การศึกษา / หลาย ‘คำถาม’ ที่ยังไม่ได้ ‘คำตอบ’!! จาก ’38 ราชภัฏ’ ถึง ‘รมว.อุดมศึกษาฯ’

การศึกษา

 

หลาย ‘คำถาม’ ที่ยังไม่ได้ ‘คำตอบ’!!

จาก ’38 ราชภัฏ’ ถึง ‘รมว.อุดมศึกษาฯ’

 

แม้จะมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดิม และมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ตั้งขึ้นใหม่สดๆ ร้อนๆ มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาที่เคยสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งหมด โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ อว. แต่ก็ยังมีอีกสารพัดปัญหาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ล่าสุด มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง ออกมา “เคลื่อนไหว” เรียกร้องให้นายสุวิทย์ประกาศนโยบายให้ชัดๆ ว่าอยากให้จะให้ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง เดินไปในทิศทางไหน

จะให้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” หรือยังคงสถานภาพเดิม เป็น “มหาวิทยาลัยของรัฐ”

แต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้ “คำตอบ” ที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการ อว.

 

สาเหตุที่ 38 มรภ.ออกมาเคลื่อนไหว เพราะก่อนหน้านี้มี มรภ. 20 แห่ง ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ เนื่องจากสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบฯ ขาดไป 406.69 ล้านบาท

ทำให้ไม่มีงบฯ มากพอที่จะจ่ายเงินเดือนให้พนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 1 หมื่นคน ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้

ส่วนสาเหตุที่สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ ให้ มรภ. 20 แห่ง ต่ำกว่ารายจ่ายจริง เนื่องจากการคำนวณเพื่อนำมาจัดสรรเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนไป โดยใช้ข้อมูลของปี 2561 เป็นฐานการคิดงบฯ ปี 2562 ซึ่งมหาวิทยาลัยยังทำข้อมูลการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยไม่แล้วเสร็จ และเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเบิกเฉพาะเงินเดือนที่มีคนครอง โดยยังไม่ได้เบิกส่วนที่เป็นสวัสดิการ

จึงทำให้ข้อมูลในการคำนวณเพื่อใช้จัดสรรงบฯ ต่ำกว่าความเป็นจริง

ที่ผ่านมา มรภ.บางแห่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยนำเงินรายได้ที่มีรายการใช้จ่ายอยู่แล้ว จ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานไปก่อน

พร้อมกับทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ อว.ให้เร่งแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้น มรภ.หลายแห่งอาจมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย

ซึ่งสำนักงบประมาณได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบฯ กลางเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว!!

 

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่มีนายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ และประธาน ทปอ.มรภ.ได้เตรียมหารือรัฐมนตรีว่าการ อว.ว่าควรจะกำหนดนโยบายพัฒนามหาวิทยาลัยกลุ่ม มรภ.ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทำงานได้ตรงจุด และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายด้วย

โดยมอบหมายให้คณะทำงานศึกษาปัญหาและข้อเสนอด้านการบริหารจัดการ มรภ.ของ ทปอ.มรภ.ที่นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มรภ.นครราชสีมา เป็นประธาน จัดทำข้อเสนอต่อนายสุวิทย์ เนื่องจาก มรภ.ทั้ง 38 แห่ง มีสถานะเป็นส่วนราชการ แต่บุคลากรส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

ขณะที่วิธีจัดสรรงบฯ ของสำนักงบประมาณ เป็นแบบรายการ หรือเหมือนส่วนราชการทั่วไป ทำให้การบริหารจัดการงบฯ ขาดความคล่องตัว โดยเฉพาะการจัดสรรงบฯ เงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป ทำให้มหาวิทยาลัยประสบปัญหาในการบริหารงานบุคคลอย่างมาก

โดยกรมบัญชีกลาง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำหนดให้บริหารตามกรอบอัตราเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำนักงบประมาณเอาบัญชีถือจ่าย และผลการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 3 มาเป็นหลักการในการคำนวณเงินเดือนของบุคลากร ทำให้เกิดปัญหาเงินเดือนไม่เพียงพอจ่ายตลอดปี

ซึ่งคณะทำงานได้เสนอขอให้รัฐจัดสรรงบฯ ให้ มรภ.เป็นแบบเหมาจ่าย เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ที่คล่องตัว และยืดหยุ่นในการใช้ ทำให้การบริหารงบฯ มีประสิทธิภาพมากกว่า

โดยข้อเสนอที่สำคัญของคณะทำงาน คือรัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุน มรภ.ให้เป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ” หรือไม่ อย่างไร เพราะหากยังคงให้เป็นส่วนราชการ ก็ควรปรับให้บุคลากรกลับไปมีสถานะเป็น “ข้าราชการ” ทั้งหมด และจัดระบบบริหารราชการของมหาวิทยาลัยให้คล่องตัว

