เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ศรีศตวรรษ “อุชเชนี”

เนื่องวาระครบร้อยปีอุชเชนี “กวีของกวี” เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562

ขอคารวะด้วยข้อเขียน “สัมผัสคำ สัมผัสใจ” ในบทกวีของอุชเชนี (โดยแบ่งเป็นสองตอน)

ดังนี้

อุชเชนีเป็นนามปากกาของอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา เกิดเมื่อ 6 กันยายน 2462 ถึงแก่กรรมเมื่อ 7 พฤษภาคม 2559 รวมอายุ 97 ปี

คนรักกาพย์กลอนรุ่นโน้นและแม้รุ่นนี้คงจะจำกลอนบทนี้ (ดูล้อมกรอบ) ได้ว่าเป็นของ “อุชเชนี” และเป็นบทต้นของกลอนชื่อ “ขอบฟ้าขลิบทอง”

หนังสือกวีในดวงใจของคนรักกาพย์กลอน

จำได้ว่าเมื่อหัดเขียนกลอนใหม่ๆ อ่าน “ขอบฟ้าขลิบทอง” อย่างหลงใหล จนแทบไม่รู้ตัวว่า กลอนหลายบทของเราได้อิทธิพลจากหนังสือ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ของ “อุชเชนี” นี่เอง

แม้งานเขียนที่พิมพ์เป็นเล่มของอุชเชนีจะไม่มากนัก รู้จักดีอยู่สองเล่มคือ “ขอบฟ้าขลิบทอง” กับ “ดาวผ่องนภาดิน”

กระนั้น สองเล่มนี้เป็นหนังสือในดวงใจที่นับวันจะเป็นมรดกกวีอันทรงคุณค่ามหาศาลสืบไปในอนาคตแก่ผู้รักจะเรียนรู้และศึกษางานวรรณศิลป์ไทย

ความวิเศษในกาพย์กลอนหรือบทกวีของอุชเชนีนั้นดำเนินอยู่ในสามครรลอง คือ วิเศษในความรู้สึก วิเศษในความนึก (จินตนาการ) วิเศษในความคิด

ในความรู้สึกที่ว่าวิเศษคือ ความไพเราะของคำที่คล้องจอง สละสลวยแม้อยู่ในบังคับฉันทลักษณ์ แต่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงการบังคับของฉันทลักษณ์เลย

ตรงนี้เป็นศิลปะชั้นสูงที่น้อยคนจะทำได้ ดังตัวกลอน “ขอบฟ้าขลิบทอง”

ดูวรรคแรก “มิ่งมิตร…” ที่ไพเราะทั้งคำและความ

วรรคสอง “เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น” วรรคนี้นอกจากสัมผัสรับคำตรง “สิทธิ์” คำเดียวแล้ว ทั้งวรรคก็ไม่มีสัมผัสในเลย ทว่า มีจังหวะจะโคนของคำเต็มที่ คือไม่สัมผัสคำด้วยสระ แต่สัมผัสด้วยจังหวะคำ เพราะทำให้เราต้องอ่านเป็นช่วงจังหวะไปโดยปริยาย คือ

เธอมีสิทธิ์-ที่จะล่อง-แม่น้ำรื่น

ไม่น่าจะมีใครอ่านเป็น “เธอมี-สิทธิ์ที่จะ-ล่องแม่น้ำรื่น” ถึงอ่านได้ก็จะตะกุกตะกัก ไม่เข้าเรื่อง จริงไหม

ที่เรียกว่าเป็นศิลปะชั้นสูงก็คือ การทิ้งสัมผัสช่วงท้ายวรรคเช่นนี้ “นักเลงกลอน” เขามักมีวิธีสองอย่างคือ ใช้สัมผัสอักษร เช่น “รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง” (ขุนแผนฟันม่าน) ซึ่งจะเห็นสัมผัสอักษรเล่นเสียงคือ “ใบ” กับ “ระบัด” และ “ดอกดก” กับ “ระดะดวง”

