ผ่าปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย ผลพวงยุบแท่ง “สอบสวน” ? ให้ “สายบู๊” มาอยู่ “สายบุ๋น”

ผลพวงยุบแท่ง “สอบสวน” ทำให้ “สายบู๊” มาอยู่ “สายบุ๋น” ทางออก “อัตวินิบาตกรรม”

คงจะเป็นเรื่องแปลก หากคุณเดินเข้าโรงพักแล้วพบกับแฟ้มเอกสารที่พิมพ์สันข้างไว้ว่า “รายชื่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำอัตวินิบาตกรรม” หรือที่รู้จักคือการฆ่าตัวตาย โชว์ให้เห็นเด่นชัดอยู่หน้าจุดบริการประชาชน

แต่กับตำรวจที่มีอาวุธปืนไว้ครอบครองในมือ การฆ่าตัวตายคงไม่ใช่เรื่องยาก

มีคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกรณี ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ อายุ 44 ปี รอง สว. (สอบสวน) สภ.บ้านมาบอำมฤต จ.ชุมพร ที่ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนยิงตัวตายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

ด้วยมูลเหตุนี้เอง สมาคมพนักงานสอบสวน นำโดย พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย รอง ผบก.น.8 ในฐานะเลขาธิการสมาคม พร้อม พ.ต.ท.ธรรมรักษ์ เรืองดิษฐ์ รอง ผกก.สอบสวน สน.ห้วยขวาง ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคม ยื่นหนังสือแนวทางแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยเอกสารระบุว่า

“คณะทำงานศึกษาวิจัยและพัฒนางานสอบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 23/2562 ได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.บ้านมาบอำมฤต จ.ชุมพร ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนยิงตัวตาย ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานพบว่าสาเหตุเกิดจากผู้ตายมีความเครียดที่มาดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน ทั้งที่ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน พิมพ์ดีดและใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้”

และอธิบายขยายความถึงต้นตอของการดำรงตำแหน่งรองสารวัตรรายนี้ว่า

“ตามที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 ยกเลิกหลักการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามความในมาตรา 44 มาตรา 45 วรรคสอง มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และมาตรา 72 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 ยังผลให้ผู้กำกับการสายงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานสอบสวนหายไปจากสถานีตำรวจประมาณ 800 ตำแหน่ง ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งข้าราชการตำรวจจากสายงานอื่น เช่น งานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน และงานจราจร ไปดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนในระดับต่างๆ โดยบางกรณีข้าราชการตำรวจในสายงานเหล่านั้นไม่มีความรู้ ทักษะความสามารถในการสอบสวนคดีอาญามาก่อน ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่งานสอบสวนได้ จึงส่งผลให้เกิดความตึงเครียดกดดันต่อข้าราชการตำรวจเหล่านั้น จนถึงขั้นลาออกจากข้าราชการตำรวจ หรือทำอัตวินิบาตกรรม”

“สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของประเทศโดยรวม”

พ.ต.อ.มานะอธิบายว่า ตำรวจแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะป้องกันปราบปราม สายตรวจ จราจร หรืออื่นๆ ตามโรงพักจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับงานสอบสวน ซึ่งแปลกกว่าชาวบ้านเพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และเป็นเรื่องเฉพาะทาง ตำรวจที่ได้มาทำหน้าที่สอบสวนนี้ได้รับแต่งตั้งตามคุณสมบัติที่กำหนด ซึ่งสมาคมยังมีเอกสารระบุข้อเสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 และกลับไปใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานสอบสวนตามหลักการเดิม และแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามคุณสมบัติ ดังนี้

1. คุณวุฒินิติศาสตร์หรือคุณวุฒิทางกฎหมายที่สูงกว่านี้ขึ้นไป

2. อายุไม่เกิน 35 ปี

3. มีทักษะความสามารถในการพิมพ์ดีดโดยใช้คอมพิวเตอร์

4. ก่อนปฏิบัติหน้าที่ต้องผ่านการฝึกอบรมทำสำนวนไม่น้อยกว่า 4 เดือน และ 5.ทุกหลักสูตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีวิชาการสอบสวนคดีอาญาอย่างเข้มข้น

