เพ็ญสุภา สุขคตะ / นานาพิธีขอฝน : จากปู่เมฆ พญาปลาช่อน แห่ช้างเผือก ถึงพระพุทธคันธารราษฎร์

ความพยายามอย่างยิ่งยวดของมนุษย์ตั้งแต่โบราณกาลจวบปัจจุบัน หนีไม่พ้นการทำทุกอย่างให้ฝนตก รู้ทั้งรู้ว่าการที่ฝนจะตกหรือไม่นั้นแท้จริงเป็นเรื่องของปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เกินอำนาจของมนุษย์ที่จะควบคุม

แต่จักทำเช่นไรเล่าในเมื่อถึงรอบของวสันตฤดู เกิดฝนฟ้าไม่ตกขึ้นมา จะให้มนุษย์ยอมจำนนง่ายๆ กระนั้นหรือ

ในที่สุดมนุษย์จึงประดิษฐ์พิธีกรรมขอฝนขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ โยงสารพัดความเชื่อทั้งผี พราหมณ์ และพุทธ

ที่บางครั้งก็ผสมผสานกลมกลืนกัน

บ้างเคียงข้างขนานกัน

บ้างก็ไปคนละทิศละทาง

 

ฆ้องกบ ปั้นเมฆ พญาแถน จิบอกไฟ

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ใช้กลองมโหระทึกที่ทำหน้ากลองสำริดเป็นรูปกบขี่ซ้อนกัน 2-3 ตัว เป็นนัยแห่งการผสมพันธุ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวไทนิยมเรียก “ฆ้องกบ” ตีให้ดังๆ ถึงฟากฟ้า ตามความคาดหวังที่ว่าทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกบร้อง ฝนก็มักจะพรั่งพรูตามมา

ก่อนสมัยทวารวดีที่แหล่งโบราณคดีโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี นครสวรรค์ พบประติมากรรมสำริดที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง ชาวบ้านเรียก “ปู่เมฆ”

เป็นรูปชายยืนยกมือขึ้นสู่ท้องฟ้า กางขาเห็นองคชาติ ปั้นพร้อมกับสัตว์เลื้อยคลานประเภทจระเข้หรือตะกวด ทั้งคู่เป็นสัญลักษณ์ของ “พิธีกรรมปั้นเมฆ”

กล่าวคือ กลุ่มคนแถบลุ่มเจ้าพระยาเมื่อ 2,500 ปีก่อนใช้วิธีให้ปู่เมฆและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำช่วยกันยืนเรียกฝน

ควบคู่กันไปกับแนวคิดของชาวอุษาคเนย์สองฝั่งแม่โขงก็เชื่อว่า บนฟ้านั้นมี “พญาแถน” สถิตอยู่ หากปีไหนฝนฟ้าไม่ตกแสดงว่าคนในสังคมประพฤติไม่ดี “ผีแถน” จึงเคืองขัด ต้องจัดพิธีขอขมาด้วยการจุดบ้องไฟ หรือ “จิบอกไฟ” ขึ้นไปบอกกล่าวขอให้พญาแถนช่วยบันดาลดลน้ำฝน

ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงพิธีแห่นางด้ง แห่นางแมว แห่นางแล้ง ที่เป็นความเชื่อชุดคล้ายๆ กัน

ทั้งหมดนี้คือพิธีขอฝนแบบดั้งเดิม ก่อนจะมีศาสนาพราหมณ์และพุทธ

 

พญาปลาช่อน และแห่ช้างเผือก

จากความเชื่อในปฏิสัมพันธ์ของอำนาจเหนือธรรมชาติ ระหว่างสัตว์เลื้อยคลานพวกกบ คางคาก นาค จระเข้ กับท้องฟ้าพญาแถน ปู่เมฆ ตามลัทธิวิญญาณนิยม (Animism) ต่อมาเมื่อชาวอุษาคเนย์ยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู จึงเริ่มรับความเชื่อเรื่องพระพิรุณเทพผู้เป็นเจ้าแห่งสายฝนเข้ามา จึงเกิดคัมภีร์พระพิรุณศาสตร์ขึ้นในราชสำนัก