อีกวิธีคือ สัมผัสด้วยการเชื่อมโยงของความ เช่น กลอนของสุนทรภู่ในพระอภัยมณีวรรคที่ว่า “มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน” หรือวรรค “ประเพณีตีงูให้หลังหัก” จะเห็นการเชื่อมโยงของความคือ “รัก” แล้วขยายความต่อเป็น “อยู่สองสถาน” หรือ “ตีงู” แล้วต้องต่อความ “ให้หลังหัก”

น่าสังเกตคือ บางครั้งใช้ทั้งสองวิธีควบเลย ดังตัวอย่าง ขุนแผนฟันม่านนั้น

“รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง”

“ใบระบัด” กับ “ดกระดะ” นี่แหละได้สัมผัสสองวิธี คือทั้งเชื่อมคำและเชื่อมความ โดยไม่อาศัยสัมผัสสระเลย ก็ยังได้รสไพเราะเต็มที่อย่างมีเสน่ห์อีกด้วย

“ล่องแม่น้ำรื่น” ของอุชเชนีนี่ก็เช่นกัน ได้เชื่อมความ “ล่องแม่น้ำ” ซ้ำได้เชื่อมคำ “ล่อง” กับ “รื่น” ด้วย

ความวิเศษของกลอนอุชเชนีที่ให้รสไพเราะด้วยคำสัมผัสชัดเจนโดยเราไม่รู้สึกว่าถูกบังคับด้วยสัมผัสนั้นดูได้จากสองวรรคต่อมาคือ

ที่จะบุกดง ดำ กลาง ค่ำ คืน

ที่จะชื่นใจ หลาย กับ สาย ลม

และบทต่อไปคือ

ที่จะร่ำเพลง เกี่ยว โลม เรียว ข้าว

ที่จะยิ้มกับ ดาวพราว ผสม

ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำ ตา พรม

ที่จะขมขื่นลึกโลก หมึก มน

แม้จะสัมผัสด้วยสระดังคำที่เน้นไว้นั้น แต่ก็ไม่รู้สึกถูกบังคับดั่งกลอนพาไป นอกจากจะเป็นสัมผัสที่มิใช่ “กลอนพาไป” แล้ว ที่เป็นเสน่ห์พ้นกฎฉันทลักษณ์ไปแล้วก็คือความไพเราะของเสียงอักษร ซึ่งเสมือนลีลาของเสียงดนตรีที่ต้องอ่านทั้งวรรคจึงจะรู้สึกได้ดัง

ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน

เสียงโท (ที่) เสียงเอก (จะบุก) เสียงกลาง (ดงดำกลาง) เสียงโท (ค่ำ) เสียงกลาง (คืน) คือการไล่เสียงจากสูงลงต่ำแล้วกระเพื่อมเสียงสลับกันระหว่างกลางกับสูง

เสียงวรรณยุกต์ไทยนั้น เรียงจากต่ำไปสูง คือ จัตวา-เอก-กลาง-โท-ตรี

ลองอ่านวรรคต่อไปตามบทต่อไป จะรู้สึกได้ถึงรสไพเราะแห่งสำเนียงเสียง “ดนตรีอักษร” ที่ควบคุมอยู่ด้วยจังหวะสัมผัสนั้น

อ่านกลับไปกลับมา ทั้งบทก็จะได้ลำนำดนตรีทั้งท่อนที่ให้รสไพเราะยิ่ง

นี้คือเสน่ห์ในกาพย์กลอนทั้งหมดของอุชเชนี ที่ไม่พลาดเลยทั้งจังหวะและเสียงคำอันให้รสไพเราะชนิดที่เรียกว่า “สัมผัสคำ-สัมผัสใจ”

ลองอ่านดูอีกสองบท จากชื่อ “กว่าประลัยธณินทร์”

