อัญเจียแขฺมร์ : อลวนบุปผารัก “สีโสวัตถิ์-นโรดม”

โดย อภิญญ ตะวันออก
[email protected]

 

สมเด็จพระสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ (พระอิสริยยศล่าสุด 2547) ราชนิกุลเขมรผู้โปรดปรานการแสดง เคยเป็นนักแสดงสมทบในบทหัวหน้าเขมรแดง (พัต) ใน “ทุ่งสังหาร” (The Killing Fields) ภาพยนตร์ที่โด่งดังอย่างมากเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน

อดีตที่ปรึกษาในองค์พระมหากษัตริย์กัมพูชา รองประธานสภาสูง หนึ่งในผู้ที่จะขึ้นครองราชสมบัติสายราชนิกุลสีโสวัตถิ์ และอดีตพระสวามีในสมเด็จพระเรียมบุปผาเทวี ที่เพิ่งเสด็จทิวงคตเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา

“เจ้าชายนักแสดง” คือชื่อที่เรียกกันในวงการภาพยนตร์

แต่สำหรับ “อัปสรา” (2508) ภาพยนตร์ที่น่าจดจำสำหรับฉัน ถือเป็นผลงานที่ทึ่งในแง่วิสัยทัศน์ด้านการเมือง ศิลปะ และจารีตเขมรนิยมที่อยู่ในบุคคลผู้มีฐานะเป็นถึงพระมหากษัตริย์อย่างพระบาทนโรดม สีหนุ ผู้ทรงกำกับการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีนักแสดงบทสำคัญกว่าครึ่งมีเชื้อพระวงศ์ หรือมิฉะนั้นก็ทำงานใกล้ชิดกับพระองค์

เผยบุคลิกในแบบเสรีนิยมและจารีตอนุรักษนิยมในแบบที่เปิดเผยโดยเฉพาะในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่ดูจะไม่ทรงอิหลักอิเหลื่อที่จะเลือกหรือแสดงออก

ดังที่จากทรงเลือกพระธิดาองค์โต สมเด็จพระเรียมบุปผาเทวีมาแสดงเป็นนางละครเอก-กันทา

ขณะเดียวกันก็ทรงมอบบท “พาลี” แก่สมเด็จพระปิตุลา-พระองค์เจ้าชีวันมุนีรักษ์ โอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสีโสวัตถิ์ มุนีวงศ์ ซึ่งมีชันษาน้อยกว่าพระองค์ร่วม 14 ปี

องค์ชีวันมุนีรักษ์ สำเร็จการบินหลายระดับทั้งกองทัพอากาศกัมพูชา โมร็อกโก ฝรั่งเศส สหรัฐ และสถาบันกองทัพอากาศแห่งยูโกสลาเวีย ในปี 1969 และรับราชการแห่งกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 2499 โดยนาวาอากาศโทแห่งกองทัพอากาศเขมรภูมินทร์คือตำแหน่งสุดท้ายในปี 2512 ที่ทรงได้รับและเป็นบทบาทเดียวกับ “พาลี” นักบินทิ้งระเบิดโจมตีที่มีสมรรถนะล้ำสมัยจำนวน 4 ลำที่ประเทศมีครอบครองในภาพยนตร์ “อัปสรา” ขณะนั้น

ดูเหมือนผู้กำกับฯ จะจำลองชีวิตจริงของ “พาลี-กันทา” (*) มานำเสนอ

สมเด็จพระสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ ขณะเรีบยทหารอากาศ เครดิตภาพ : www.Khmerairforce.com

ที่น่าจดจำอีกประการ คือนักสดงสมทบอีกคนหนึ่งคือ เอกอุดมเก็ก วันดี และต่อมาได้เป็นคู่ชีวิตลำดับที่ 5 ในสมเด็จพระเรียมบุปผาเทวี

สำหรับบทกันทา-พาลี ที่เติบโตมาด้วยกันจนกลายเป็นความรักตามที่สมเด็จสีหนุทรงกำกับฯ ให้มีฉากรักโรแมนติกที่อบอวลไปด้วยธรรมชาติแห่งบรรยากาศ

