E-DUANG : ที่ว่า”คุ้มครอง”กลับกลายเป็น”ควบคุม”

ท่าทีล่าสุดจากตัวแทน“สื่อ”ที่เข้าไปเป็น”อนุกรรมาธิการ”ร่วมในการยกร่าง”พรบ.ควบคุมสื่อ”

ไม่ว่าจะมาจาก นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ไม่ว่าจะมาจาก นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล

น่าสนใจ

หากประสานเข้ากับการออกมาเปิด”โปกลางบ่อน”ของ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จากสถานการณ์บนโต๊ะอาหาร

ยิ่งน่าสนใจ

สะท้อนให้เห็นว่า การเชิญ”ตัวแทนสื่อ”เข้าร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการเสมอเป็นเพียง “ยุทธวิธี”

“ยุทธวิธี” อันทำให้เกิด “ตายใจ”

แท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเสนออะไร ไม่ว่าจะแย้งขัดอย่างมีหลักการเพียงใดทาง”คณะกรรมาธิการ”ชุดใหญ่ก็ไม่เคยล้างหูรับฟัง

ที่ว่า”คุ้มครอง”ที่แท้ก็ “ควบคุม”

 

ต้องยอมรับว่า “สื่อ”และ”องค์กรสื่อ”ได้มีส่วนร่วมในขบวนการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่คล้องและออกโรงเป่านกหวีดระเบ็งเซ็งแซ่

แต่ท่าทีจากฝ่าย”รัฐประหาร”เป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของ”สื่อ”และ”องค์กรสื่อ”ได้เข้าไปมีตำแหน่งและมีบทบาท

ไม่ว่าจะเป็น “นายกสมาคมนักข่าว”

ไม่ว่าจะเป็น “ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ล้วนได้รับการปูนบำเหน็จรางวัล

ทำให้ “สื่อ”ส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่ในฐานะ”ขุนนางสื่อ”

บางคนก็เป็นสมาชิกสนช. บางคนก็เป็นสมาชิกสปช.และต่อเนื่องมาถึงสปท.

บางคนเข้าไป”ร่างรัฐธรรมนูญ”

 

ตำแหน่งและสถานะอันได้มาจากผลพวงแห่งกระบวนการรัฐประหารแท้จริงแล้วมีเป้าหมาย

1 เพื่อเป็นอามิส บรรณาการ

ขณะเดียวกัน 1 เพื่ออาศัยอามิส บรรณาการนี้สร้างความอ่อนแอ ปวกเปียก ก่อให้เกิดความแตกแยก

เหมือนกับส่ง”ม้าไม้”เข้าใน”วงการสื่อ”

แต่เมื่อถึงเวลาที่สำคัญ ก็เอาศัยคำว่า “คุ้มครอง”เข้ามา”ควบคุม”

อาศัยคำว่า”ส่งเสริม”มา “จัดแถว”

ให้บรรดา “สื่อ”และ”สถาบันสื่อ” อยู่ภายใต้ระเบียบตามที่ “คสช.”ต้องการ แท้จริงแล้วที่ว่าส่งเสริมมิได้ส่งเสริมให้”แข็งแรง”

แท้จริงแล้วที่ว่าห่วงใยมิได้ห่วงหาและอาทร หากแต่ต้องการบริหารจัดการให้เชื่องๆอยู่ภายใต้ “อำนาจ”

“บทเรียน”นี้ทรงความหมายยิ่งต่อ “วิชาชีพสื่อ”