เกลียดเสียงนกผกพ้อเคล้าคลอคู่

เกลียดผาภูผงาดฟ้าพาถลำ

เกลียดดอกนุ่มพุ่มหญ้าบ้าระบำ

เกลียดมะกล่ำแดงกล่นหนทางเดิน

เกลียดหอยหักปักหาดสะอาดสวย

นางนวลนวยนาดนิ่มอิ่มหาวเหิน

เกลียดลมอ่อนย้อนยอกกลับกลอกเกิน

กระทั่งเขินเขาเขื่อนเกลื่อนลั่นทม

ทุกคำล้วน “เต็มคำเต็มความ” เหมือนจะตัดเติมตกแต่งอีกไม่ได้เลย สมบูรณ์ด้วยเชิงฉันทลักษณ์อันไพเราะ

นี่คือความวิเศษในความรู้สึกที่ได้จากบทกวีของอุชเชนี

วิเศษประการที่สองคือ วิเศษในความนึกและจินตนาการตรงนี้แหละที่ทำให้กาพย์กลอนของอุชเชนีโดดเด่นเป็นพิเศษยิ่ง

ทั้งคมคำและคมความนั่นเองที่เสกให้ “ในบทกวีมีภาพ และในภาพมีบทกวี”

อันเป็นเอิกอัจฉริยะในบทกวีของอุชเชนี

ขอบฟ้าขลิบทอง

มิ่งมิตร

เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น

ที่จะบุกดงดำ กลางค่ำคืน

ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว

ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม

ที่จะเหม่อมองหญ้า น้ำตาพรม

ที่จะขมขื่นลึก โลกหมึกมน

ที่จะแล่นเริงเล่น เช่นหงส์ร่อน

ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน

ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน

ที่จะทนทุกข์เข้ม เต็มหัวใจ

ที่จะเกลาทางกู้ สู่คนยาก

ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม

ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร

ที่จะให้สิ่งสิ้น เธอจินต์จง

ที่จะอยู่เพื่อคน ที่เธอรัก

ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง

ที่จะมุ่งจุดหมาย ปรายทะนง

ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น

เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา

เพื่อขอบฟ้าขลิบทอง รองอรุณ

อุชเชนี

โวหาร “ในกวีมีภาพ-ในภาพมีกวี” เป็นคำชมกวีจีนโดยเฉพาะ กวีชื่อ หวางเหวย (พ.ศ.1244-1304) แห่งราชวงศ์ถาง บทกวีของหวางเหวยกับภาพเขียนพู่กันจีนเกี่ยวกับทิวทัศน์ธรรมชาตินั้น ให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันจริง

ตัวอย่างกวีหวางเหวย ดังถอดความเป็นร้อยแก้วบทนี้

นักร้องเหนือธาร

ดอกไม้ร่วงลา

กลางรัตติกาลวสันตฤดูภูผาเปลี่ยว

จันทร์เจิดกระจ่างกลางหาว

ปลุกนกตระหนกตื่นเพรียกระงมก้องธาร

ภาพจันทร์ดวงโตเด่นเป็น “เดือนหงายกลางป่า” ดังคำกวี และชื่อเพลงไทยโบราณนี้บรรเจิดเฉิดฉันจนนกผวาตื่นนึกว่ารุ่งสว่างแล้ว นี่แหละในภาษาจีนนั้นผู้รู้บอกว่า ดีทั้งคำพูด ดีทั้งภาพ ให้เรารู้สึกได้ด้วยตัวเองดังตาเห็น

บทกวีของอุชเชนีแทบทุกบททุกวรรค ก็ให้ภาพเช่นนี้

เช่น บท “หิ่งห้อย”

เหมือนดาวน้อยผลอยพรากมาจากฟ้า

แล่นถลาลัดเลาะละเมาะพุ่ม

จุดเพชรพราววาวระลอกทุกซอกมุม

กุหลาบซุ้มสวยวาบเพียงอาบพลอย

วรรคท้ายให้รู้สึกได้ถึงความงามของดอกกุหลาบอาบแสงเพชรพลอยแห่งหิ่งห้อยพร้อยพราว ทำให้เห็นความงามอัน “ฉาบฉวย” ออกมาโดยพลันของ “ซุ้มกุหลาบ”