ต่อมาได้มีการปรับพระพิรุณเทพให้เป็นหนึ่งในท้าวจัตุโลกบาล 4 ตามที่ศาสนาพุทธยอมรับ คือพระวิรูปักษ์ที่ทรงนาคให้น้ำเป็นพาหนะ รวมทั้งยังมีปัณชุนเทพที่ขี่มอมเป็นพาหนะ ก็เป็นสัญลักษณ์ของก้อนเมฆและสายฝน

อย่างไรก็ดี คติฮินดูหรือกึ่งพราหมณ์กึ่งพุทธก็ยังคงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างห่างไกลจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความใกล้ชิดผูกพันกับพระพุทธศาสนามากกว่า สังคมอุษาคเนย์จึงมีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการขอฝนด้วยการอิงพุทธประวัติมาใช้แทนที่ความเชื่อเรื่องเทพองค์ต่างๆ ของฮินดู

ทว่า ยุคแรกๆ ก็ยังคงใช้ “รูปสัตว์” มาเป็นสัญลักษณ์อยู่เช่นเดิม ยังไม่ได้ใช้รูปเคารพของพระพุทธปฏิมา

คาถาเรียก “พญาปลาช่อน” จึงถือกำเนิดขึ้นบนรอยต่อระหว่าง “ผี-พุทธ” ไม่ใช่ “พราหมณ์-พุทธ” ซึ่งพบอย่างแพร่หลายทั้งในภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน

บางภูมิภาคเรียกชื่อปลาช่อนแตกต่างไปตามสำเนียงท้องถิ่นว่าปลาข่อ ปลาก่อ ฯลฯ

เรื่องพญาปลาช่อนเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธอย่างไร

มีการอ้างอิงว่าเป็นคติที่มาจากชาดกเรื่อง “มัจฉราชจริยา” ครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน ช่วงนั้นน้ำในหนองเหือดแห้ง พญาปลาช่อนผู้บำเพ็ญสัจจบารมีมาอย่างยาวนาน จึงได้ตั้งสัจจาธิษฐานว่าชั่วชีวิตของพระองค์ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยคำสัจอันนี้ ขอให้ฝนตกเพื่อช่วยญาติปลาทั้งหลายให้พ้นภัยจากนกต่างๆ ที่จะลงมาจับกิน

ดังความในมัจฉราชจริยา ซึ่ง ดร.ชัปนะ ปิ่นเงิน นักจารึกวิทยาได้ทำการปริวรรตจากใบลานวัดพระยืน จังหวัดลำพูน จารในปี 2469 ว่า

“เราระลึกธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงปรมัตถธรรม ได้กระทำสัจจกิริยา ซึ่งเป็นธรรมอันยั่งยืนเที่ยงแท้ในโลก ตั้งแต่เราจำความได้ ตั้งแต่เรารู้เดียงสาได้มาจนถึงบัดนี้ เราไม่รู้สึกว่าจงใจเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเมฆจงทำฝนห่าใหญ่ให้ตก แน่ะเมฆ ท่านจงคำราม จงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก จากความกระหายของกา”

คำตรัสนี้พระพุทธองค์ทรงเล่าต่อชาวเมืองแห่งหนึ่งในช่วงฝนแล้ง โดยยกขึ้นเป็นอุทาหรณ์เพื่อเตือนสติให้มนุษย์มีสัจจบารมี และไม่เบียดเบียนกัน

ชาวพุทธยุคประมาณ 700 ปีที่ผ่านมา (หรืออาจก่อนหน้านั้น เนื่องจากไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเริ่มเมื่อไหร่) จึงได้จำลองเหตุการณ์ดังกล่าวมาสวด “พระธรรมปลาช่อน” เพื่อเรียกน้ำฝน

