่ฟอด ว่าจะใช้เวลาถก 5 วันรวด

เมื่อแล้วเสร็จ จะพักยกไว้ชั่วขณะ นำเข้าพิจารณาในวาระที่ 2-3 ประมาณต้นเดือนมกราคมปีหน้า จากนั้นจึงนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯ

ในช่วงที่รอ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประกาศใช้ “สำนักงบประมาณ” จะนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบใช้งบประมาณปีก่อนหน้าไปพลางๆ ก่อน โดยใช้ฐานงบประมาณปี 2562 จัดสรรให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ประกอบด้วย เรื่องของเงินเดือนรายจ่ายประจำปี ที่มีฐานเดิมอยู่ และงบฯ ลงทุนที่มีสัญญาแล้ว ซึ่งจะไม่มีรายการใหม่

ตามไฟต์บังคับของรัฐธรรมนูญ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล จะต้องเดินทางไปสภาอีกครั้ง ไม่เหมือนกับกระทู้ถามทั่วไป หรือกระทู้สด ที่จะมาตอบเองก็อาจมาได้ หรือจะเลี่ยงบาลีดังที่แล้วมามอบหมายให้รัฐมนตรีคนอื่นมาตอบแทนก็ได้

แต่ “พ.ร.บ.งบประมาณฯ” หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับวันแถลงนโยบายรัฐบาล แต่มีความแตกต่างกันในส่วนของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่มีการลงมติ แต่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ มีการลงมติ

ขณะเดียวกัน “พ.ร.บ.งบประมาณฯ” แม้จะมี “ความเหมือน” กับ “วันแถลงนโยบาย” ในประเด็นที่ผู้นำรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรีจะต้องมาปรากฏกาย แต่มี “ความต่าง” กันตรงที่ “วันแถลงนโยบาย” นอกจากจะไม่มีการลงมติแล้ว ยังมี “เงื่อนตาย” ว่าด้วย “วุฒิสมาชิก” จำนวน 250 คน สามารถเข้าร่วมประชุมด้วย ตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยคำจำกัดความว่า “รัฐสภา”

แต่ “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย” หนังคนละม้วน กำหนดไว้เพียง “สภาผู้แทนราษฎร” ในเบื้องต้นก่อนเท่านั้น

 

นอกจากนั้นแล้ว ตามไปดู “กฎเหล็ก” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ในการประชุมร่วมของ “รัฐสภา” ระหว่าง “สภาผู้แทนราษฎร” กับ “วุฒิสมาชิก”

ซึ่งมาตรา 156 กำหนดไว้มีอยู่เพียง 16 ประการ

ขอฉายหนังซ้ำอีกครั้ง คือ

1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 17

2. การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 19

3. การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา 21

5. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม

6. การปิดประชุมรัฐสภา

7. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 132

8. การปรึกษาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่าง พ.ร.บ.ใหม่

9. การพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรา 147

10. การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 155 และมาตรา 165

11. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

12. การแถลงนโยบาย

13. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม

14. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา

15. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256

และ 16. กรณีอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

อำนาจหน้าที่ “ส.ว.” ตามมาตรา 156 ซึ่งกำหนดไว้ 16 ประการ แต่ไม่มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

เท่ากับว่า ในวันพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” วันที่ 17 ตุลาคมนี้นั้น “สภาล่าง” จะถกกันเพียวๆ ดวลเดือดกันระหว่าง “ซีกรัฐบาล” กับ “ขั้วฝ่ายค้าน”

ไม่มี “วุฒิสมาชิก” คอยเป็นตัวช่วย โอกาสถูกน็อกตาตั้งกลางสภามีไม่ใช่น้อยๆ เนื่องจากรัฐบาล “ตู่ 2/1” ดังที่ทราบว่า “เสียงปริ่มน้ำ”

โดยธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง หากรัฐบาลแพ้โหวต พ.ร.บ.งบประมาณฯ นายกรัฐมนตรีคือ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก” สถานเดียว

 

รัฐบาล “ตู่ปริ่มน้ำ” หัสเดิมมีเสียงข้างมากอยู่ประมาณ 151-153 ที่นั่ง ก่อนหน้านี้ “2 พรรคเล็ก” กระโดดค้ำถ่อไปเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” เสีย 2 คน เหลือเสียงสนับสนุนอยู่เพียง 150 คน

หักลบกลบชื่อ ประธานที่เคารพ “ชวน หลีกภัย” ไป 1 ที่นั่ง เหลือราว 249 เสียง ตัวเลขใกล้เคียงกับฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ 248 ที่นั่ง

บังเอิญว่า 3 เสียงของฝ่ายค้าน เกิดแผ่นเสียงตกร่อง

1. “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าสภาไม่ได้

2. “นางจุมพิตา จันทรขจร” ส.ส.เขต 5 นครปฐม อนาคตใหม่ ไขก๊อกออกจาก ส.ส. ต้องเลือกตั้งซ่อม

3. “นายนวัธ เตาะเจริญสุข” ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย โดนแจ๊กพ็อตสิ้นสมาชิกภาพ

เสียงสนับสนุนรัฐบาล “บิ๊กตู่” จึงปริ่มน้ำ ปิ่มใจจะขาดอยู่แค่ 2-3 ที่นั่ง ระดับนี้ฝนจะตก ขี้จะแตก แม้จะเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ก็ต้องอั้นเอาไว้ เพื่อร่วมโหวต พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคลุกวงใน กระจายเป็นวงกว้างว่า ซีกรัฐบาลเห็นหนทางแห่งชัยชนะก้าวข้ามภาวะคับขันในศึก พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยฝีมืออันเหลือรับประทานของ “กลุ่มสามมิตร”

อิทธิฤทธิ์ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองย้อนยุค “งูเห่าภาค 2” สามารถตีท้ายครัว “พรรคเพื่อไทย” ได้สำเร็จสมประสงค์

สามารถดูด ส.ส.ภาคอีสานมาเข้าคอกได้ 18 ที่นั่ง พร้อมจะเป็นเนื้อนาบุญให้ ด้วยรูปแบบต่างๆ กันในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ที่จะระเบิดขึ้นในกลางเดือนตุลาคม

รับประกันซ่อมฟรีโดย “กลุ่มสามมิตร” ว่า เสียงสนับสนุนพรรคร่วมแม้จะ “ปริ่มน้ำ” แต่ พ.ร.บ.งบประมาณของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ผ่านฉลุย