แม้ว่าชีวิตจริงพระเอกจะมีศักดิ์เป็นคุณปู่เล็ก (อัยกาในที่นี้เขมรเรียกว่าตา) ที่แก่ชันษากว่าหลานนางเอกแค่ 5 ปี และนอกจากผู้กำกับฯ ซึ่งเป็นนัดดาแล้ว ต่อมายังมีฐานะเป็นพ่อตา (พระสสุระ) ของตัวพระอีกด้วย

จากนั้น การลำดับญาติแบบ “สีโสวัตถิ์-นโรดม” ยังมีให้ชมต่อคือ

สมเด็จพระสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์

มาจากที่พระน้องยาเธอพระองค์เจ้าชีวันมุนีรักษ์พระลูกยาเธอในพระมหากษัตริยานีสีโสวัตถิ์มุนีวงศ์ กุสุมานารีรัตน์เสรีวัฒนา (ครองราชย์ 1960-1970) หรือสมเด็จพระชนนีโกสะมักในสมเด็จสีหนุหัวหน้ารัฐบาลและประมุขแห่งรัฐ ซึ่งขณะนั้นใช้เวลาหลักๆ ไปกับถ่ายทำภาพยนตร์ โดยเฉพาะอัปสราที่กลายเป็นตำนานรักหนุ่มสาวแห่งชาววังเขมรินทร์ที่เกิดขึ้นระหว่างปู่เล็กชีวันมุนีรักษ์กับนัดดาบุปผาเทวี

แต่ในที่นี้ก็ยังมีบุปผาอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นโจทย์ กล่าวคือ มีเจ้าหญิงหลานนโรดม 2 ศรีพี่น้องที่นามว่าบุปผาเหมือนกัน แต่ต่างมารดา

พลันเรื่องชุลมุนแบบ “สีโสวัตถิ์-นโรดม” ก็เริ่มต้นจากจุดนั้น สำหรับเชื้อพระวงศ์เขมรินทร์ ที่มักจะจบลงด้วยการสมรสในหมู่ญาติ

หากแต่บุปผาชายาองค์แรกที่ปู่เล็กองค์ชีวันมุนีรักษ์ทรงเสกสมรสด้วยนั้น คือพระองค์เจ้าหญิงปทุมบุปผา พระธิดาพระนางเจ้าสีโสวัตถิ์ พงสานมุนี ซึ่งเป็นชายาเอกในสมเด็จนโรดม สีหนุ

ราชนิกุลหนุ่มเนื้อทองเจ้าบ่าวของวังเขมรินทร์ขณะนั้นเพิ่งจะ 27 ชันษา แต่ก็มีภริยาหม่อมสามัญชนมาแล้วถึง 2 คน คือหม่อมวันสิน (สกุลเดิมพน) แต่เลิกร้างต่อมาและมีธิดาคนหนึ่งคือ ม.จ.หญิงสีโสวัตถิ์ มุนีรังสี (2500) ต่อมาทรงได้ โลจ นาครี เป็นหม่อมคนที่ 2 และมีธิดาด้วยกันอีกคนหนึ่งคือ ม.จ.สีโสวัตถิ์ บุษบามุนี (2502) ที่น่าจะสันนิษฐานได้ว่า สมเด็จพระนางโกสะมักมิทรงโปรด ด้วยเห็นว่า พระน้องยาเธอมีศักดิ์เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

ดังนั้น เมื่อได้รับการถวายอำนาจจากสมเด็จลูกชายให้ขึ้นครองราชย์ จึงพยายามสะสางเชื้อพระวงศ์ 2 ฝ่าย “สีโสวัตถิ์-นโรดม” ให้งามสง่า

แลเป็นที่มาของการเสกสมรสระหว่างพระน้องยาเธอชีวันมุนีรักษ์กับพระราชนัดดาปทุมบุปผา ซึ่งขณะนั้นเพิ่งจะ 13 ชันษา (18 มกราคม 2494) ยังทรงพระเยาว์ คล้ายเพิ่งโกนโสกันต์/จุกไม่นาน และอ่อนชันษากว่าสวามีญาติสัก 15 ปี