นอกเหนือจากการนำปลาช่อนมาเป็นกุศโลบายในการท่องคาถาเพื่อขอฝนแล้ว ในบางพื้นที่ที่เป็นป่าดงดิบอุดมสมบูรณ์ด้วยช้าง ยังใช้รูปแบบ “ประเพณีแห่ช้างเผือก” อีกด้วย

ดังเช่นกลุ่มชาวพุทธกะเหรี่ยงแถบลุ่มน้ำลี้ ในจังหวัดลำพูน (มีพื้นฐานเดิมแบบ “ผี-พุทธ” ไม่ใช่ “พราหมณ์-พุทธ” อีกเช่นกัน)

ความเป็นมาของการ “แห่ช้างเผือก” เกิดขึ้นจากการอุปมาอุปไมยถึงช้างในป่าที่ชาวกะเหรี่ยงใช้งานเหล่านั้น เสมือนดัง “พญาช้างปัจจัยนาเคนทร์” ตอนที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงมอบให้แก่ชาวเมืองกลิงครัฐที่มาทูลขอ เหตุที่เมืองกลิงครัฐบังเกิดความแห้งแล้ง

การมอบช้างคู่บ้านคู่เมืองของพระเวสสันดรโดยปราศจากความหวงแหนเพื่อดับทุกข์ให้แก่บุคคลอื่น สะท้อนถึง “ปรมัตถทานบารมี” ซึ่งเป็นบารมีในขั้นอุกฤษฏ์ ครั้นเมื่อชาวกลิงครัฐได้รับช้างเผือกไปแล้ว ฝนฟ้าจึงตกต้องตามฤดูกาล ในที่สุดเจ้าเมืองกลิงครัฐได้นำพญาช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืนแด่พระเจ้าสญชัย พระราชบิดาของพระเวสสันดร ปรากฏว่าได้เกิดฝนห่าแก้ว หรือ “ฝนสัตตรัตนธารา” โปรยปรายทั่วเมืองเชตุดร แคว้นสีพี

สมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย และครูบาอภิชัยขาวปี สองตนบุญสำคัญแห่งเมืองลำพูนยังมีชีวิตอยู่ ท่านทั้งสองจะเป็นผู้นำชาวกะเหรี่ยงอำเภอทุ่งหัวช้าง บ้านโฮ่ง และลี้ นำช้างเผือกจากป่าออกแห่รอบมาทำพิธีขอฝน ในช่วงที่ชาวบ้านกำลังขุดเหมืองฝาย ต่อมาช้างหายากชาวบ้านจะใช้รูปปั้นช้างมาแห่แทน

ทั้งคาถาพญาปลาช่อนและประเพณีแห่ช้างเผือกนี้ ชาวล้านนากำหนดให้มีขึ้นในเดือนเก้าเหนือ คือราวเดือนกรกฎาคม ช่วงก่อนเข้าพรรษา เพราะเป็นฤดูกาลที่ชาวนาจะต้องหว่านกล้า

แต่อาจทำในเดือนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกันเมื่อเกิดภาวะจำเป็น

 

พระพุทธคันธารราษฎร์ พระสุภูติ

มาถึงยุคที่ใช้พระพุทธปฏิมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อการขอฝนกันบ้าง ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในราชสำนัก

โดยทางภาคกลางใช้พระพุทธปฏิมาอยู่ 2 รูปแบบคือ พระพุทธคันธารราษฎร์ (เขียนแบบสันสกฤต หากเขียนแบบบาลีจะเป็นคันธารราฐ หรืออาจเรียกคันธาระ Gandhara) และพระสุภูติ

พระพุทธคันธารราษฎร์ เป็นพระพุทธรูปแสดงอาการพระหัตถ์ขวายกขึ้นกวัก พระหัตถ์ซ้ายหงาย ชื่อนี้อย่าเพิ่งสับสนกับพระพุทธรูปสมัยคันธารราษฎร์ที่มีพุทธศิลป์แบบกรีกสร้างเมื่อราว พ.ศ.600 ของอินเดีย

