หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ / ‘เส้นทาง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - กับเสือโคร่งวัยรุ่น บางครั้งมันยอมให้เข้าใกล้ ในแววตามีแววสงสัย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เส้นทาง’

ผมบอกใครๆ เสมอว่า ผมเริ่มต้นจากการดูนก

ดูไปได้สักระยะ นกทำให้รู้ว่า พวกมันไม่ได้เป็นแค่ชีวิตอันสวยงาม มีปีกบินไป-มาอย่างอิสระเสรี

พวกมันทุกตัวมีหน้าที่ทำงานให้ธรรมชาติ

และได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ซึ่งได้รับ

สิ่งสำคัญที่พวกมันสอนคือ ปีกไม่ได้หมายถึงความอิสระ

ปีกเป็นเพียงอวัยวะ หรือเครื่องมือที่ทำให้นกเดินทางไปยังแหล่งอาหารเท่านั้น

แต่สำหรับการถ่ายรูปอย่างจริงจังนั้น ผมเริ่มกับเหล่านกน้ำ

เริ่มต้นจากบึงน้ำ และวันหนึ่งก็จากบึงน้ำไปไกล

 

ระหว่างเดินทางกลับเข้าป่า

ทุ่งนาเขียวชอุ่ม คือภาพสองข้างทางที่ผมพบเสมอ

ในทุ่งนา นกยางสีขาวจำนวนไม่น้อย ยืนเป็นกลุ่ม บางส่วนถลาขึ้นบิน

ถัดไปหน่อย ผู้ชายกำลังไถนาด้วยรถแทร็กเตอร์คันเล็ก นกยางสีขาวกลุ่มใหญ่ บ้างเดิน บ้างวิ่ง ตามรอยรถไปตลอด นานเท่าไหร่แล้วที่ผมผ่านภาพเหล่านี้ไปโดยไม่หยุดดู นานกระทั่งแทบจำไม่ได้ว่า วันเวลาที่เริ่มต้นกับเหล่านกยางเป็นอย่างไร

เพราะจุดหมายคือป่าใหญ่ หนทางอีกยาวไกล

หรือเพราะใจและกายจดจ่ออยู่กับเสือ

ผมแอบรถเข้าข้างทาง จอดลงมายืนดูภาพเบื้องหน้า

ทุ่งนาเขียวชอุ่ม และฝูงนกยาง

บ่ายวันนั้น ผมมีคำตอบให้ตัวเอง

 

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเพื่อนๆ ที่เป็นชีวิตทำงานอยู่ในธรรมชาตินั้นมีมากมาย

เพราะ “เพื่อน” ของคนมีหลายขนาด ตั้งแต่มองเห็นได้ด้วยสายตาเปล่าๆ ไปจนกระทั่งต้องใช้กล้องขยายช่วย

หรืออาจต้องมองด้วยหัวใจ

หากพูดถึงชีวิตที่มองไม่เห็น ซึ่งดูเหมือนจะยุ่งยาก

ก็มีเพื่อนอีกมาก มองเห็นได้ชัดเจน

เป็นเพื่อนใกล้ชิด อาจสนิทสนมจนชินชา

กระทั่งไม่สนใจกัน

 

นกยางกับคนทำนานั้นเป็นเพื่อนกัน

ภาพปกติที่เราเห็นคือ นกยางจำนวนมากเดินหรือบินตามรถไถอย่างใกล้ชิด

นกสีขาวๆ ที่เห็นนั้น เราเรียกรวมๆ ว่า “นกกระยาง”

ที่จริงพวกมันต่างกัน ในประเทศไทยมีนกกระยางอยู่ 19 ชนิด มีทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ บางตัวปากสีเหลือง แข้งดำ ตีนดำ บางตัวปากเหลือง แข้งดำ แต่ตีนสีเหลือง และอื่นๆ

ความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ เราใช้แยกพวกมันจากกัน

หากไม่นับว่า ครั้งหนึ่งเพื่อนสนิทคนทำนาคือควาย ผู้ช่วยงานในทุ่งนา ก่อนคนจะหันมาใช้เครื่องจักร

เพื่อนสนิทที่เหลือของคนทำนา คงจะเป็นนกยางควาย

ความพิเศษที่นกยางควายมีอยู่ในช่วงปลายๆ ฤดูร้อน ตัวผู้จะเปลี่ยนสีขนแถวหัวและคอ จากสีขาวมอๆ เป็นสีเหลืองทอง

ช่วงเวลานี้ ตัวผู้ทำตัวหล่อเต็มที่ เพราะเป็นเวลาที่นกตัวเมียจะเลือกตัวผู้ที่แข็งแรง สุขภาพดีให้ทำหน้าที่พ่อของลูก