แต่ก็เป็นไปตามพระประสงค์ วันเสกสมรสซึ่งกำหนดไว้ ณ วังเขมรินทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2506 เสร็จสิ้นลง พลันการลำดับวงศ์ก็ดูจะพันกันไปมา ระหว่างสวามี-องค์ชีวันมุนีรักษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอนุชาของมารดาชายา หรือน้าชาย (ปิตุลา) ของพระชายาหลาน

อีกทางหนึ่ง ก็ทรงมีฐานะเป็นพระปิตุลาของสมเด็จสีหนุ อีกด้านหนึ่งก็ทรงเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) ของพระนัดดาสีหนุ

ดองกันหลายชั้น ทั้งลำดับเก่าและลำดับใหม่

เจ้าหญิงนโรดม ปทุมบุปผา

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อองค์มุนีรักษ์ทรงเลิกร้างกับชายา-องค์นโรดม ปทุมบุปผา พระธิดาองค์ที่ 4 ในสมเด็จสีหนุ เพื่อมาสมรสครั้งที่ 4 กับพระธิดาองค์โตในสมเด็จสีหนุ-พระญาติหลานและมีสถานะต่อมาเป็นพระสสุระหรือพ่อตาถึง 2 รอบ!

เป็นตำนานรัก “กันทา-พาลี” ที่ดูจะผิดจารีตครั้งนี้ กลับมีสมเด็จภคินีเธอฝ่ายเจ้าบ่าว หรือพระอัยยิกาฝ่ายเจ้าสาวเห็นชอบ ด้วยเห็นว่า

อย่างไรก็สีโสวัตถิ์ อย่างไรก็นโรดม

แม้ขณะนั้น ชายาเอกนโรดม ปทุมบุปผา จะมีโอรส-ธิดากับสวามีปู่เล็กด้วยกันแล้วถึง 3 คน คือ ม.จ.หญิงสีโสวัตถิ์ ฉวีโสภา (2507) ม.จ.สีโสวัตถิ์ วันนุรักษ์ (2508) และ ม.จ.สีโสวัตถิ์ จันทรวิทย์ (2509) ก็ตาม

กล่าวกันว่า ทรงหย่ากันแบบพัลวัน เนื่องตอนนั้น องค์ชายาสาวเพิ่งจะให้กำเนิดโอรสองค์ที่ 3 แต่เพียงไม่กี่เดือนให้หลัง ก็มีข่าวว่า พี่พาลีกับน้องกันทา-องค์หญิงบุปผาเทวีซึ่งเป็นพี่สาวของเมียเอกกำลังตั้งครรค์เสียแล้วนี่!

เรื่องเลยโอละพ่อว่า ทำไมองค์ปทุมบุปผาจึงทรงเลิกร้างกับพระสวามีเจ้าที่มีโอรส-ธิดาขณะนั้นถึง 3 คนอย่างง่ายๆ ก็เหตุที่สวามีปู่เล็กทรงไปมีกิ๊กกับพี่สาวซึ่งตกพุ่มม่ายมาไม่นาน

และเป็นเหตุให้น้องสาวต้องมีสถานะกึ่งมีสวามีร่วมกับพี่สาวและต่อมาตกพุ่มม่าย ในขณะที่เพิ่งจะชันษา 16 หย่อนๆ เท่านั้น

แลพระชายาใหม่ที่ทรงตั้งครรภ์ต่อมาก็คลอดโอรส คือ ม.จ.สีโสวัตถิ์ ชีวันณฤทธิ์ หนึ่งปีให้หลัง เป็นของขวัญแก่สายสกุลสีโสวัตถิ์ และเพิ่มความอลวนแก่บ้านนโรดมไปอีกนิด เมื่อครานี้ปู่เล็กที่ผ่านการครองคู่มาแล้ว 3 ครั้ง ได้สมรสใหม่กับกับหลานสาว ซึ่งผ่านการครองคู่มาแล้วเท่ากัน

