วิรัตน์ แสงทองคำ : ธุรกิจใหญ่ คึกคักต่อเนื่อง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ไม่ว่าผู้คนจะมีมุมมองทางเศรษฐกิจเชิงลบหรือไม่ อย่างไร สำหรับธุรกิจใหญ่ๆ แล้ว ดูมั่นใจเดินหน้ากันอย่างคึกคัก

ความเคลื่อนไหวอย่างครึกโครมเวลานี้ มาจากแผนการที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาแล้วช่วงก่อนหน้า เพื่อให้เดินหน้ามาถึงจุดสำคัญในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

อย่างที่เคยว่าไว้บ้างแล้ว (“ธุรกิจใหญ่ไทย ทำอะไรกัน” มติชนสุดสัปดาห์ 2 สิงหาคม 2562) กลุ่มธุรกิจใหญ่ไทยเคลื่อนไหวในกระแสอย่างคึกคักเป็นพิเศษ

ไม่ว่า กลุ่มซีพี ลงทุนในธุรกิจใหญ่ในธุรกิจรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน

กลุ่มทีซีซี และ บุญรอดบริวเวอรี่ อยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับโรงแรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญ ให้เชื่อมโยงโดยตรงกับตลาดหุ้นไทย

รวมทั้งกลุ่ม เซ็นทรัล ได้ตัดสินใจในแผนการสำคัญ-ให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในนามบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ Central Retail เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

และเพิ่งผ่านไปหมาดๆ นี้เอง เกี่ยวกับเรื่องราว Central Village เพิ่งเปิดบริการเป็นทางการ ท่ามกลางกรณีขัดแย้งครึกโครม (“เรื่องธุรกิจใหญ่” มติชนสุดสัปดาห์ 6 กันยายน 2562) โครงการใหญ่ยึดทำเลอันท้าทายเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญ ตามแผนการโครงการศูนย์การค้าแบบใหม่ในโมเดล OUTLET ที่เคยประกาศไว้เมื่อปีก่อน

ซีพีเอ็นแห่งกลุ่มเซ็นทรัลกับโครงการ Central Village ยึดพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ใกล้ๆ ทางทิศใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน สยามพิวรรธน์ประกาศแผนการร่วมทุนกับ SIMON PROPERTY GROUP แห่งสหรัฐในโครงการ Siam Premium Outlets บนที่ดิน 150 ไร่ ตั้งอยู่บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ก.ม.23 ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทางทิศตะวันออก ใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที

คาดว่า Siam Premium Outlets จะเปิดบริการภายในปีนี้เช่นกัน

 

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุด ล่าสุดอยู่ที่กลุ่มทีซีซี ด้วยแผนการทั้งครึกโครมและเงียบๆ อย่างแยบยล บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (อักษรย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ) บริษัทพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซี เดินหน้าไปอีกก้าวอย่างรวดเร็วทันใจ ถึงขั้นประกาศแผนขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น กำหนดราคาเสนอขาย 6.00 บาทต่อหุ้น (จะสามารถระดมเงินได้ 48,000 ล้านบาท)

โดยมีการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (road show) ไปเมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะ เปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 25-27 กันยายนที่จะถึงนี้

ข้อมูลนำเสนอว่าด้วยลักษณะธุรกิจอย่างคร่าวๆ ระบุว่า AWC ถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ มีโรงแรมเปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนพัฒนา 5 แห่ง และว่า ได้เซ็นสัญญาซื้อโรงแรมอีก 12 แห่ง เพื่อพัฒนาในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีพื้นที่รวมกันราว 6 แสนตารางเมตร แบ่งเป็นกิจการค้าปลีก 10 โครงการ รูปแบบต่างๆ หลากหลาย ที่สำคัญคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เกตเวย์ แอท บางซื่อ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

ส่วนสำนักงานมีทั้งสิ้น 4 โครงการ พื้นที่รวม 2.7 แสนตารางเมตร โครงการสำคัญๆ คือ เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และแอทธินี ทาวเวอร์

“เริ่มจากการลงทุนในที่ดิน พัฒนามาลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลเมื่อปี 2537 เข้าร่วมทุนกับ Capital Land Co.,Ltd. ในปี 2546 และพัฒนากลายมาเป็นสายธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป” ปัจจุบันคือ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ “ASSET WORLD CORPORATION (AWC)”” ความเป็นมาที่ควรทราบ อ้างมาจากต้นแหล่ง (https://www.assetworldcorp-th.com) เป็นที่รู้กันว่า ช่วงปี 2546 กลุ่มทีซีซีมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ พยายามให้ทายาทสืบทอดกิจการ

กลุ่มธุรกิจข้างต้น (AWC) อยู่ในการบริหารของบุตรีคนที่สอง-วัลลภา ไตรโสรัส

 

ที่จริงแล้วสินทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ยังมีอีกมาก มีการจัดหาใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งมีการปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอีกกลุ่มบริษัทในเวลาต่อมา

“บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร มีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 โดยเป็นส่วนหนึ่งของทีซีซี กรุ๊ป มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ ได้แก่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และพื้นที่ร้านค้าปลีก ควบคู่ไปกับธุรกิจโรงแรมและบริการทางสารสนเทศ” กลุ่มธุรกิจข้างต้นบริหารโดยบุตรชายคนสุดท้อง-ปณต สิริวัฒนภักดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ

หากพิจารณาธุรกิจทีซีซี แอสเซ็ท (TCC Assets) อย่างเจาะจง จะพบว่ามีการพัฒนาขึ้นในหลายพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับ AWC โดยเฉพาะย่านพระราม 4 อาทิ โครงการ FYI Center (สร้างเสร็จปี 2559) Samyan Mitrtown (กำลังดำเนินโครงการ) และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (เริ่มปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ปี 2561 ตามแผนจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี)

ที่สำคัญเป็นพิเศษคือ โครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท

 

ดังหัวข้อข่าวครึกโครกครั้งใหญ่ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว– “One Bangkok” พลิกโฉมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในไทย (4 เมษายน 2560) ทั้งนี้ ได้ปรากฏถ้อยแถลงของเจริญ สิริวัฒนภักดี ไว้หลายตอนอย่างตั้งใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะ “ทางกลุ่มรู้สึกเป็นเกียรติที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้ความไว้วางใจในการพลิกโฉมพื้นที่ผืนสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ” โครงการนี้เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นดำเนินการ

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ทีมงานดำเนินการโครงการ One Bangkok นอกจาก TCC Assets แล้วยังมี Frasers Property ด้วย

“บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นบริษัทระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ถือกรรมสิทธิ์การพัฒนาและการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์หลายประเภท โดยบริษัทมีชื่ออยู่ในบอร์ดหลักของ Singapore Exchange Securities Trading Limited (“SGX-ST”) และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์…สินทรัพย์ของเฟรเซอร์ส พรอพเพอร์ตี้ ประกอบไปด้วยอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เพื่อการค้าและการพาณิชย์ และเพื่อธุรกิจ ไปจนถึงสินทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม และการขนส่งในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ยุโรป จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจ ด้านการบริการที่พักเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมหลายแห่งในกว่า 80 เมืองทั่วภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาอีกด้วย” (https://onebangkok.com/th/About/team)

อันที่จริง Frasers Property Limited (FPL) เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก Frasers Centrepoint Limited (FCL) ก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2531) ค่อยๆ ขยายกิจการกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เมื่อเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ

ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเดินแผนการใหญ่บุกเบิกธุรกิจภูมิภาค เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave (ปี2556) เป็นดีลที่ครึกโครมตื่นเต้นสำหรับสังคมธุรกิจไทย กลุ่มทีซีซีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Frasers Centrepoint Limited ไปด้วย ในระหว่างนั้น Frasers Centrepoint Limited มีแผนการเชิงรุกดีลใหญ่ดีลหนึ่งอยู่แล้ว สำเร็จลงในปี 2557 ตามแผนการเข้าซื้อเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย (Australand) ปัจจุบัน FPL มีสินทรัพย์ (มิถุนายน 2562) มากกว่า 33,600 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ในปี 2556 ทีมไทยเข้าครอบงำการบริหาร FCL ในทันที รวมทั้ง ปณต สิริวัฒนภักดี ได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการด้วย เป็นจังหวะเดียวกับการก่อตั้ง TCC Assets ในประเทศไทย จากนั้นไม่นาน ปณต สิริวัฒนภักดี ก้าวขึ้นเป็น Group Chief Executive Officer (ปี 2559) ช่วงคาบเกี่ยวกับมีดีลใหญ่ โครงการ One Bangkok เป็นเรื่องน่าภูมิใจไม่น้อย มีบันทึกไว้ profile

“ในฐานะผู้นำในแผนการพัฒนาโครงการ One Bangkok โดยกิจการการร่วมทุนระหว่าง TCC Assets กับ FPL ถือเป็นโครงการใหญ่ในประเทศไทยเท่าที่มีมา” (https://www.frasersproperty.com)

 

ในจังหวะแอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ก็กำเนิดขึ้น ในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากขึ้นด้วยการเข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทย (ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICO) แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT

แผนการดูเหมือนเป็นไปอย่างเงียบๆ สำเร็จลงเมื่อต้นปีนี้เอง เป็นแผนการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor listing) ในทันที

แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจดำเนินไปอย่างกระชั้นต่อจากนั้น

ตามมาด้วยการเข้าซื้อกิจการ บริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD บริษัทในตลาดหุ้นอีกแห่ง (กุมภาพันธ์ 2562)

ซึ่งความจริง GOLD เป็นกิจการในเครือ TCC Assets อยู่แล้ว จนถึงขณะนี้ดูเหมือนมีแผนการผ่องถ่ายกิจการในเครือ TCC Assets มาอยู่ในเครือข่าย FPT กำลังดำเนินไปเป็นขั้นๆ

กลุ่มทีซีซีดำเนินแผนการอย่างคึกคัก ผ่านทั้ง AWC และ FPT กิจการภายใต้ครอบครองและบริหารโดยครอบครัวสิริวัฒนภักดี กลุ่มธุรกิจหนึ่งเปิดโฉมหน้าออกมาอย่างชัดแจ้ง อย่างน่าเกรงขามในประเทศไทย

ขณะที่อีกกลุ่มธุรกิจหนึ่ง ก้าวออกสู่ระดับโลกอย่างน่าตื่นเต้น รวมทั้งเข้ามาดำเนินแผนการใหญ่อย่างแยบยลในไทยด้วย

สำหรับกลุ่มทีซีซีแล้ว ความเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงในช่วงเวลานี้ คงมาจากความเชื่อมั่นว่า เป็นโอกาสและจังหวะเวลาที่ดีแล้ว