คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “คเณศโยคีนทราจารย์” นักบุญแห่งพระคเณศอีกองค์หนึ่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งไปเยือนอินเดียเนื่องในโอกาสคเณศจตุรถีของปีนี้ ซึ่งเป็นการไปอินเดียครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว แม้จะเดินทางไปที่เดิมๆ อยู่บ้าง แต่ก็มีอะไรใหม่ๆ ให้ได้ค้นพบเสมอ

รอบนี้ผมเดินทางจากเมืองไทยบินตรงไปยังเดลี และนั่งเครื่องต่อจากเดลีไปยังเอารังคบาด เพื่อไปชมกลุ่มถ้ำอชันตาและเอลโรลาอันมีชื่อเสียง ก่อนจะไปยังปูเน่และมุมไบเพื่อร่วมงานคเณศวิสรชันหรืองานส่งเสด็จพระ ตามลำดับ

ผมได้เคยเขียนแล้วว่า ในรัฐมหาราษฎร์ที่ผมไปเยือนนั้นเป็นศูนย์กลางของนิกาย “คาณปัตยะ” หรือนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นพระเจ้าสูงสุด โดยมีนักบุญโมรยา โคสาวี (Morya Gosavi) เป็นผู้เผยแผ่ ท่านมีชีวิตในราวคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 (ยังเป็นที่ถกเถียง)

นิกายที่นับถือพระคเณศนี้ มีคัมภีร์ปุราณะสำคัญของนิกายตนเองสองเล่ม คือ คเณศปุราณะ และมุทคลปุราณะ แต่ผมเพิ่งทราบว่าเขายังนับเอาคัมภีร์พรหมปุราณะและพรหมาณฑะปุราณะเป็นปุราณะสำคัญของนิกายด้วย

เนื่องจากนิกายของพระคเณศเป็นนิกายเล็กๆ และแพร่หลายอยู่ในท้องถิ่น จึงไม่ใคร่เป็นที่ทราบและรับรู้ของคนทั่วไป ข้อมูลต่างๆ ก็น้อยนิดผิดกับนิกายอื่นๆ นักบวชหรือประมุขก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอย่างสากลเหมือนท่านผู้นำนิกายอื่น

ดังนั้น การไปเยือนอินเดียจึงเป็นโอกาสที่ผมจะได้พบธรรมเนียมและความรู้ซึ่งหาไม่ได้ในหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต

ซึ่งมักได้ค้นพบอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยบังเอิญ ถ้าพูดให้ดูโอเวอร์คือเทพจัดสรรให้นั่นแหละครับ

 

สามสี่ปีก่อน หลังจากที่ได้ลองค้นดูว่าสถานที่สำคัญของท่านโมรยา โคสาวีอยู่ที่ไหน ผมกับคุณนเรนทร์ ดูเบย์ ซึ่งเป็นเจ้าของทัวร์ผู้พาผมไปอินเดีย ก็มุ่งไปเมืองจิญจาวัฑอันเป็นที่ตั้งอาศรมของท่านโมรยา

ครั้นไปถึงก็คิดเล่นๆ ว่า ในเมื่อเขาบอกว่าท่านโมรยา โคสาวีมีทายาท ก็น่าลองถามเจ้าหน้าที่เทวสถานดูว่าทายาทของท่านในปัจจุบันยังมีไหม อยู่ที่ไหน

เลยได้พบว่าทายาทของท่านยังมีอยู่และเป็นประมุขของเทวสถานสำคัญของพระคเณศ

พวกเราจึงได้มีโอกาสพบทายาทรุ่นที่สิบสี่ของนักบุญโมรยา โคสาวี คือท่านธรณีธร เทวะ (ทายาททุกคนใช้นามสกุลนี้) โดยไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน

ปัจจุบันทายาทของท่านโมรยาคือท่านมันทาระ เทวะ ซึ่งผมได้มีโอกาสพบท่านทุกครั้งที่ไปจิญจาวัฑ

 

แม้จิญจาวัฑจะเป็นสถานที่สำคัญมาก แต่ที่จริงศูนย์กลางของนิกายคาณปัตยะคือ เทวสถาน “มยุเรศวร” (Mayureshvara) ในหมู่บ้านโมเรคาว (Moregaon สันสกฤตว่า คราม) หรือหมู่บ้านนกยูงต่างหาก

ที่นั่นประดิษฐานพระคเณศนามว่า พระมยุเรศวร (เจ้าแห่งนกยูง เพราะทรงนกยูงมาปราบอสูรสินธุ) หนึ่งในอัษฏวินายกะ (สถานแห่งพระคเณศทั้งแปด)

เหตุว่า สถานที่แห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงและยกย่องอย่างสูงในคัมภีร์มุทคลปุราณะ ถึงกับเรียกขานกันว่าเป็น “ภูสวานันทโลก” หมายถึง “สวรรค์ของพระคเณศบนโลกมนุษย์”

สวรรค์ของพระคเณศมีนามว่า “สวานันทโลก” ครับ แปลว่า โลกแห่งความสุขแห่งตน

ทุกครั้งที่เราไปสักการะพระมยุเรศวร รอบระเบียงคดจะเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปต่างๆ แต่ในจุดหนึ่งเราจะพบกับรูปหล่อโลหะขนาดเท่าคนจริงของนักบวชองค์หนึ่ง มีป้ายติดไว้ว่า “ศรีคเณศโยคีนทระ” เดิมผมทราบแค่ว่าท่านผู้นี้เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งเท่านั้น

