คนของโลก : จอห์น เบอร์คาว ประธานรัฐสภาอังกฤษผู้ต้านเบร็กซิท

จอห์น เบอร์คาว ประธานรัฐสภาอังกฤษ กลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ในวงการการเมืองอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเด็นการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) กำลังร้อนแรงในเวลานี้

ประธานสภาวัย 56 ปี เจ้าของเสียงตะโกน “ออเดอร์! ออเดอร์!” เป็นคำเตือนเพื่อให้เหล่าสมาชิกสภาสามัญอังกฤษที่กำลังถกเถียงกันอย่างวุ่นวาย ให้กลับสู่ความสงบเรียบร้อย เป็นสิ่งคุ้นตาสำหรับผู้ติดตามการอภิปรายในสภาสามัญของอังกฤษในช่วงที่ผ่านมา

นับตั้งแต่อังกฤษทำประชามติเลือกที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปี 2016 เบอร์คาวเองเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการปกป้องสิทธิของรัฐสภาอังกฤษที่จะสามารถอภิปรายถึงกระบวนการเบร็กซิทที่ไม่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่สั่งให้มีการพักสภาเพื่อเลี่ยงไม่ให้มีการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์เบร็กซิทได้

การกระทำซึ่งเบอร์คาวกล่าวโจมตีนายจอห์นสันอย่างรุนแรงว่า เป็นการ “ชำเรารัฐธรรมนูญ” ที่วางแผนมาเพื่อหยุดยั้งรัฐสภาในการอภิปรายกรณีเบร็กซิท

 

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เบอร์คาวเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเปลี่ยนวาระการประชุมสภาเป็นการลงมติผ่านกฎหมายเพื่อป้องกันโนดีล-เบร็กซิท ตามเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และให้เลื่อนออกไป 3 เดือน ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วเรียบร้อย

ขณะที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เบอร์คาวก็สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสมาชิกที่สนับสนุนเบร็กซิท หลังปิดทางรัฐบาลอังกฤษไม่ให้มีการลงมติในข้อตกลงเบร็กซิทที่สมาชิกสภาสามัญอังกฤษลงมติไม่รับรองไปแล้วก่อนหน้านั้นใหม่อีกครั้ง

ความตึงเครียดของบรรดาสมาชิกสภาสามัญไปสู่จุดสูงสุดเมื่อเดือนมกราคม เมื่อเบอร์คาวไม่สนใจคำแนะนำของเลขาธิการสภาสามัญ เปิดทางให้สมาชิกสภาแก้ไขญัตติของรัฐบาลเกี่ยวกับข้อตกลงเบร็กซิท ซึ่งนั่นส่งผลให้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้นต้องกลับสู่สภาเพื่อชี้แจงกรณีที่ข้อตกลงเบร็กซิทจะถูกตีตกโดยสมาชิกสภาสามัญ

ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่วันต่อมา

 

เบอร์คาวได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในฐานะตัวแทนพรรคอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาสามัญของอังกฤษได้ในปี 2009 นั้นทำให้เบอร์คาวจะต้อง “เป็นกลางทางการเมือง”

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงในกรณีเบร็กซิทของเบอร์คาวนั้น ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าประธานสภาผู้นี้ “ลำเอียง” กับทั้งพรรคอนุรักษนิยมเอง รวมถึงประเด็นเรื่องเบร็กซิท แต่ในทางตรงกันข้าม เบอร์คาวก็ได้รับเสียงชื่นชมจากสมาชิกพรรคแรงงานด้วยเช่นกัน

เบอร์คาวถูกวิจารณ์ว่าเป็นประธานสภาที่ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการ “บุลลี่” ในสภาสามัญ และตัวเบอร์คาวเองก็ไม่ได้ปฏิเสธที่ครั้งหนึ่งตนเคยกล่าวถึงรัฐมนตรีหญิงรายหนึ่งของรัฐบาลว่าเป็นคน “โง่”

การแสดงออกถึงการ “เลือกข้าง” ของเบอร์คาว ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในสภาสามัญหลายครั้ง บางครั้งเป็นการลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์เบอร์คาวอย่างตรงไปตรงมา จากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม

อีกหลายรายนำประเด็น “สติ๊กเกอร์” ที่ติดที่รถของเบอร์คาวเอง โดยสติ๊กเกอร์ดังกล่าวเขียนว่า “Bollocks to brexit” หรือแปลไทยว่า “เบร็กซิทโคตรไร้สาระ” มาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นกลางของประธานสภา ผู้ซึ่งออกมาชี้แจงทำนองว่า เป็นสติ๊กเกอร์ที่สะท้อนมุมมองของภรรยา

 

เกิดในปี 1963 ในครอบครัวชนชั้นกลาง เบอร์คาวเติบโตขึ้นในกรุงลอนดอน วัยเด็กเป็นนักกีฬาเทนนิสระดับแชมป์ และนั่นทำให้เบอร์คาวเป็นแฟนเทนนิสตัวยง ที่มีโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักหวดชาวสวิตเซอร์แลนด์ เป็นไอดอล

เบอร์คาวได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1997 ก่อนที่อีก 12 ปีต่อมาจะได้รับเลือกเป็นประธานสภาสามัญ ทำสถิติเป็นประธานสภาสามัญอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 100 ปีของอังกฤษ

แม้เบอร์คาวจะสร้างความแปลกใจขึ้นหลายครั้ง อย่างการปฏิเสธไม่ให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์ในสภาสามัญตามธรรมเนียม รวมไปถึงสร้างความฉงนต่อสังคมในการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2012 โดยอ้างถึงราชินีอังกฤษว่าเป็น “ราชีนีคาไลโดสโคป”

อย่างไรก็ตาม เบอร์คาวก็ได้รับเสียงชื่นชมเช่นกัน ในฐานะผู้ทำให้สภาสามัญทันยุคสมัย ด้วยการเลิกใส่ชุดคลุมยาวตามธรรมเนียบโบราณ หันมาใส่เสื้อคลุมสวมทับบนชุดสูท

รวมไปถึงความพยายามในการสร้างความสะดวกในการทำงานสำหรับสมาชิกสภาหญิงที่มีลูกเล็ก เป็นต้น