พวกนกตัวผู้จึงพยายามแข่งกันสุดฤทธิ์

เหล่านกตัวเมียรู้ดีว่า “งาน” ที่นกต้องทำในทุ่งนา ไม่ใช่งานเบาๆ

ลูกต้องแข็งแรงสมบูรณ์

ภาพนกยางเดินตามรอยไถ

นั่นคือ “ภาพ” ที่นกกำลังทำงาน…

 

แมลงต่างๆ หนอน รวมทั้งพวกที่เรียกว่าเป็นศัตรูพืชอื่นๆ ที่อยู่ใต้ดิน ถูกพลิกขึ้นมา คนไถนามองไม่เห็น แต่เพื่อนที่อยู่ข้างหลังโผเข้าจิกอย่างว่องไว

ขณะไถนา ศัตรูพืชจำนวนมากถูกกำจัด

นั่นคล้ายเป็นภาพของเพื่อนที่กำลังช่วยเหลือกัน สนิทสนม ไม่หวาดระแวง พวกเขาคุ้นเคยกันมาเนิ่นนาน

และนกยางเหล่านี้แหละ จำนวนมากที่ต้องตาย

ตายเพราะความวางใจ

 

อาจเพราะการทำงานของนกดูเชื่องช้า มองไม่เห็นผล สู้การใช้สารเคมีไม่ได้

ในท้องทุ่งนาจึงเต็มไปด้วยสารเคมีทำนุบำรุงพืช และยาพิษฆ่าแมลง

แรกๆ มันได้ผลดี รวดเร็ว ครั้นนานๆ ไป ศัตรูพืชปรับตัวทนทานขึ้น ต้องใช้ยาพิษเข้มข้น รุนแรง จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยวิธีนี้ ศัตรูยังไม่ตาย

แต่ชีวิตที่ตายก่อน คือ เหล่านกยาง

หากไม่ตาย อาจพูดได้ว่า เลี้ยงไม่โต ไข่นกที่โดนยาฆ่าแมลง จะมีเปลือกไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่ลูกนกจะตายตั้งแต่ก่อนจะออกเป็นตัว

นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน ซ้ำซากจำเจ

เช่นเดียวกับในป่า ที่เสียงปืนยังดัง สัตว์ป่าล้มตาย แม้จะอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง

 

โลกเดินทางมาถึงวันที่คนกับสัตว์ป่า คล้ายจะอยู่ร่วมกันแบบไร้ความสุข

แหล่งที่นกปากห่างอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้คนในบริเวณนั้นอย่างสาหัส

แม้ว่าในแต่ละวัน นกปากห่างจะกำจัดหอยเชอรี่ศัตรูข้าวได้เป็นตัน

ชาวไร่อ้อย ไร่มัน รวมทั้งสับปะรด เดือดร้อนเพราะช้างออกจากป่ามาบุกรุกกินพืชผล

นี่ย่อมไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความสุขสงบระหว่างคนกับสัตว์ป่า

และย่อมไม่ใช่วันที่สัตว์ป่าจะมองเห็นอนาคตอันแจ่มใส

เริ่มต้นด้วยการเปิดใจ ยอมรับว่า โลกเดินทางมาถึงวันที่ ระหว่างเรา คนกับสัตว์ ต้องแบ่งปันแหล่งอาศัย หาหนทาง หาวิธีใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างเหมาะสม

หากพูดกันถึงเพียงปัญหาว่า ใครถูก ใครผิด

ทั้งคนและสัตว์อาจเดินไปไม่ถึงไหน…

 

บนเส้นทางกลับสู่ป่าใหญ่

นานแล้วที่ผมไม่ได้หยุดดูนกยางข้างทาง

วันเวลาส่วนใหญ่ผมใช้ไปกับการอยู่ในซุ้มบังไพรแคบๆ

อยู่กับที่แคบๆ เรียนรู้การเดินทาง “ข้างใน”

สัตว์ป่าเป็นคล้าย “ครู” ที่สอนว่า แท้จริงการเดินทางข้างในนั้นเป็นเส้นทางที่เดินง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อน หรือคดโค้ง สูงชัน

และเส้นทางนี้ไม่ยากนัก ที่จะหาจุดเริ่มต้นให้พบ

 

ผมยืนมองภาพเบื้องหน้า

ฝูงนกยางบ้างเดิน บ้างวิ่ง ไล่ตามรอยรถแทร็กเตอร์

นานแล้วที่ผมไม่หยุดดู

ไม่ใช่เพราะหนทางคือจุดหมายในป่าอีกยาวไกล

ไม่ใช่เพราะใจจดจ่ออยู่กับเสือ

บ่ายวันนั้น

คำตอบที่ผมพบคือ

“เส้นทาง” ง่ายๆ เช่นนี้ เรามักไม่ชอบเดิน…