คำ “ดาวน้อยพลอยพราก” นี้ดีนัก ด้วยให้ความเปรียบที่คมทั้งคำคมทั้งความว่า ดาวดวงน้อยๆ นี่นะที่ร่วงผล็อยลิ่วพรากลงมาจากฟ้า แล้วยังมา “แล่นถลาลัดเลาะละเมาะพุ่ม”

ใครเคยไปชมหิ่งห้อยริมน้ำแถวอัมพวาหรือบางคนที จะเห็นดาวดวงน้อยๆ เหล่านี้แต่งแต้มพุ่มพงดงไม้ระยิบวิบวับอย่างมีชีวิตชีวายิ่ง

คําให้ภาพอย่างนี้มีอยู่ในกาพย์กลอนของอุชเชนีแทบทุกวรรค เหมือน “หิ่งห้อยพร้อมไม้” นั่นเทียว เช่น “ผกาเอียงแก้มล้อพ้อพระพาย” จากบท “ผู้นิทรา”

แม้คำ “ดงคำ” ในวรรค “ที่จะบุกดงคำกลางค่ำคืน” ก็ให้ภาพป่าดงพงชัฏน่าหวาดหวั่นนัก

“เกลียดดอกนุ่มพุ่มหญ้าบ้าระบำ” คำ “บ้าระบำ” เป็นคำให้ภาพไหวเต้นไม่หยุดหย่อนของพงหญ้าดอกนุ่ม

“นางนวลนวยนาดนิ่มอิ่มหาวเหิน”

คำให้ภาพนกนางนวลว่อนฟ้า ขาวสะอาดวาดปีกร่อนรายให้ได้รู้สึก “อิ่มฟ้า อิ่มตาอิ่มใจ” เสียจริง

อุปมาอุปไมยของกวีนั้นไปพ้นจากกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ กวีใช้คำ “นกว่ายฟ้า” นักภาษาจะบอกว่าผิดชุด เพราะนกต้องบิน ปลาต่างหากที่ว่าย

แต่กวีเขากล้าใช้คำผิดชุดก็ด้วยต้องการความเปรียบว่า “นกบินบนฟ้าดังปลาว่ายในน้ำ” นั่นเอง

คําของอุชเชนีที่ว่าให้ภาพนั้น ไม่จำเพาะความเปรียบที่เรียกอุปมาอุปไมย หากอยู่ที่อุชเชนีรู้จัก “สรรคำใหม่” คือเลือกใช้คำใหม่ ทั้งเพื่อความใหม่และความเดิมนั่นเอง ทว่า ต่างคำออกไปจากที่ใช้จำเจจนคุ้นชินนั้นๆ เช่น จากบท “ฝนฉ่ำและน้ำตา”

สร้างความหวังความสุขทั่วทุกทิศ

ทุกชีวิต ขื่นคับ กลับเฉิดฉาย

คำ “ขื่นคับ” นี้เป็นคำใหม่ ด้วยทั่วไปเราจะคุ้นชินกับขื่นขม ขื่นขัน ขื่นเข็ญ ขื่นข้อง คำ “คับ” มาควบ “ขื่น” ซึ่งนอกจากไม่ทิ้งความหมายเดิมดังขื่นทั้งหลายอันเป็นประดาความทุกข์เหล่านี้แล้วก็ยังให้ความหมายใหม่ในเชิง แคบอึดอัด และเหมือนจะ “อับจน” อีกด้วย

นี้เป็น “เสน่ห์คำ” ที่เปล่งประกายอยู่แทบทุกวรรคกลอนของอุชเชนี ดูตัวอย่างเช่น

“ปราสาทแก้วแวววรรณกลางจันทร์เพ็ญ”

“กับตึกเด่น โดดฟ้า ท้าพระพาย”

(ความคิดอิสระ)

“ตึกเด่นเด่น โด่งหาว ระนาวไป”

(ไทยเป็นทาส หรือจึงง่ายถึงขายตัว)

“พา เรือพลิ้ว ลิ่วลัดตัดลำคลอง”

(อันข้อนี้เพิ่งประจักษ์)

“ชมพู่พวงร่วงล่มตาม ลมรัน”

“ก้าวออกไป กลางมืด อัน ชืดชอก”

