จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 27 ก.ย. – 3 ต.ค. 2562

จดหมาย

0 โปรดอ่าน

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

ผ่านถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปนั้น

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

 

เมื่อปี พ.ศ.2552 ก่อนที่การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจะเริ่มขึ้น

คณะรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

ได้ตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ

พบว่า ข้อห่วงกังวลที่ชัดเจน คือ

มีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลก (ข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวก หรือทริปส์พลัส)

ในด้านการเกษตร

จะทำให้เกิดการผูกขาดในภาคการเกษตรแบบครบวงจร

กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตของชุมชน และเกษตรรายย่อย

 

ในด้านระบบสุขภาพ

จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา

เนื่องจากการผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตรที่ยาวนานเกินกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก

การกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ

และการจำกัดการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อการสาธารณสุขของประเทศ

มีการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

ซึ่งจะทำให้มีการบริโภคมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมอย่างกว้างขวาง

มีการคุ้มครองการลงทุน

ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้

การคุ้มครองการลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนในทุกมิติ

ข้อกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกินจริง

แต่มาจากการศึกษาและวิเคราะห์ร่างความตกลงที่สหภาพยุโรปเคยเสนอมาในการเจรจาครั้งที่แล้ว

สิ่งนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายพึงตระหนักตั้งแต่ก่อนที่จะรื้อฟื้นการเจรจา

 

ในขณะนี้

นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก

เพื่อกล่าวคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

ช่วยให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล

เป็นที่ชื่นชมและถือเป็นตัวอย่างที่ดีในสายตานานาประเทศ

และหลายประเทศกำลังเดินหน้าผลักดันให้มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นเดียวกับไทย

แต่ถ้าประเทศไทยเดินหน้ารื้อฟี้นการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

โดยให้มีข้อผูกพันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน อย่างที่เคยปรากฏในร่างความตกลงฉบับก่อน

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของไทยจะได้รับผลกระทบร้ายแรง

จากราคายาที่สูงขึ้นอย่างมาก

และการถูกจำกัดการออกหรือใช้นโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

ทั้งที่ในคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์การสหประชาชาติ ที่นายกฯ ของไทยกำลังไปร่วมประชุม

ได้กล่าวย้ำความจำเป็นที่จะต้องมีการเข้าถึงยา วัคซีน และเวชภัณฑ์จำเป็นต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรม

และไม่ควรให้ความตกลงการค้าใดๆ และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ดังนั้นแล้ว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จึงควรตระหนักและคำนึงถึงประเด็นในเรื่องความสอดคล้องทางนโยบายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการสาธารณสุข

 

เมื่อเจ็ดปีที่ตอนที่เริ่มการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป

มีการอ้างความจำเป็นที่ต้องเร่งจัดทำเอฟทีเอ เพื่อไม่ให้สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาพบว่า แม้สินค้าบางรายการของไทยถูกตัด GSP ไปแล้ว

แต่การส่งออกไม่ได้ลดลง

สินค้าส่งออกบางรายการกลับเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตัวเลขการลงทุนของสองฝ่ายก็ไม่ได้ลดน้อยลง

ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนงานศึกษาและข้อมูลของทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนที่สนับสนุนให้เร่งเจรจา

เพราะอาจมีอคติ

และให้ข้อมูลตัวเลขด้านผลกระทบในกรณีที่ไทยไม่ทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่รุนแรงเกินจริง

 

การออกมาตรการรองรับหรือมาตรการเยียวยาใดๆ จากผลกระทบของเอฟทีเอ

ต้องให้ผู้ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ มีส่วนในการรับผิดชอบต่อผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาควิชาการ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลการศึกษาต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมากที่สุด

และไม่ปล่อยให้ผลได้กระจุก ผลเสียกระจาย ดังที่เคยเป็นมา

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

 

อาจจะไม่สนุก ยาวยืดยาด

แต่ควรให้เวลากับเนื้อหาจดหมายทำนองนี้บ้าง

ด้วยเป็นสิ่งที่ไม่ไกลจากตัวเราเลย

โปรดกรุณาอ่าน…