เวลาต่อมาก็ได้ทราบเพิ่มขึ้นว่า นักบวชผู้นี้มีอาราม (มัฐ) อยู่ใกล้ๆ เทวสถานมยุเรศวร แต่ก็ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน และยังมีกิจกรรมอะไรหรือไม่

 

บังเอิญครับ ปีนี้คณะของพวกเราเดินทางไปยังมยุเรศวรเช่นเคย แต่คนขับรถดันไปจอดที่ทางเข้าใหม่ ซึ่งอ้อมอีกด้านหนึ่งของเทวสถาน ไม่ใช่ทางเดิมที่เราเข้ามาเป็นสิบปี

นั่นทำให้ผมได้พบกับอาคารเก่ามีป้ายเขียนว่า “ศรีโยคีนทรมัฐ” ผมถึงกับอุทานว่า นั่นไง เจอเข้าแล้ว แต่ก็เสียใจว่าประตูอาคารนั้นปิดอยู่

เมื่อถอดใจและเข้าไปสักการะเทวสถานมยุเรศวรแล้ว ขากลับออกมา ผมและคุณนเรนทร์ก็เดินไปยังอาคารนั้นอีกครั้งด้วยหวังว่าจะมีใครสักคนเปิดประตูให้

คราวนี้ประตูเปิดอยู่จริงๆ ครับ เราชะเง้อชะแง้มองเข้าไปจนมีสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษท่านหนึ่งมาต้อนรับ ภายในเป็นที่สำหรับชุมนุมสวดมนต์ มีแท่นสักการะพระคเณศตลอดจนคุรุครูบาอาจารย์ และมีแผงวางหนังสือจำนวนหนึ่ง

ด้วยการแปลของคุณนเรนทร์ ทั้งสองท่านเล่าว่า สำนักนี้เป็นของท่านโยคีนทระ ซึ่งเป็นนักบุญอีกองค์ที่สำคัญของพระคเณศ และยังสืบสายการปฏิบัติแห่งนิกายคาณปัตยะมาจนถึงปัจจุบัน

ประมุขนิกายคนปัจจุบันคือท่านพาลวินายกะ ลาลสาเร ท่านเดินทางไปมาระหว่างเอารังคบาดและโมเรคาว แต่ในเวลาที่เราไปนั้นท่านอยู่ที่เอารังคบาด

ส่วนท่านคเณศโยคีนทราจารย์ (เรียกว่า โยคีนทระ หรือคเณศโยคีนทระก็ได้) เกิดที่หมู่บ้านอัมพิ ใกล้เทวาลัยโสมนาถ รัฐคุชราต ต่อมาเล่ากันว่า พระมยุเรศวรได้เรียกท่านให้ไปอยู่ในโมเรคาว ท่านจึงออกบวชและไปทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้พระมยุเรศวรอยู่ถึง 228 ปี (ชาวฮินดูเชื่อว่า โยคีผู้ปฏิบัติโยคะมักมีอายุยืนยาวตามแต่ความปรารถนา) บางตำนานเล่าว่าท่านได้พบกับท่านโมรยา โคสาวี และรับใช้ปรนนิบัติอยู่ยี่สิบสี่ปี

ท่านได้ประพันธ์คัมภีร์ตามคำร้องขอของพระมยุเรศวรเองชื่อ “คเณศวิชยะ” และเขียนอรรถาธิบายคเณศคีตาในนาม “ศรีมัทโยเคศวรี คณราชะ” นอกนั้นยังมีบทประพันธ์ประเภทสรรเสริญอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

เมื่ออายุมากแล้วท่านได้ตัดสินใจเข้า “สัญชีวันสมาธิ” คือการลงไปทำสมาธิในอุโมงค์ฝังศพขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้ปิดตายจากด้านบน

ปัจจุบันสถานที่สัญชีวิญสมาธิอยู่ที่ระเบียงด้านหนึ่งของเทวสถานมยุเรศวร

 

ท่านมีศิษย์สืบต่อมาได้แก่ ศรีมัทอังกุศธารีมหาราช ศรีสัทคุรุเหรัมพราชมหาราช และท่านพาลวินายกะ ตามลำดับ

อาจารย์เหล่านี้ได้ผลิตวรรณกรรมเกี่ยวกับพระคเณศไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น โยคีนทรมัฐ จึงทำหน้าที่เป็นสำนักพิมพ์ผลิตผลงานในนิกายคาณปัตยะโดยเฉพาะ ส่วนมากเป็นภาษามาราฐี สันสกฤตและฮินดี ตามลำดับ

ผมเองก็ได้ซื้อหนังสือมาจำนวนหนึ่งเพราะเห็นว่าไม่มีที่ไหนและหาได้ยาก เช่น ตำราพิธีสัตยะคเณศปูชา ซึ่งโดยปกติเราพบแต่สัตยะนารายณ์ปูชา แต่พิธีนี้กระทำกันในนิกายคาณปัตยะโดยอาศัยตำนานในพรหมาณฑปุราณะ บทสวดสวานันทะเทศสโตตระ บทสวดสกลโรคศมนาษฏกสโตตระ เป็นต้น

ดีใจที่ได้พบว่า นิกายคาณปัตยะยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ ไม่ใช่นิกายที่สูญหายเหลือเพียงในตำรา รอเวลาให้เราเข้าไปศึกษาเรียนรู้

ผมขอเวลาศึกษาเพิ่มขึ้นแล้วคงจะได้มาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

และหากการเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากพรของครูบาอาจารย์ ผมก็อยากมอบให้ทุกท่าน

ให้ผ่านพ้นวิกฤตทั้งภัยธรรมชาติและภัยเศรษฐกิจ การเมืองด้วยเถิด