ด้าน พ.ต.ท.พร แก้วช้าง รองนายกสมาคมพนักงานสอบสวน กล่าวถึงการเติบโตของตำแหน่งข้าราชการตำรวจในสายงานสอบสวนเดิม ที่ พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2547 ระบุไว้ โดยไล่ตั้งแต่รองสารวัตรถึงผู้บังคับการว่า ในแต่ละขั้นจะต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติ คุณภาพ และปริมาณ รวมถึงอายุงาน

ซึ่งหากครบถ้วนก็จะต้องสอบภาคทฤษฎี จึงจะได้เลื่อนตำแหน่ง

ทำให้พนักงานสอบสวนที่เติบโตมากับรูปแบบเดิมจะมีความเชี่ยวชาญและทำงานเก่งมาก ขณะเดียวกัน แม้ว่าพนักงานสอบสวนที่ไม่ผ่านการสอบเลื่อนขั้นในภาคทฤษฎี แต่บางส่วนก็ยังสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้ด้วยความชำนาญทางกฎหมาย

พ.ต.ท.พรบอกอีกว่า จากปัญหาการทำงานไม่ตรงสาย อันเป็นผลจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ว่านี้ ในปี 2562 นี้มีตัวเลขพนักงานสอบสวนที่เลือกจบชีวิตด้วยปืนตัวเองถึง 3 รายแล้ว นอกจากกรณี ร.ต.อ.พิเชษฐ์ ที่ จ.ชุมพร ยังมีกรณี ร.ต.อ.สุรศักดิ์ สุวรรณศักดิ์ อายุ 50 ปี รอง สว. (สอบสวน) สภ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และตำรวจอีกรายหนึ่งที่ จ.สุพรรณบุรี ที่ฆ่าตัวตายจากความเครียดที่ถูกย้ายจากสายสืบสวนไปสอบสวนเช่นกัน

ยังมีข้อมูลมาว่า ภายหลังมีคำสั่ง “ยุบแท่ง” ของหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 ด้วยเหตุผลหลักเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังพล โดยกำหนดคุณสมบัติพนักงานสอบสวนใหม่ เพียงมีวุฒิเนติบัณฑิตก็เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ กลับสร้างปัญหาขึ้นในหมู่พนักงานสอบสวนอีกครั้ง เพราะระบบใหม่ทำให้คนที่ไม่มีประสบการณ์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่เต็มใจนัก

เช่น ในโรงพักเขตนครบาลบางแห่ง มีพนักงานสอบสวนถึง 16 คน แต่ทำหน้าที่จริงแค่ 3 คนเท่านั้น บ้างก็หนีงานไปช่วยราชการในตำแหน่งอื่น เพราะความยุ่งยากทางกฎหมาย บ้างก็ลาออก จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย และขณะเดียวกัน แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 จะเปิดโอกาสให้มีพนักงานสอบสวนหน้าใหม่เข้ามาปฏิบัติราชการรับใช้ประชาชน

กลับกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการวิ่งเต้น ที่นอกจากจะสร้างภาพลบในแวดวงสีกากี ยังจะได้คนไม่มีคุณภาพเข้ารับตำแหน่ง ที่จะยิ่งสร้างความวุ่นวายในการสะสางคดีต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สมาคมพนักงานสอบสวนยังเสนอภาระงานจัดระบบธุรการคดีให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับหลักการไปจัดตั้งแผนกเสมียนคดีกับทุกโรงพักทั่วประเทศ โดยมีตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้างาน

ซึ่งแผนกดังกล่าวจะคล้ายงานสารบรรณคดีของสำนักอำนวยการของศาล มีจุดประสงค์เพื่อรองรับภารกิจงานสอบสวนโดยประสานพนักงานสอบสวนสรุปผลคดี ลดภาระงานที่หนักอึ้ง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน

ล่าสุดทางสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สกพ.ตร.) ได้เรียกส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปประชุมหารือ พร้อมจัดทีมไปตรวจดูงานแต่ละโรงพักที่มีคดีเกิดขึ้นเยอะ เช่น สน.พญาไท สน.ทุ่งสองห้อง เป็นต้น แต่เรื่องยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ทิ้งท้ายให้ติดตามกันต่อไปว่างานสอบสวนจะเป็นอย่างไรในอนาคต