องค์ปทุมบุปผา (หลาน) สะใภ้หลวงจึงตกที่นั่งอีกคราเหมือนพระมารดาของเธอ องค์สีโสวัตถิ์ พงสานมุนี ซึ่งมีศักดิ์เป็นภคินีและพระสัสสุ (แม่ยาย) ในองค์ชีวันมุนีรักษ์ และยังเป็นสะใภ้เอกแห่งวังหลวงตัวจริง ที่ดูเหมือนจะทรงเจ็บปวดจากความพ่ายแพ้และสูญเสีย (ความสำคัญ) แก่ชายารองและลูกๆ ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าแค่สามัญชน และยังเป็นพวกนางละคร

ความรู้สึกดังกล่าวเคยหลอกหลอนพระองค์มาแล้ว และยังกลับมาหลอนลูกสาวสุดรักของพระนางอีกครา

ชีวันมุนีรักษ์ จากภาพยนตร์ อัปสรา จากภาพยนตร์ อัปสรา

ช่างกระไร ที่ผู้กระทำก็หาใช่ใครที่ไหน? แต่เป็นทั้งพระอนุชา (ชีวันมุนีรักษ์) และพระสวามีหลาน (สีหนุ) ซึ่งต่างมีศักดิ์สกุลทั้งสีโสวัตถิ์และนโรดมเหมือนกับพระองค์

อย่างไรก็ตาม องค์หญิงปทุมบุปผานั้น ไม่เหมือนกับพระมารดาตรงที่เธอยังตัดสินใจสมรสใหม่ทันทีที่ฉลองปีใหม่ 2510 ณ พระราชวังนั่นเอง โดยสวามีองค์ใหม่ มีอายุแก่กว่าไม่มากแต่ก็เป็นราชนิกุลสีโสวัตถิ์ คือ ม.จ.สีโสวัตถิ์ ดุษฎี กมญา

แต่ 5 ปีก็ทรงหย่า และทรงสมรสใหม่กับกรมขุนสีหนุ โสภตรา (น่าจะเป็นพระญาติและอีกราชสกุลหนึ่ง) ซึ่งดูเหมือนว่า สมาชิกทั้งหมดสูญหายในสมัยเขมรแดง

ส่วนภคนีบุปผาเทวีนั้น แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานวันเสกสมรสที่ระบุว่ามีขึ้น ณ พระราชวังเขมรินทร์ แม้จะทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขชีวิตคู่กับสมเด็จพระสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ นานร่วม 23 ปี ทรงมีโอรส-ธิดา 2 คน คือ ม.จ.ชีวันณฤทธิ์ และ ม.จ.สีโสวัตถิ์ วชิรวุธ

แต่ในที่สุดก็เลิกร้างต่อกัน

ชีวันมุนีรักษ์ จากภาพยนตร์ อัปสรา จากภาพยนตร์ อัปสรา

กระนั้น สมเด็จพระสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ ดูจะยังโปรดปรานนามว่า “กันทา” ในพระหทัยอย่างมิแปรเปลี่ยน

ซึ่งยังนามของชายาลำดับที่ 5 และเป็นหม่อมคนสุดท้ายในชีวิตสมรส (และหย่าร้าง) คือ หม่อมกันทิ รัตนา สกุลเดิมแพง หรือ หม่อมสีโสวัตถิ์ กันทิเรต โมนิก (นามแต่งตั้ง)

เธอคือมารดาผู้ให้กำเนิดธิดาผู้อยู่กับพระองค์ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต คือ ม.จ.หญิงสีโสวัตถิ์เกสัน มุนี (2536) และ ม.จ.หญิงสีโสวัตถิ์รักษา สัจจวงศ์ (2546)

เมื่อทรงทิวงคตไป

พลันโลกเสมือนจริงในภาพยนตร์ที่ทรงเคยแสดงอย่างอัปสราก็กลับมาเหมือนฝัน

และบอกเล่าความจริงหนึ่งซึ่งไม่สู้มีผู้คนรับรู้กัน


(*) ตัวละครน่าจะมาจาก “กันหา-ชาลี” ในพระเวชสันดรชาดกเรื่องชูชก