(หวังเราหนาวนี้)

“ที่จะร่ำเพลงเกี่ยว โลมเรียวข้าว”

“ที่จะหัก พาลแพรก แหลกเป็นผง”

(ขอบฟ้าขลิบทอง)

ที่เอนตัวหนาคือ “คำใหม่” อันแทรกแซมอยู่ในวรรคกวี ตรงนี้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งในบทกวีของอุชเชนี ซึ่งเป็นทั้งเสน่ห์และศิลปะที่ “ยอดกวี” เท่านั้นจะรู้จักใช้

นอกจากคำที่เจียระไนความให้ฉายมุมใหม่อยู่เสมอ ทำให้อ่านได้ไม่เบื่อในทุกยุคทุกสมัยแล้ว “ภาพกวี” ของอุชเชนี จะให้มุมมองกว้างด้วยการสมมติ “บุคคล” เป็นแกนเรื่อง ทำให้ดูมีชีวิตสมจริงสมจัง เช่น บท “มืดหรือ” ที่สมมติ แม่กับลูก

“ลูกน้อย…

แม่เฝ้าคอยข่าวเจ้าเช้าจนสาย” และ

“แม่จ๋า…

ก่อนอรุณกรุ่นหล้าเมื่อฟ้าสาง”

บท “ภาพบนพื้นถนน”

“ขาไปไหนละน้า ขาอีกข้าง

หูน้าช่างหนวกจริงหนาว่าไม่เหลียว

เขายังคงประจงลากเส้นปากเรียว

ให้บูดเบี้ยวเบ้ระริกกระซิกครวญ

บท “รอนรอนอกร่ำกำสรวล”

“เขานั่งอยู่หน้าโต๊ะนั้น เหมือนฝันหยิบช้อนงอนเสวย”

ส่วนใหญ่จะสมมติเป็นฉันเธอ เช่น จากบท “อยู่เพื่ออะไร” ว่า “ฉันอยู่เพื่อบุคคลที่ฉันรัก” จากบท “อันข้อนี้เพิ่งประจักษ์” ที่ว่า “เธอโอบอ้อยร้อยมั่นกระสันรัด” หรือ เป็นเพื่อนเป็นมิตรหรือเป็นที่รัก ดังบทที่ขึ้นว่า มิ่งมิตร-เพื่อนใจ-แก้วตา-ดวงใจ

การสมมติบุคคลนี่แหละ ทำให้เรารู้สึกได้ถึงตัวตนอันมีอยู่จริงแม้ในสมมติ ด้วยเราได้สัมผัสกับความรู้สึกนึกคิดของเขานั้นๆ เอง โดยผู้เขียนเป็นเพียงผู้ “ถ่ายทอด” เท่านั้น

ทั้งที่แท้ล้วนเป็นมุมมองของผู้เขียนโดยตรง

นี้เป็นเสน่ห์และศิลปะเพื่อจะสะท้อน “ความคิด” อันเป็นความพิเศษอีกครรลองหนึ่งในบทกวีของอุชเชนี

คือวิเศษในความคิด

ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก

ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง

ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง

ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

นี่คือบทหนึ่งจากชื่อ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ที่สะท้อน “ความคิด” ของอุชเชนีได้วิเศษนัก ลองคิดตามแต่ละวรรคดูเถิด

หลายบทของอุชเชนีใช้อุปมาอุปไมย เช่น บท “คางคก” ที่กล่าวถึงความทุกข์เข็ญของมันอยู่ในน้ำ “น้ำท่วมปาก” ครั้นพันขึ้นน้ำมาตะเบ็งเสียงชื่นชมโลกก็โดนไม้พลองฟาด

เพราะเกิดมาเป็นอย่างชาติคางคก

สกปรกต่ำใต้ไร้ศักดิ์ศรี

หรือจึงต้องสูญสิ้นทั้งอินทรีย์

เป็นพลีอยุติธรรมกระหน่ำเอา

บทกวีที่ดีนั้นจะมีเป้าหมายเพื่อให้ความคิดยกระดับจิตสำนึกเชิงสร้างสรรค์เสมอ เช่น ประโลมใจ ปลอบใจ ประเทืองปัญญา ปลุกใจ

