โฮะคุไซ ปรมาจารย์ศิลปะแห่งโลกอันล่องลอย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่แล้วกล่าวถึงศิลปินภาพถ่ายชาวญี่ปุ่นผู้ทรงอิทธิพลไป ตอนนี้เลยจะขอกล่าวถึงศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้ยิ่งใหญ่อีกคน ที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินและนักสร้างสรรค์รุ่นหลังทั่วโลก

ประจวบกับปี 2019 นี้ เป็นวาระครบรอบ 170 ปี มรณกาลของเขา

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) (1760-1849) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โฮะคุไซ”

ศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้ทรงอิทธิพลและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น

เขาเป็นจิตรกร ช่างพิมพ์ และศิลปินอุคิโยเอะ* ระดับปรมาจารย์แห่งยุคเอโดะ

ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 70 ปี โฮะคุไซสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศเอาไว้มากมายจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เขาเป็นหนึ่งในจิตรกรที่พัฒนาศิลปะอุคิโยเอะของญี่ปุ่นให้ถึงจุดสูงสุดในทุกแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดทิวทัศน์ธรรมชาติอย่างภาพภูเขาไฟฟูจิ, ภาพดอกไม้พืชพันธุ์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติที่ถูกจับเอาลมหายใจและห้วงเวลาแห่งวิถีชีวิตเหล่านั้นมาบันทึกลงในภาพวาดอย่างเชี่ยวชาญ

หรือภาพจากจินตนาการของศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ อย่างภูตผีปิศาจและเทพเจ้าต่างๆ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงาวะ” (The Great Wave off Kanagawa) (Kanagawa-oki nami ura) (1829-1833) ที่โด่งดังทัดเทียมภาพวาด Mona Lisa (1503) ของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) เลยทีเดียว

คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงาวะ (1829 -1833), ภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้สอดสี, ผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของโฮะคุไซ, เขาเป็นศิลปินคนแรกๆที่ริเริ่มใช้สีสังเคราะห์ปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) ที่เพิ่งถูกนําเข้ามาในญี่ปุ่นยุคนั้นซึ่งปรากฏชัดในผลงานชิ้นนี้, ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างวินเซนต์แวนโก๊ะห์หลงใหลได้ปลื้มภาพนี้มากเขากล่าวว่า“คลื่นเหล่านี้ดูราวกับเป็นกรงเล็บที่กําลังคว้าจับเรือลําน้อยเหล่านั้นเอาไว้ในอุ้งมือคุณสามารถรู้สึกมันได้เลยทีเดียว”, เมื่อเร็วๆนี้นักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่งทวีตให้เห็นถึงพัฒนาการในการวาดภาพคลื่นอย่างต่อเนื่องของโฮะคุไซในช่วงอายุ 33, 44 และ 46 ก่อนที่จะถึงจุดสูงสุดในผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขาทําในวัย 72 ปีชิ้นนี้นี่เอง, ภาพจากhttps://bit.ly/2sypQlc

โฮะคุไซเกิดในปี 1760 เขาอาศัยอยู่ในมหานครเอโดะ (หรือโตเกียวในยุคปัจจุบัน) อันคึกคักยิ่ง ในยุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่

เอโดะเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเศรษฐกิจการค้าที่รุ่งเรือง ทำให้ธุรกิจการผลิตสิ่งพิมพ์และหนังสือประกอบภาพเฟื่องฟูอย่างมากในยุคนั้น

ลองนึกดูว่าในขณะที่ชาวยุโรปรู้หนังสือราว 40% ของจำนวนประชากร

แต่ชาวญี่ปุ่นราว 80% ก็อ่านหนังสือกันได้แล้ว สิ่งพิมพ์ในยุคนั้นจึงเป็นอะไรที่ทันสมัยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและมีราคาย่อมเยา

ผลงานที่โฮะคุไซบรรจงสร้างสรรค์และส่งต่อให้ช่างทำแม่พิมพ์ไม้แกะสลักแม่พิมพ์และให้ช่างพิมพ์ผลิตออกมาเป็นสิ่งพิมพ์นั้นเป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม

แต่ความนิยมที่ว่าก็ไม่ได้ช่วยโฮะคุไซจากความลำบากยากแค้น เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อย่างแร้นแค้นขัดสน แต่ก็ไม่เคยละทิ้งความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการทำงานศิลปะ

