จรัญ มะลูลีม : “สันติภาพ-ความขัดแย้ง” บนพื้นที่พิพาทแคชเมียร์

จรัญ มะลูลีม

แคชเมียร์ความขัดแย้งที่ถูกลืม (1)

สงครามจีน-อินเดียปี 1962

สงครามจีน-อินเดียปี 1962 เป็นสงครามระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1962

ทั้งนี้ อินเดียยืนกรานว่าดินแดนอักซัย ชิน (Aksai Chin) เป็นส่วนของผืนแผ่นดินแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียปกครองอยู่ในขณะที่จีนยืนยันเช่นเดียวกันว่าอักซัย ชิน เป็นส่วนหนึ่งของซินเจียง (Xinjiang) สงครามแย่งชิงพื้นที่ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม – 21 พฤศจิกายน ปี 1962

พื้นที่ที่เป็นสนามรบอยู่ที่อักซัย ชิน และนอร์ทอีสต์ ฟรอนเทียร์

ผลของสงครามจีนได้รับชัยชนะดินแดนอักซัย ชิน ตกมาอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน

 

สงครามอินเดีย-ปากีสถาน ปี 1965

สงครามปี 1965 ระหว่างอินเดีย-ปากีสถานเกิดขึ้นเมื่อปากีสถานเริ่มปฏิบัติการเหนือเส้นหยุดยิงในดินแดนแคชเมียร์ที่อินเดียยึดครองอยู่อย่างลับๆ

สงครามยุติลงโดยสหประชาชาติเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและมีการประกาศหยุดยิง ผลที่ตามมาจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่เคยมีอยู่แต่เดิมแต่อย่างใด

จากมุมมองการระหว่างประเทศ สงครามครั้งนี้ถูกมองในบริบทของสงครามเย็นครั้งใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในอนุทวีป

 

สงครามอินเดีย-ปากีสถานปี 1971

เป็นสงครามที่มีการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงระหว่างอินเดียกับปากีสถานในช่วงสงครามการปลดปล่อยบังกลาเทศในปี 1971

ผลของสงคราม ปากีสถานประสบความพ่ายแพ้ ทหารปากีสถานยอมแพ้ในปากีสถานตะวันออกหรือบังกลาเทศในปัจจุบัน

มีการลงนามข้อตกลงสิมลา (Simla Agreement) ระหว่างสองประเทศ

 

ข้อตกลงสิมลา

ข้อตกลงสิมลาระหว่างอินเดีย-ปากีสถานมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1972 ทั้งนี้ ในข้อตกลงดังกล่าวได้มีการนิยามถึงเส้นควบคุมที่แยกระหว่างอินเดียกับปากีสถานในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ตามพื้นฐานสองต่อหนึ่ง

เส้นควบคุมกลายเป็นเส้นทางที่มีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

และพบว่ามีการใช้อาวุธต่างๆ ตอบโต้กันอยู่เนืองๆ ระหว่างกองทหารอินเดียกับกลุ่มนักต่อสู้กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในแคชเมียร์

 

สงครามการ์กิลในปี 1999

ตอนกลางของปี 1999 นักต่อสู้และทหารปากีสถานจากดินแดนแคชเมียร์ของปากีสถานได้แทรกซึมเข้าสู่รัฐจัมมูและแคชเมียร์

โดยในช่วงแรกผู้รุกเข้ามาสามารถรุกคืบไปได้ไกลอันเนื่องมาจากอากาศที่หนาวเย็นอย่างรุนแรงและเข้าครอบครองภูเขาที่ไม่มีผู้คนจากเทือกเขาการ์กิลเอาไว้ได้

กองทหารปากีสถานและนักต่อสู้ที่รวมตัวกันต้องการจะตัดขาดเส้นทางเดียวที่มีอยู่ระหว่างหุบเขาแคชเมียร์กับรัฐลาดักห์ด้วยการปิดเส้นทางที่เป็นถนนหลวง

ผลที่ตามมาก็คือความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างทหารอินเดียและทหารปากีสถาน ในท้ายที่สุดอินเดียได้ดินแดนการ์กิลคืนมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใดๆ หลังสงคราม

 

กลุ้มก้อนของนักต่อสู้

การต่อต้านการบริหารของอินเดีย การเลือกตั้งในรัฐที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการเข้ามาครอบครองดินแดนของทหารอินเดียทำให้เกิดการรวมกลุ่มของนักต่อสู้ในแคชเมียร์ที่ลุกขึ้นสู้กับฝ่ายบริหารของอินเดีย

มีการจัดตั้งกลุ่มนักต่อสู้มุญาฮิดีน (Mujahideen) หรือนักรบศาสนาขึ้นมา

ต่อสู้กับกองทหารของอินเดียยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มเหล่านี้ก็ได้แก่

กลุ่มฮิซบุลมุญาฮิดีน (Hizbul Mujahideen) ลัชการี ฎอยยิบะฮ์ (Lashkar-e-Toyeba) และกลุ่มปลดปล่อยจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir Liberation Front)

อันเป็นกลุ่มที่เน้นความเป็นอาณาจักรนิยม (Secular) ผสมกับชาตินิยม (Nationalist)