ปลอบประโลมใจ เช่น จากบท “เรื่องของกำแพง”

เพียงแสงรักส่องไล้ใจมนุษย์

ให้ผาดผุด เรืองรองเพียงทองผืน

คลายความเหน็บเจ็บช้ำทุกค่ำคืน

อร่ามรื่นราวอรุณอุ่นนิรันดร์

ประเทืองปัญญาและปลุกใจ เช่น จากบท “เราชุบด้วยใด”

คนแพ้คือคนชนะ แม้จะถูกเข็ญเข่นฆ่า

คนล้มเพื่อล้มทุกครา เหล็กกล้าเราชุบด้วยใด

อาจารย์ประคิณ ชุมสายฯ หรืออุชเชนี สอบได้ที่ 1 ภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ได้รับสิทธิ์เข้าศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยไม่ต้องสอบเข้า และเมื่อประมาณปี พ.ศ.2483

อาจารย์อยู่ปีสี่ เป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิง เป็นปีเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย อาจารย์ในฐานะนายกชุมนุมนิสิตหญิง เป็นผู้นำนิสิตหญิงจุฬาฯ ทั้งหมดกว่า 400 คน เดินขบวนคัดค้านและต่อต้านสงคราม จากจุฬาฯ ถึงวัดพระแก้ว ประกาศเจตนารมณ์ของนิสิตหญิงจุฬาฯ ร่วมกับนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ คัดค้านสงครามและทวงดินแดนคืน

กวีบทนี้ยืนยันเจตนารมณ์นั้นๆ คือจากบท “มือใคร”

มือคู่รื่นยื่นมาประสามิตร

มือคู่ชิดเชิดชูเข้ากู้หน้า

มือคู่นี้รี่ประคองผองประชา

มือนิสิตนักศึกษาประดาไทย

หนังสือพิมพ์ “สยามสมัย” มีหลวงบุณยมานพพาณิชย์ หรือ “แสงทอง” เป็นบรรณาธิการ ช่วงระหว่างหลังสงครามโลกเป็นต้นมา เป็นเวทีนักคิดนักเขียนคนสำคัญจำเพาะกวีมี เช่น “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร “ทวีปวร” หรือ ทวีป วรดิลก

“อุชเชนี” เริ่มงานเขียนด้วยลำนำร้อยแก้ว นามปากกาว่า “นิด นรารักษ์” ที่นี่ ตามมาด้วยบทกวีอันรวมอยู่ในเล่มขอบฟ้าขลิบทอง และดาวผ่องนภาดิน

สยามสมัย โดย “แสงทอง” นั้น ท่านพิถีพิถันเรื่องฉันทลักษณ์ จะเรียกว่าเคร่งครัดก็ได้ กลอนแปดต้องวรรคละแปดคำตรงเป๊ะ ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ต้องแม่น ดังนั้น บทกวีของนายผี ทวีปวร อุชเชนี จึงแม่นนัก มีผลให้กวีรุ่นต่อมา เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ และแม้รุ่นหลัง เช่น จินตนา ปิ่นเฉลียว ศิษย์ “แสงทอง” นี่ก็คือ “แปดคำประจำวรรค” ไม่พลาดเช่นกัน

ตรงนี้น่าสังเกตว่า แม้จะใช้ฉันทลักษณ์อย่างถือเคร่ง แต่กวีที่มีเนื้อหาดี เข้มข้น แหลมคมด้วยความคิดนั้นเอง จะทำให้ฉันทลักษณ์เป็นด้านรองไปทันที ด้วยกลายเป็นรูปแบบที่มารองรับเนื้อหาได้อย่างเป็นเอกภาพ อันทำให้กวีบทนั้นโดดเด่นเป็นเลิศ

