สุจิตต์ วงษ์เทศ/ คนชองกลายตนเป็นไทย ฝั่งทะเลภาคตะวันออก

ชาวชอง ต.พลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คนชองกลายตนเป็นไทย

ฝั่งทะเลภาคตะวันออก

 

ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท เป็นรากเหง้าความเป็นไทย รวมพลังอยู่ทางตอนใต้ของจีนและพื้นที่ต่อเนื่องเมื่อนานนับหลายพันปีมาแล้ว

ต่อมาด้วยเหตุผลทางการค้าของดินแดนภายใน ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แผ่ลงไปทางใต้ตามเส้นทางการค้า ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทร ทำให้คนพื้นเมืองดั้งเดิมส่วนหนึ่งทยอยอยู่ในอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ครั้นนานไปก็กลายตนเป็นไทย [ตามคำอธิบายในหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559]

ชอง พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม มีหลักแหล่งหนาแน่นเป็นประชากรท้องถิ่นบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด ต่อมาก็อยู่ในอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แล้วกลายตนเป็นไทย

เรื่องกลายตนเป็นไทยของพวกชอง มีนักปราชญ์ไทยชื่อ ชิน อยู่ดี อธิบายไว้ตั้งแต่ราว 2506 แต่ขัดกับความเชื่อเรื่อง “เชื้อชาติ” ของนักวิชาการโบราณคดีสมัยโน้น เลยไม่มีใครสนใจคำอธิบาย ของ อ.ชิน อยู่ดี

ชิน อยู่ดี (24 กุมภาพันธ์ 2455-17 กรกฎาคม 2529) ได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งวิชาก่อนประวัติศาสตร์ไทย” อดีตข้าราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร ขณะรับราชการ มีบันทึกพร้อมภาพถ่ายรายงานเสนอหัวหน้ากองโบราณคดี ลงวันที่ 7 มกราคม 2506 เกี่ยวกับคนเผ่าชองกลายตนเป็นไทย มีสาระสําคัญบางส่วนคัดมาพร้อมรูปประกอบ ดังนี้

(ซ้าย) กุย (กลาง) เขมร (ขวา) ชอง ในกัมพูชา

 

ไทยเชื้อสายชอง

 

“ตามสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้ พวกชองที่อยู่ใกล้กับคนไทยได้กลายเป็นคนไทยไปหลายตําบล และเรียกตัวเขาว่าเป็นไทย ระหว่างที่ผมสํารวจอยู่ ชองบางคนพูดว่า พวกชองเป็นพวกไทยเก่า เคยเป็นทหารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาตีทัพพม่าเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ผู้ที่ไปสอบถามบางท่านเมื่อได้ยินคําพูดดังกล่าวก็อาจจะเชื่อว่าพวกชองเป็นพวกไทยเก่า”

“พิจารณาในแง่ภาษา ชองน่าจะเป็นพวกตระกูลมอญ-เขมร พิจารณาจากผมหยิกน่าจะมีเลือดนิกริโตผสมอยู่บ้าง พิจารณาในแง่กฎหมายปัจจุบันชองก็คือคนไทยไม่ใช่ต่างด้าว หรืออาจเรียกได้ว่าไทยเชื้อสายชอง”

[จากหนังสือ ชิน อยู่ดี บิดาแห่งก่อนประวัติศาสตร์ไทย ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ณ เมรุวัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ พ.ศ.2529 หน้า 148-155]

ต่อจากนั้น อ.ชิน อยู่ดี มีบันทึกรายงานเพิ่มอีกดังนี้

เสาพิธีกรรม

 

เผ่าชอง

 

“ในระหว่างที่ผมไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้พบพวกชาวพื้นเมืองที่นั่นเรียกกันว่า อูด หรือเขมรดง อยู่ที่แควใหญ่ กิ่งอําเภอศรีสวัสดิ์ ผมได้ลองสอบคําพูดพวกอูดดู ปรากฏว่าคล้ายพวกชอง

เมื่อเร็วๆ นี้ได้พบเรื่องการอพยพของพวกอูดเหล่านี้ ในเรื่องวิจารณ์เรื่องพวกสําเหร่และพวกพอร์ ในจดหมายเหตุสยามสมาคม เล่ม 34 ตอน 1 หน้า 75 กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2376 พวกซา-ออค (Sa-och) ในเมืองกําปอทได้รับความเดือดร้อน จึงไปหาเจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิตที่เมืองโชดึก เจ้าพระยาบดินทรจึงช่วยส่งพวกเหล่านี้ทางทะเลไปขึ้นที่ราชบุรี พวกนี้ได้ขึ้นไปอาศัยอยู่ตามลําแควใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรีตอนเหนือ แถวตําบลหนองบัว, ลาดพร้าว, เกาะบุก ต่อมามีผู้เรียกว่าข่าหรือชองอูด ฉะนั้น เท่าที่ทราบในขณะนี้ พวกชองอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด”

ชอง ในกัมพูชา

 

ไหว้ผีชอง

 

เผ่าชอง ในจังหวัดจันทบุรี

“ในจังหวัดจันทบุรี ก็คงเข้ามาอยู่นานแล้ว ทุกวันนี้เมื่อชาวจังหวัดจันทบุรีทําพิธีแต่งงาน ต้องไหว้ผีชองก่อน หากผู้ใดมีฐานะดีก็เชิญพวกชองมาทําพิธีแต่งงานให้”