นอกจากนี้ ยังเสนอเรื่องการจัดสรรงบฯ ตามพันธกิจ ในสัดส่วนที่เหมาะสม แทนที่จะจัดสรรให้ มรภ.แต่ละแห่ง 30 ล้านบาท เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน้อยมาก และจัดสรรตามกรอบงบฯ ภาพรวมเดิม ไม่ได้จัดท็อปอัพ รวมถึงควรจัดสรรงบฯ เพิ่มสำหรับมหาวิทยาลัยที่มีผลงานดีด้วย

อีกทั้งยังเสนอเรื่องการจัดสรรงบฯ รายหัวนักศึกษา ซึ่งรัฐมีเป้าหมายผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ จึงจัดสรรงบฯ รายหัวนักศึกษาเน้นสายวิทยาศาสตร์ คือ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ หัวละ 6,000 บาท สาขาวิทยาศาสตร์ หัวละ 3,000 บาท และสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หัวละ 800 บาท แต่นักศึกษาสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แม้จะเป็นนักศึกษาครูสายวิทยาศาสตร์/คณิตศาสตร์ ก็ถูกจัดอยู่ในสายสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์

ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของ “ครู” ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ

จึงเสนอให้รัฐ “ทบทวน” การกำหนดงบฯ รายหัวของนักศึกษาใหม่ทั้งหมด!!

 

อย่างไรก็ตาม จากสารพัดปัญหาที่ ทปอ.มรภ.ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการ อว.แก้ปัญหา โดยเฉพาะอยากให้นายสุวิทย์ประกาศให้ชัดเจนว่าต้องการให้ มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตามเดิม

ซึ่งนายสุวิทย์ระบุว่า โจทย์ของ มรภ.มีความสำคัญกับรากฐานของประเทศ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่เป็นคนส่วนใหญ่ จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์การมีงานทำในศตวรรษที่ 21 ขณะที่การผลิตครูในปัจจุบัน มีโจทย์เปลี่ยนไป คุณภาพของครู และความต้องการที่ตอบโจทย์ในระดับพื้นที่ รวมถึงการที่ มรภ.จะมีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาภาพรวม เพราะบางส่วนเป็นความต้องการของท้องถิ่น บางส่วนเป็นนโยบายจากภาครัฐ

พร้อมกับมอบโจทย์สำคัญๆ ให้ มรภ. อาทิ ให้ มรภ.มีส่วนช่วยขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลหลังจากที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนกว่า 14.5 ล้านคนของ มรภ.ทั่วประเทศ จากจุดนี้จะพัฒนาเพิ่มศักยภาพคนเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้คนมีรายได้น้อย มีรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนประเด็นที่จะให้ มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือเป็นส่วนราชการนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้ต้องพูดถึงยุทธศาสตร์ และภารกิจที่เปลี่ยนแปลงก่อน หากยังอยู่แบบเดิมก็ไม่ตอบโจทย์…

ต้องมาดูเรื่องภารกิจกันก่อนว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร มีความคาดหวังอย่างไร จากนั้นค่อยมาคุยกันว่าจากภารกิจนี้ มรภ.จำเป็นจะต้องคล่องตัวหรือไม่ ต้องวัดผลตัวอาจารย์ มรภ.หรือไม่ รวมถึงจำเป็นหรือไม่ที่ยังเป็นส่วนราชการอยู่…

ซึ่งที่ผ่านมา นายสุวิทย์ได้ให้โจทย์ ทปอ.มรภ.ไปแล้ว โดยให้คลี่ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ออกมาดูว่ามหาวิทยาลัยใดที่มีปัญหาจริงๆ จะต้องเยียวยาอย่างไร ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ

ขณะที่ มรภ.ที่อยู่อันดับท็อป จะดึงขึ้นมาพัฒนาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ มรภ.ที่เหลือค่อยๆ ขยับขึ้นมา เป็นการมองจากภายในว่าจะต้องจัดลำดับชั้นของ มรภ.และดูว่ากลุ่มที่ไม่ไหวจริงๆ จะทำอย่างไร ยังไม่อยากพูดถึงการยุบรวม แต่กำลังมองภารกิจเป็นหลัก

แม้จะ “ไม่มี” คำตอบที่ชัดเจน ให้กับ “คำถาม” ที่ 38 มรภ.โยนให้…

แต่จากที่บอกว่า “หากยังอยู่แบบเดิมก็ไม่ตอบโจทย์” หรือ “ต้องมาดูเรื่องภารกิจกันก่อนว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร” หรือ “มรภ.จำเป็นจะต้องคล่องตัวหรือไม่”…

  ก็อาจจะเป็นคำตอบกลายๆ ให้ 38 มรภ.ต้องไปคิดให้หนัก ว่าจะยังคงความเป็นส่วนราชการ คือ “มหาวิทยาลัยรัฐ” หรือควรจะเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ”!!