รายงานพิเศษ : สุวิทย์ เมษินทรีย์ สานความฝันเป็นความเชื่อ แล้วลงมือทำ

โดย อนุชา ทองเติม

หลังจากปรับเปลี่ยนตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไม่นาน สปอตไลต์ก็ส่องสว่างมาที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งย้ายเก้าอี้มาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพราะได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ หลากหลาย

หนึ่งในนั้นคือตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

ป.ย.ป. หมายถึง ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ ปรองดอง เป็นงานที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายมั่นปั้นมือว่าในปี 2560 นี้ จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดผล อันจะทำให้เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของรัฐบาลต่อไปในอนาคต

ดร.สุวิทย์ จบปริญญาตรีด้านเภสัชกรรม ต่อมากลับสนใจเรื่องบริหารจึงเปลี่ยนทางเดินมาเรียน MBA คณะบริหารธุรกิจ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เป็นศิษย์รักของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และต่อมา “สมคิด” ได้พาไปฝากเป็นลูกศิษย์ของ ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Kotler) อาจารย์ด้านการตลาดผู้โด่งดังก้องโลกที่ Kellog School of Management มหาวิทยาลัย Northwestern และเรียนจบปริญญาเอกที่นั่น

เขาเขียนหนังสือเป็น 10 เล่ม เพื่อบอกเล่าถึงความเป็นไปของโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น “โลกพลิกโฉม : ความมั่งคั่งในนิยามใหม่ (Post Knowledge Based Society), “จุดเปลี่ยนประเทศไทย : เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัฒน์”, “The Marketing of Nations : A Strategic Approach for Building the National Wealth” ร่วมกับ 2 อาจารย์ของเขาคือ ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ฯลฯ

หลังรัฐประหารโดย คสช. เขาถูกดึงตัวเข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย

เมื่อ สปช. ถูกยุบเนื่องจากไปคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” และเป็นเวลาประจวบเหมาะกับที่ ดร.สมคิด เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แทน “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เขาจึงได้เข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ จนปรับ ครม. ครั้งล่าสุดจึงย้ายเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรับงานสำคัญคือ เลขานุการ ป.ย.ป.

“มติชนสุดสัปดาห์” เปิดใจ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์”

เจ้าตัวเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น “ดร.สมคิด” ได้วางตัวให้มาช่วยแก้ไขปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า เพราะมีประสบการณ์งานด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว แม้จะบอกผู้เป็นอาจารย์ไปแล้วว่าสนใจงานด้านการบริหาร วางแผนยุทธศาสตร์และนวัตกรรมมากกว่า ทว่า การทำงานในกระทรวงพาณิชย์ก็ถือว่าน่าสนใจและมีเป็นความท้าทาย

“ตอนอยู่กระทรวงพาณิชย์เจอกับความท้าทายหลากหลายมาก การส่งออก เราก็เจอกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เรื่องปากท้อง สินค้าเกษตร ต้องประสบกับน้ำท่วม ภัยแล้ง จากนั้นก็กลับกลายเป็นว่าราคาตกต่ำเนื่องจากผลผลิตเยอะเกินไป เหล่านี้เป็นการเรียนรู้ที่ดี แต่ถ้าถามถึงความชอบ ผมคิดว่าผมชอบงานในเชิงการมองไปข้างหน้า ยุทธศาสตร์ ปฏิรูป บูรณาการประสานงานมากกว่า”

ดร.สุวิทย์ เล่าต่อว่า ความจริงแล้วตัวเขาเองได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในถอดรหัสไทยแลนด์ 4.0 มาตั้งแต่ตอนอยู่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งระหว่างนั้น “ดร.สมคิด” เอง ก็มองถึงอนาคต ต้องการให้การทำงานของทุกภาคส่วนเชื่อมต่อกัน เช่น กระทรวงพาณิชย์จะมองในมิติการค้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองการค้าการลงทุนเป็นเรื่องเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับมอบหมายให้ดูบีโอไอ

 

อย่างไรก็ตาม การที่ถูกปรับให้มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ครั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า ที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ ทำงานในแบบวิชาการที่จับต้องไม่ได้จนเกินไป เป็นเหตุผลที่ทำให้ ดร.สมคิด โยกตัวมานั่งในสำนักนายกฯ

“ผมว่าผมทิ้งงานวิชาการมานานแล้วนะ ผมว่าผมถนัดงานด้านนโยบายมากกว่า งานที่ต้องประสานกับหลายๆ กระทรวง งานอาเจนด้า เพราะงานกระทรวงพาณิชย์หลายอย่างนั้นเป็นฟังก์ชั่น เช่น เรื่องของราคาสินค้าเกษตร จดทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมื่อผมถูกมอบหมายให้ทำ ผมก็ทำให้ดีที่สุด ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่สินค้าเกษตรตกต่ำ แต่วันนี้ทุกอย่างเริ่มทรงตัว ก็ได้เรียนรู้อยู่ไม่น้อย

“ผมดีใจที่นายกฯ ให้ความไว้วางใจ ให้ทำงานช่วยท่านในเชิงขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ ปรองดอง คือถ้าเราทำงานด้วยความชอบมันก็มีความสุข ไม่กดดัน การทำงานนี้แข่งกับเวลา เพราะเรามีเวลาอยู่แค่ปี 2560 นี้ ถ้าไม่ทำแล้วขอเวลาอีก 2-3 ปีคงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องทำให้ได้ ทำให้ดีที่สุด

“ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าผมทำเอง แต่ต้องหาคนเก่งๆ เข้ามาทำร่วมกัน ทำงานเช่นนี้ต้องอาศัยการพูดคุยมากๆ”

ดร.สุวิทย์ เริ่มเล่าถึงปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาว่า การทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แก่ประชาชนยังคงเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้น ป.ย.ป. ซึ่งจะมีคณะกรรมการย่อยอีก 4 ชุดประกอบด้วย ได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ จะเน้นการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการทำงาน เพราะปฏิรูปครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ อาจเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลของพระองค์

“อย่างเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ที่นายกฯ พูดอยู่ทุกอาทิตย์ ก็ยังมีคนเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ และการทำงานต้องอดทน เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งคนจะไม่เอา คนส่วนใหญ่โดยธรรมชาติไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่เราบอกว่าไม่เปลี่ยนไม่ได้ ประเทศไทยจะอยู่อย่างไร นี่ไม่ใช่อยู่ๆ เราหาเรื่องอยากจะเปลี่ยน แต่เป็นเพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว โลกวันนี้ไม่รู้ว่าเราจะตามทันหรือเปล่า ถ้าเราตามทัน แต่ลูกหลานเราจะตามทันหรือไม่

“ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการซ่อม เสริม สร้างประเทศ ดังนั้น ต้องทดทนกับการที่คนยังไม่เข้าใจเรา อาจจะเป็นเพราะยังไม่รู้เรื่องเลย หรือเข้าใจเราผิดๆ เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เวลาเราจะทำ Big Change เราต้องอดทน ถ้าเรามีความมุ่งมั่น มีความเชื่อ เราก็ต้องไป คีย์เวิร์ดไทยแลนด์ 4.0 ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ เดินไปข้างหน้าโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง 4.0 ต้องเริ่มด้วยคน ไม่ได้เริ่มด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าเราสามารถสร้างคนไทยให้พัฒนาตัวเอง ประชาชนมีกระบวนการเรียนรู้ ต่อจากนั้นทุกอย่างจะเป็นเรื่องง่าย

“ดังนั้น จึงคิดว่านายกฯ มาถูกทางแล้ว”

สําหรับการทำงานในฐานะเลขาธิการ ป.ย.ป. ดร.สุวิทย์ อธิบายว่า เลขาฯ ป.ย.ป. มีหน้าที่บูรณาการ เพื่อจัดทำโครงสร้าง วางแผน ทำงานเตรียมส่งมอบ งานของ ป.ย.ป. ไม่ใช่งานเชิงวิชาการแบบจับต้องไม่ได้ แต่จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเห็นว่าจะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งใหม่ๆ คนที่จะเข้ามาทำงานนี้ต้องสามารถบูรณาการ เปิดใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

จนเมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันทุกอย่างก็จะสามารถเดินหน้า แม้จะเหนื่อยบ้างในระยะแรกเพราะการพยายามทำความเข้าใจกับคนหมู่มากนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย งานดังกล่าวนี้เป็นการถอดรหัสจากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมองคาพยพในรัฐบาล คสช. ดร.สุวิทย์ ให้คำตอบว่า แม้จะเรียนด้านการตลาดมา แต่ส่วนตัวชื่นชอบและรักที่จะเรียนรู้เรื่องการบริหารงานนโยบาย นวัตกรรม จนเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้โอกาส ผนวกกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานนี้

“เมื่อได้รับโอกาสให้ทำสิ่งที่เราเชื่อและฝัน เราก็เอา คนเราถ้ามีความอยาก ความเหนื่อยไม่น่าจะเป็นอุปสรรค การทำงานผมไม่ได้ใช้เรื่องของการตลาดเข้ามาเลย ผมใช้ความคิดเชิงยุทธศาสตร์มากกว่า แต่สิ่งสำคัญของการตลาดคือ คุณต้องรู้ว่าลูกค้าของคุณต้องการอะไร วันนี้ลูกค้าเราคือประชาชน ต้องรู้ว่าเขาต้องการสิ่งใด

“วันนี้คล้ายกับลูกค้ายังไม่รู้เลยว่าสินค้าของเรานั้นใช้ยังไง เราก็ต้องสอนเขา แต่บางเรื่องเขามีความต้องการ เราก็ต้องเติมเต็ม ประชาชนอาจต้องการอะไรที่ใกล้ตัวจับต้องได้ เราก็ให้ แต่ไม่ใช่ให้จนติดเป็นนิสัย นี่คือประโยชน์จากการเรียนมาร์เก็ตติ้งมา ประชาชนอาจถามว่าทำไมต้องปฏิรูป ยุทธศาสตร์ ปรองดอง เรามีหน้าที่อธิบายว่าเพื่อประชาชนทั้งนั้น เพียงแต่การนำเสนอนโยบายของเราไม่ได้ใกล้ตัวเหมือนประชานิยม”

ดร.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยส่วนตัวไม่เคยปฏิเสธประชานิยม แต่ประชานิยมที่ดีควรเป็นยาอ่อนๆ ไม่เข้มข้นจนทำให้คนติดงอมแงม เพราะการพัฒนาที่ดีคือการสร้างขีดความสามารถให้แก่คน โดยประชาชนต้องมีภูมิปัญญาเป็นภูมิคุ้นกันตัวเอง