และเป็นอมตะดังกวีท่านที่กล่าวนามมานั้น

ความคิดรักความเป็นธรรมต้านอยุติธรรม ใฝ่หาเสรีจากอำนาจเผด็จการทางการเมืองและมองเห็นหัวอกหัวใจของผู้ถูกเอาเปรียบทางชนชั้นนั้น เป็นบรรยากาศของสังคมไทยช่วงหลังสงคราม มาจนถึง พ.ศ.2500

เป็นยุค “ใฝ่การเมือง” แท้จริง นักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าได้มีบทบาทอย่างฉกาจฉกรรจ์ยิ่ง ผู้นำด้านนี้ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เป็นต้น

อาจารย์ประคิณ หรืออุชเชนี ซึ่งขณะเขียนในสยามสมัยร่วมแนวก้าวหน้ายุคนั้น ท่านมาเป็นอาจารย์อยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากสอนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟได้ปีเดียว วิชาที่อาจารย์สอนคือภาษาฝรั่งเศสกับภาษาอังกฤษ

ลูกศิษย์ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คนหนึ่งของท่านคือ จิตร ภูมิศักดิ์

บท “รอยจารึก” ของอุชเชนี เหมือนจะสะท้อนบรรยากาศยุคนั้น เช่น บทท้ายว่า

ฉันจารึกชื่อเธอ บนเกลียวเกลอนิรันดร์ไป

บนน้ำซ้ำบนไฟ เธอนั้นไซร้คือ “เสรี” ฯ

บรรยากาศยุคนั้นกับยุคนี้ดูจะไม่ต่างกันนัก ตราบที่ความคิดและจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยของประชาชนยังเป็นปัญหา

หนังสือของอุชเชนีมีเพียงสี่เล่ม คือ ขอบฟ้าขลิบทอง, ดาวผ่องนภาดิน, เพียงแค่เม็ดทราย และรายศิลาเรียง ทั้งสี่เล่มนอกจากความคิดของอุชเชนีแล้วก็คือความคิดแห่งยุคสมัยของสังคมไทย ที่เป็นทั้งปัจเจกและสากล

งานเขียนของอุชเชนีมิได้เสกสังคม เสกยุคสมัย หากยุคสมัยและสังคมนั่นเองที่เสกอุชเชนีขึ้นมาให้ท้าทายสังคมทุกยุคทุกสมัยด้วย

ความรู้สึกนึกคิดที่วิเศษในงานของอุชเชนีนี่แหละเป็นพลังปัญญาของสังคม ดังอาจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ว่า “บทกวีเป็นพลังปัญญาของสังคม”

เพราะความรู้สึกนึกคิด เป็นบทบาทและกระบวนจิตอันดำรงอยู่ ดังศัพท์ในขันธ์ห้า คือ เวทนา (รู้สึก) สัญญา (นึก) สังขาร (คิด) และวิญญาณ ก็คือ ตัวจิตที่กำลังทำบทบาทรู้สึกนึกคิดอยู่นี่เอง

รู้สึก นึก คิด จึงเป็นองค์รวมของปัญญา หรือ ปัญญาก็คือดุลยภาพของความรู้สึกนึกคิด

บทกวีของอุชเชนีวิเศษและถึงพร้อมด้วยรสแห่งความรู้สึกนึกคิด จึงเป็นงานที่ประเทืองปัญญา สมควรแก่ผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาอย่างยิ่ง

ขอจบด้วยคำ “ปรารมภ์” ของอุชเชนีในหนังสือขอบฟ้าขลิบทอง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2532 ดังนี้

“ในความเก่าจึงมีความใหม่ เหมือนกับที่ในความใหม่มีความเก่า เก่าสักเท่าไร และใหม่สักปานไหน ท่านผู้อ่านคงจะค้นพบได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ไยดีแลไปที่ขอบฟ้า ซึ่งแรริ้วสีทองให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเปลี่ยนแปรไปในความเก่าอันไม่ซ้ำซ้อนในเส้นสาย สิ่งสรรพ์ แสงสวย แม้กระทั่งศัพท์สำเนียงแห่งความสงัดในหยาดเยียบแห่งน้ำตา หรืออาการโบกบ้าแห่งพายุที่หาญจะหอบดาว พราวเกลื่อนดิน…”