ด้วย “พระพุทธคันธารราษฎร์” ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เป็นชื่อเฉพาะของพระพุทธรูปปางขอฝน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับแคว้นคันธาระด้วยเช่นกัน

ปรากฏอยู่ใน “นิทานพระพุทธคันธารราษฎร์” แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตีพิมพ์ในหนังสือ “วชิรญาณวิเศษ” เล่มที่ 4 เดือนกรกฎาคม ร.ศ.108 (พ.ศ.2433)

กล่าวถึงเรื่องฝนแล้งในยุคพุทธกาลว่า

“เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันในเมืองสาวัตถี ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาแห้งทั่วทั้งเมือง น้ำในลำธารห้วยคลองหนองบึงทุกแห่งก็แห้ง จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคน้ำก็แห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายก็ได้ความลำบากด้วยฝูงกามาจิกกินเป็นอาหาร ต้องมุดซ่อนอยู่ในตม ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงบิณฑบาตเห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระหฤทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทําภัตกิจแล้วจึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าอุทกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) มาถวาย เมื่อทรงรับผ้ามา ชายส่วนหนึ่งนั้นทรง (นุ่งท่อนล่างแบบสบง) ส่วนหนึ่งนั้นตระหวัดขึ้นบนพระอังสประเทศ (บ่า) เสด็จยืนที่ฝั่งสระแสดงพระอาการ พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองน้ำฝน ขณะนั้นฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงก็มีความชื่นชมยินดีกล่าวคําสรรเสริญต่างๆ”

ที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ เป็นคำอธิบายว่าทำไมพระพุทธคันธารราษฎร์จึงทำท่ายกมือเรียกฝนข้างหนึ่ง และทำท่าหงายอีกข้างหนึ่ง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับแคว้นคันธาระอยู่นั่นเอง

รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายต่อว่า ราวสองร้อยปีภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ในแคว้นคันธาระ พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทราบเรื่องดังกล่าวก็ทรงเลื่อมใส โปรดฯ ให้สร้างพระพุทธปฏิมากรมีอาการอย่างจะสรงน้ำ ทำท่าเรียกฝน ครั้นเมื่อปีใดฝนแล้งก็โปรดฯ ให้เชิญพระพุทธปฏิมากรมาตั้งบูชาเพื่อขอฝน จากนั้นฝนก็ตกลงมาตามพระราชประสงค์ ภายหลังจึงสร้างต่อกันมา นิยมเรียกว่า พระพุทธคันธารราษฎร์

ด้วยเหตุนี้ในราชสำนักสยามจึงมีการสร้าง “พระพุทธคันธารราษฎร์” ขึ้น 2 องค์

องค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 1 กับอีกองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 อาศัยเหตุที่ความเป็นมาเรื่องการขอฝนนั้นเกี่ยวข้องกับแคว้นคันธาระ พุทธศิลป์ของพระปางขอฝนจึงจงใจสร้างให้มีลักษณะละม้ายกับศิลปะกรีกตามอย่างพระพุทธรูปสมัยคันธาระด้วยเช่นกัน

พระพุทธคันธารราษฎร์ถือว่ามีความสำคัญยิ่งเพราะยังเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

กรณีของพระสุภูติ หนึ่งในอสีติสาวก ผู้มีความเป็นเลิศในด้าน “ผู้มีปรกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส และผู้เป็นทักขิไณยบุคคล” นั้น ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วไปเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับพระกัจจายนะ พระอานนท์ หรือพระสารีบุตร แต่กลับเป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวพุทธมหายานในนาม พระโพธิสัตว์สุภูติ

พระสาวกสุภูติ กลายมาเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการขอฝนในราชสำนักสยามได้อย่างไร เนื้อที่ฉบับนี้ไม่พอเสียแล้ว โปรดติดตามอ่านฉบับหน้า

พร้อมด้วยเรื่องราวความเป็นมา “พระเจ้าฝนแสนห่า” กับการบูชา “เสาอินทขีล”