โฮะคุไซใช้ชีวิตอย่างสมถะ แต่เคี่ยวกรำและเข้มงวดกับการวาดภาพอย่างมาก

เขามักจะเสาะแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงาน และเปลี่ยนฉายาของตัวเองในหลายช่วงชีวิต ราวกับจะละทิ้งตัวตนเดิมๆ และแสวงหาตัวตนใหม่ๆ

เขาใช้ชื่อโฮะคุไซ ในช่วงอายุเกือบ 40 ปี

ในช่วงวัยชราเขาเปลี่ยนฉายาตัวเองเป็น กะเคียว โรจิน มันจิ (Gaky? R?jin Manji)

หรือ “ตาแก่บ้าวาดภาพ”

เขาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในบ้านของลูกสาวที่เป็นนักวาดภาพเหมือนกัน จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1849 ในวัย 89 ปี

จวบจนในช่วงยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ เริ่มมีการค้าขายแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอก ผลงานของโฮะคุไซจึงถูกเผยแพร่ออกสู่โลกตะวันตกและกลายเป็นที่นิยมอย่างมหาศาล ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ชื่อดังอย่างโมเน่ต์ (Claude Monet), เดกาส์ (Edgar Degas), มาเน่ต์ (?douard Manet), แวน โก๊ะห์ และโกแกง ต่างเก็บสะสมและได้รับอิทธิพลจากผลงานของเขาอย่างมาก

โฮะคุไซยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิด “มังงะ” หรือนิยายภาพ ซึ่งเป็นต้นธารของการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ภาพคลื่นใหญ่นอกคะนะงาวะ ผลงานชิ้นเอกของเขาเองก็ถูกนำมาคัดลอก ตีความใหม่ และผลิตซ้ำครั้งแล้วซ้ำเล่า ทั้งในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ

ถึงขนาดถูกเอามาทำเป็นอิโมจิอย่างน่ารักน่าชังก็ยังมี

First Cargo Boat Battling the Waves (1805) ภาพคลื่นยักษ์ที่โฮะคุไซวาดขึ้นในช่วงอายุ 46 ปี, ภาพจากhttps://bit.ly/2m1Xm1l

นอกจากจะเป็นปรมาจารย์แห่งภาพอุคิโยเอะแล้ว โฮะคุไซยังเป็นปรมาจารย์แห่งภาพวาดเชิงสังวาส หรือ “ชุงกะ” (Shunga) (ที่แปลว่า “Spring Pictures” หรือ “ภาพฤดูใบไม้ผลิ” ซึ่งเป็นคำสุภาพที่หมายถึง “ภาพการร่วมเพศ” นั่นเอง) ที่ถึงพร้อมด้วยรายละเอียดและองค์ประกอบอันงดงามเปี่ยมสุนทรียะชั้นครูในการถ่ายทอดภาพบทอัศจรรย์อันจะแจ้งและวิจิตรพิสดารพันลึก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพนักประดาน้ำและหมึกยักษ์ (The Dream of the Fisherman”s Wife) (Tako to ama) (1814) ภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ที่แสดงถึงการร่วมเพศระหว่างคนกับสัตว์ (Zoophilia) อันเป็นภาพของนักงมหอยสาวร่างเปลือยเปล่ากำลังถูกเกี่ยวกระหวัดรัดรึงโดยหมึกยักษ์สองตัว

นักประดาน้ําและหมึกยักษ์ (1814) ภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้สอดสี, ภาพจากhttps://bit.ly/2sypQlc

ตัวเล็กกว่าทางซ้ายกําลังดูดดื่มริมฝีปากและรัดรึงยอดถันของเธอด้วยหนวด

ในขณะที่ตัวใหญ่กว่าทางขวากําลังใช้หนวดรัดรึงร่างกายและดูดดุนอวัยวะเพศของเธออยู่

ตัวหนังสือบนภาพบรรยายถึงความสุขสมที่คนและสัตว์ทั้งสามได้รับจากกิจกรรมนี้

นักวิชาการศิลปะบันทึกไว้ว่าภาพนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากตํานานพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องของสาวนักงมหอยที่ดําน้ำลงไปขโมยอัญมณีจากวังของเทพเจ้ามังกรใต้ทะเล ซึ่งโด่งดังอย่างมากในยุคเอโดะ

ภาพนี้ถูกทําขึ้นในช่วงที่เขามีอายุ 50 กว่าปี ซึ่งเขาเลิกใช้ชื่อเดิมและเปลี่ยนเป็นชื่อไตโตะ รวมถึงผลิตงานที่มีลายเซ็นว่า คัทซึชิคะ โฮะคุไซ ไตโตะ อันเป็นชื่อที่คนรู้จักกันในปัจจุบัน

