ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ความหมายที่แท้ ของสีบนริ้วธงไตรรงค์ สมัยแรกเริ่ม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ธงไตรรงค์อย่างที่ใช้กันทุกวันนี้เป็นรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้ให้เป็น “ธงชาติ” ของประเทศสยามเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2460 โดยก่อนหน้านั้นได้ใช้ธงรูปช้างเผือกบนผืนผ้าสีแดงเป็นธงชาติสยามมาก่อน

และโดยปกติแล้ว ก็มักจะอธิบายกันว่า สีแดง, ขาว และน้ำเงิน บนริ้วธงไตรรงค์ที่เปลี่ยนใหม่นั้น หมายถึง ชาติ, ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การให้ความหมายอย่างที่ว่ามานั้น ไม่ได้มีการประกาศให้เป็นความหมายของสีอย่างเป็นทางการหรอกนะครับ จะมีก็แต่ความหมายที่รัชกาลที่ 6 เคยเขียนเป็นพระราชนิพนธ์บทกลอนไว้อย่างลำลองก็เพียงเท่านั้น

สำหรับความหมายของสีบนธงไตรรงค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงเคยนิยามเอาไว้ในพระราชนิพนธ์บทกลอนที่มีชื่อว่า “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ตีพิมพ์ลงในวารสารดุสิตสมิต เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2462 เอาไว้ว่า

 

“ขอร่ำรำพันบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด

ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน และธรรมคุ้มจิตไทย

แดงคือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษะชาติศาสนา

น้ำเงินคือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย

ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตชูเกียรติสยาม”

 

จากร้อยกรองข้างต้น อาจสรุปได้ว่า สีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ จึงเป็นสีของพระศาสนา โดยในร้อยกรองได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะ ศาสนาพุทธ เพราะมีคำว่า “พระไตรรัตน” กำกับอยู่

สีแดง คือสีของโลหิต ที่ยอมสละได้เพื่อรักษาชาติ และศาสนา

ส่วนสีน้ำเงิน คือสีที่โปรดปรานเป็นการส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 เอง

น่าสนใจว่า นอกจากร้อยกรองข้างต้นนี้แล้ว ก็ไม่ได้มีการนิยามความหมายของ “สี” บนธงไตรรงค์เอาไว้อย่างเป็นทางการ ในเอกสารราชการเลย ซ้ำร้ายรัชกาลที่ 6 ก็ทรงใช้พระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์บทร้อยกรองนี้ ราวกับไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผยพระองค์ว่าทรงเป็นผู้ให้ความหมายของสีบนธงไตรรงค์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยของพระองค์อีกต่างหาก?

 

อันที่จริงแล้ว ประวัติช่วงก่อนประกาศใช้ธงไตรรงค์ ก็มีหลักฐานให้เห็นว่า การใช้สีสามสีดังกล่าวนี้ สัมพันธ์อยู่กับการประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 อยู่ด้วย ดังข้อความในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 ที่ว่า

“ได้ทรงพระราชคำนึงถึงการที่กรุงสยามได้ประกาศสงครามต่อชาติเยอรมันแลออสเตรีย ฮังการี เข้าเปนสัมพันธไมตรีร่วมศึกกับมหาประเทศในยุโรป อเมริกา และอาเซีย ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมธิปไตยครั้งนี้ นับว่าชาติสยามได้ก้าวขึ้นสู่เจริญถึงคั่นอันสำคัญยิ่งแล้ว สมควรจะมีอภิลักขิตวัตถุ เพื่อเปนเครื่องเตือนให้ระลึกถึงอภิลักขิตสมัยนี้ไว้ให้ปรากฏอยู่ชั่วฟ้าและดิน

จึงทรงพระราชดำริว่า ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2459 นั้น ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง (ก่อนหน้าจะใช้ธงไตรรงค์ ใน พ.ศ.2459 แถบสีตรงกลางเป็นสีแดงสลับขาวทั้งผืน-ผู้เขียน) ให้เปนสามสีตามลักษณธงชาติของประเทศที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่มากนั้น เพื่อให้เปนเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันทำการปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกนี้ให้พินาศประลัยไป

อีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่ควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามพระราชบัญญัติ ฉบับที่ว่าด้วยการเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติของสยามประเทศไทยนั้น ริ้วสีทั้งสามบนผืนธงนั้น จะมีความหมายเกี่ยวพันถึงการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่างหากนะครับ

 

อันที่จริงแล้ว การใช้ริ้วสีแดง น้ำเงิน ขาว ก็ดูจะใกล้เคียงกับการใช้สีบนธงของฝ่ายสัมพันธมิตรที่สยามเข้าร่วมจริงๆ

โดยชาติแรกที่ริเริ่มใช้สีอย่างนี้คือพวกดัตช์ที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากการปกครองของสเปน ระหว่าง พ.ศ.2111-2191 จนทำให้ทั้งสามสีนี้มีความหมายถึง อิสรภาพ และการปกครองแบบสาธารณรัฐ

ต่อมาพวกฝรั่งเศสได้ใช้ริ้วสีอย่างนี้เป็นธงเครื่องหมายในการปฏิวัติฝรั่งเศส (เพียงแต่จับแถบสีตั้งขึ้นเป็นแนวดิ่งแทนที่จะวางเป็นแนวนอนเหมือนพวกดัตช์) โดยได้เพิ่มเติมความหมายไปด้วยว่าหมายถึง หลักสามประการ อันได้แก่ เสรีภาพ, เสมอภาพ และภราดรภาพ จากนั้นชาติอื่นๆ ในยุโรป, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ก็เลือกที่จะใช้สีสามสีนี้บนธงของตนเอง เพื่อสื่อความถึงอะไรในทำนองเดียวกันนี้

ดังนั้น ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 6 จะทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงแนวคิดเรื่องสีบนธงไตรรงค์ว่า หมายถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

แต่ในความหมายฉบับทางการในพระราชบัญญัติ ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติของสยามนั้น กลับให้ความหมายไว้ในคนละทิศทางเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม “ชาติ” ในทัศนะของรัชกาลที่ 6 เองก็ดูจะเกี่ยวพันอยู่กับความหมายของสีบนริ้วธงไตรรงค์ตามพระราชนิพนธ์บทกลอนนั่นเอง

ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งของพระองค์คือ ปลุกใจเสือป่า ดังความที่ว่า

“เราได้เกิดมาในชาติคนกล้าหาญ รักเจ้า รักชาติ รักศาสนา จนไม่กลัวความตายไม่เสียดายชีวิตคนเหล่านี้เป็นปู่ย่าตายายของเราทั้งหลาย ท่านสู้สละความสุขสำราญตลอดจนชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมือง และศาสนา เพื่อจะได้ให้เราเป็นไทยอยู่สมนาม”

จะสังเกตได้ว่า ชาติที่ตายแทนได้ในพระราชนิพนธ์ปลุกใจเสือป่าข้างต้น ก็คือชาติเดียวกันกับที่ในพระราชนิพนธ์บทกลอนของพระองค์ที่ว่า ให้จัดริ้วเป็นสีธงแล้วให้ทหารนำไปถือเป็นเกียรติในสนามรบนั่นเอง

ดังนั้น ถึงจะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่า สีทั้งสามบนริ้วธงไตรรงค์หมายถึง ชาติ, ศาสน์ และกษัตริย์ แต่เราก็คงจะพออ้อมแอ้มๆ บอกได้ว่า แต่เนื้อแท้ความเป็นชาติไทย อย่างที่ชนชั้นนำสยามในยุคโน้นอยากให้ผู้คนจินตกรรมถึงก็คืออย่างนี้นี่แหละครับ และก็เป็นจินตกรรมความเป็นชาติอย่างนี้เอง ที่สยามเอาเข้าไปร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่ใช่หลักเสรีภาพ เสมอภาพ อะไรอย่างชาติอื่นเขาหรอก