เพราะ ปชช.เข้าใจผิดบางประการ เป็นเหยื่อให้ “เผด็จการ”ใช้กระตุ้นให้เกลียดชังนักการเมือง

หวังในงานที่ไม่ใช่หน้าที่

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลที่ต้องเผชิญหน้ากับการไม่ยอมรับทำให้สูญเสียสมาธิสำหรับที่จะใช้สติปัญญาในการคิดหาทางแก้ปัญหาหรือพัฒนาชาติ

วัฏจักรการเมืองอันเลวร้ายของประเทศ อันเกิดจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่าง “ฝ่ายเผด็จการ” กับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” อันซ้ำซากไม่รู้จบสิ้น

เพราะ “เผด็จการ” แม้จะรู้ว่าการเข้ามายึดกุมอำนาจนั้นขาดความชอบธรรม การดันทุรังเข้ามาควบคุมอำนาจรังแต่จะสร้างความเสียหาย ทว่า สำนึกในความห่วงใยชะตากรรมของประเทศชาติกลับมีพลังน้อยกว่าความกระสันในอำนาจ

แม้ในใจจะรู้ว่าอยู่ได้ชั่วคราว ที่สุดแล้วต้องคืนอำนาจให้กับฝ่ายประชาธิปไตย แต่การมีอำนาจแม้จะสั้นแค่ไหนดูให้ผลคุ้มค่าเสมอ

ดังนั้น เป็นประชาธิปไตยได้ระยะหนึ่ง จะต้องมีเหตุให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ “เผด็จการ” เข้ามาจัดการกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพื่อให้ “เผด็จการ” เกิดความชอบธรรมที่จะเวียนเข้ามาเสวยอำนาจ

สาเหตุหนึ่งที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ได้รับการยอมรับคือภาพลักษณ์ของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกมองไปในทางเลวร้าย

มีเรื่องราวและสถานการณ์ที่นำความคิดของประชาชนไปในทางที่เห็นว่า “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ไม่มีอุดมการณ์ ขาดความรู้ความสามารถ ทำหน้าที่ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ไม่ได้

“ความคาดหวังของประชาชน” ต่อบทบาทของ “ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา” เป็นข้ออ้างสำคัญแทบทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร ยึดอำนาจโดย “ฝ่ายเผด็จการ”

“ส.ส.” ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนตั้งความหวังไว้

และในประเด็นนี้เองที่น่าสนใจ

“สวนดุสิตโพล” สำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรทำงานมา 5 เดือน

ในคำถามที่ว่า “ที่คาดหวังไว้กับ ส.ส.นั้น สมหวังหรือไม่” ร้อยละ 48.39 ตอบว่าค่อนข้างผิดหวัง ร้อยละ 31.07 ตอบว่าผิดหวัง มีร้อยละ 17.86 ที่ตอบว่าค่อนข้างสมหวัง ขณะที่ร้อยละ 2.68 เท่านั้นที่ตอบว่าสมหวัง

ความหมายตามผลโพลนี้ก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ผิดหวังกับบทบาทที่ผ่านมาของ ส.ส.

ในคำถามที่ว่า “ที่คาดหวังต่อ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดคือ” ร้อยละ 39.59 หวังได้เห็นผลงาน และความตั้งใจทำงาน ร้อยละ 30.46 หวังเห็นการพัฒนาประเทศ จังหวัด ชุมชนให้เจริญก้าวหน้า ร้อยละ 22.03 อยากเห็นการเอาใจใส่ดูแลประชาชน ทำให้อยู่ดีกินดี ร้อยละ 18.76 หวังการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ ร้อยละ 15.49 หวังการเป็นปากเป็นเสียง ปกป้องสิทธิประชาชน

ความผิดหวังจากคำถามแรก เมื่อมาดูคำตอบจากคำถามที่สอง ใครที่เข้าใจบทบาทขององค์กรประชาธิปไตยย่อมนึกออกว่า เหตุที่ผิดหวังมากมายนั้นเกิดจากอะไร

บทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลักๆ ก็คือ การตรวจสอบ และกระตุ้นรัฐบาลให้แก้ปัญหาประชาชน พัฒนาประเทศ ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการทำงานในเชิงแก้ความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นบทบาทของรัฐบาล

จากผลสำรวจนี้จะพบว่า ความเข้าใจในบทบาทของ ส.ส.กับรัฐมนตรี หรือรัฐบาลค่อนข้างสับสน

ไปหวังบทบาทของรัฐมนตรีจากการทำหน้าที่ของ ส.ส. เลยทำให้ออกอาการผิดหวังกันมาก

ความเข้าใจผิดในบทบาทเช่นนี้เอง ทำให้ง่ายมากที่ “เผด็จการ” จะใช้กระตุ้นให้เกลียดชังนักการเมือง ด้วยเหตุผลว่าไม่ทำหน้าที่ ไม่มีความสามารถ

โดยไม่รู้ว่าเป็นความหวังที่ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของ ส.ส.