 

การประชุมฮุรรียาตของทุกพรรคการเมือง

การประชุมฮุรรียาตของทุกพรรคการเมือง (All Parties Hurriyat Conference) หรือ APHC

เป็นการประชุมของพรรคการเมือง 26 พรรค ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมในวันที่ 9 มีนาคม ปี 1993

อันเป็นการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันของพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเอกราชของแคชเมียร์

 

กระบวนการสันติภาพ

หนึ่งในข้อเสนอว่าด้วยสันติภาพในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 เป็นการปูทางไปสู่กรอบการประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย

กองกำลังขนาดใหญ่ของฮิซบุล มุญาฮิดีน ประกาศการหยุดยิงแต่ฝ่ายเดียว หลังจากมีการเจรจาอย่างลับๆ กับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของอินเดีย

ข้อเรียกร้องของฝ่ายนักต่อสู้แคชเมียร์ การประกาศให้แคชเมียร์เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งและการเจรจาสามฝ่ายเกิดขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับผลตอบรับจากอินเดีย

ในปี 2003 การหยุดยิงตามเส้นการควบคุมถูกประกาศอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การเจรจาระหว่างอินเดียกับรัฐบาลปากีสถาน ซึ่งเริ่มต้นในปี 2004

ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นนำไปสู่การค้าขายชายแดนและการเคลื่อนไหวของผู้คนตามชายแดนของสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเจรจาต้องมาหยุดชะงักในปี 2008 เมื่อเมืองมุมไบ (Mumbai) ถูกโจมตี ซึ่งปากีสถานยอมรับว่าเป็นผู้เริ่มโจมตีก่อนและเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนที่มาจากปากีสถาน การกระทำดังกล่าวนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มการเจรจาที่เป็นไปในทางบวกเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2012 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีมาน โมฮันซิง (Manmohan Sing) และประธานาธิบดีอซีฟ อะลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) จัดการเจรจาระดับสูงขึ้นในรอบ 7 ปี

 

2016 ปีแห่งความไม่สงบ

มีการประท้วงจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากบุรฮาน วานี (Burhan Wami) นักต่อสู้ของปากีสถานถูกสังหารโดยทหารอินเดีย

การประท้วงเพื่อต่อต้านอินเดีย รวมทั้งความรุนแรงที่มาจากการรวมตัวของฝูงชน การขว้างปาก้อนหิน การประท้วงโดยทั่วไปและการโจมตีของกลุ่มก้อน นักต่อสู้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ตำรวจและทหารของอินเดียใช้กำลังทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกระสุนยาง แก๊สน้ำตา รวมทั้งปืนไรเฟิล

นำไปสู่การเสียชีวิตของพลเรือนมากกว่า 85 คน โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13,000 คน

 

พลวัตของความขัดแย้ง

ประเด็นความขัดแย้งแคชเมียร์ย้อนกลับไปตั้งแต่มีการแยกอินเดียออกเป็นอินเดีย-ปากีสถานในปี 1947 เป็นความขัดแย้งทางดินแดนระหว่างสองประเทศ โดยหนึ่งในสามของดินแดนของรัฐจัมมูและแคชเมียร์เดิมในเวลานี้อยู่กับปากีสถานและสองในสามอยู่กับอินเดีย

อินเดียอ้างดินแดนทั้งหมดที่เป็นรัฐมหาราชาจัมมูและแคชเมียร์ว่าเป็นของตนตามข้อตกลงการรวมรัฐแห่งปี 1947

ส่วนปากีสถานอ้างดินแดนแคชเมียร์ อันเนื่องมาจากคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ในขณะที่จีนอ้างดินแดนแห่งหุบเขาชัคซัน (Shaksans Valley) และอักซัย ชิน

ตามหลักการของการแยกประเทศ ตามพระราชบัญญัติการเป็นเอกราชของอินเดียแห่งปี 1947 รัฐมหาราชาแคชเมียร์มีอิสระที่จะเข้าร่วมกับอินเดีย หรือปากีสถานก็ได้

แม้ว่าในเบื้องต้นมหาราชา ฮารี ซิง (Hari Singh) ซึ่งเป็นชาวฮินดู ต้องการให้แคชเมียร์เป็นรัฐเอกราชแต่ในที่สุดมหาราชาก็นำเอาแคชเมียร์รวมกับอินเดียเพื่อจะได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากอินเดียและสัญญาที่ว่าจะให้มีการลงประชามติ

ในท้ายที่สุดอินเดียปฏิเสธการลงประชามติและไม่ต้องการให้มีการโต้อภิปรายระหว่างประเทศในเรื่องนี้

อิสลามมีบทบาทสำคัญอยู่ในความขัดแย้งนี้เช่นกันเมื่อปากีสถานอ้างว่าในรัฐจัมมูและแคชเมียร์คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

ในท้ายที่สุดการต่อสู้โดยกลุ่มนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวแคชเมียร์จะคงอยู่ต่อไป ตราบใดที่รากเหง้าของความขัดแย้งยังไม่อาจแก้ไขได้