โดยเขาทําหนังสือรวมภาพเชิงสังวาสชุดต้นสนวัยเยาว์ (Kinoe no Komatsu) ขึ้นในช่วงปี 1814 ซึ่งเป็นหนังสือภาพชุงกะที่โด่งดังที่สุดของโฮะคุไซ

ซึ่งภาพนี้ก็เป็นภาพที่โด่งดังที่สุดในหนังสือเล่มนี้

ถึงภาพนี้จะไม่ใช่ภาพชุดแรกที่เขาทํางานในหัวข้อนี้ แต่ในยุคนี้โฮะคุไซมีพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณของงานภาพพิมพ์เชิงสังวาส ซึ่งเป็นแนวทางที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของเขา

และด้วยความที่สังคมในยุคเอโดะยังไม่มีค่านิยมหรือจริยธรรมแบบคริสเตียนที่ต้องมีความอับอายหรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ดังนั้น ภาพกิจกรรมทางเพศจึงสามารถเชื่อมโยงกับภาพกิจกรรมสามัญในชีวิตประจําวันอย่างการกินอาหาร ตกปลา ไปจนถึงกิจกรรมที่แฝงนัยยะทางเพศอย่างการงมหอย

หรือแม้แต่ภาพการร่วมเพศอย่างเปิดเผยจะแจ้งก็ตาม ทําให้ศิลปินสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาได้อย่างอิสรเสรี

ภาพนักประดาน้ำและหมึกยักษ์ เป็นต้นธารของงานศิลปวัฒนธรรมแนวหนึ่งของญี่ปุ่นที่นําเสนอเรื่องราวเชิงสังวาสของมนุษย์กับสัตว์มีรยางค์ (Tentacle erotica) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ทั้งในอนิเมะ, มังงะ และอื่นๆ

ผลงานชิ้นนี้ของโฮะคุไซส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังอีกมากมาย แม้แต่ศิลปินตะวันตกอย่างเฟลิเซียน รอปส์ (F?licien Rops), ออกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin), หลุยส์ อูก็อก (Louis Aucoc), แฟร์ นองด์ คนอฟฟ์ (Fernand Khnopff) และปาโบล ปิกัสโซ่ เป็นอาทิ

ปิกัสโซ่เองก็เคยวาดภาพนักประดาน้ำและหมึกยักษ์ในเวอร์ชั่นของตัวเอง และถูกนำไปจัดแสดงเคียงคู่กับภาพต้นฉบับของโฮะคุไซในนิทรรศการ “แรงบันดาลใจของศิลปินญี่ปุ่นในยุคศตวรรษที่ 19 ต่อผลงานของปิกัสโซ่” ในปี 2003 อีกด้วย

หรือในปี 2017 พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของโฮะคุไซ ครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นมาในชื่อ Hokusai beyond the Great Wave

โดยจัดแสดงผลงานชิ้นโดดเด่นในช่วง 30 ปีสุดท้ายของโฮะคุไซที่แสดงถึงอัจฉริยภาพทางศิลปะอันกว้างไกลและลึกซึ้งของเขา เพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจความเชื่อ จิตวิญญาณของศิลปิน

และเส้นทางแห่งการแสวงหาความเป็นเลิศทางศิลปะของโฮะคุไซผ่านผลงานเหล่านี้นั่นเอง

*อุคิโยเอะ (Ukiyo-e) หรือ “โลกเบาหวิว”, “โลกอันล่องลอย” (Floating World) คำนี้แต่เดิมเป็นคำในพุทธศาสนาที่กล่าวถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตและการหลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าว ต่อมามันถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นคำที่หมายถึงวิถีชีวิตของคนเมืองในยุคเอโดะ ที่หมกมุ่นในเรื่องทางโลกย์และความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ ด้วยการเกื้อหนุนของระบบเศรษฐกิจสังคมที่การค้าขายเฟื่องฟูอย่างมากในยุคนั้น สินค้าที่ให้ความบันเทิง เช่น นิยาย หรือนิยายประกอบภาพ จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ภาพที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตในสังคมดังกล่าวจึงถูกเรียกขานว่าอุคิโยเอะ (Ukiyo-e) ซึ่งมีความหมายว่า “ภาพของโลกอันล่องลอย” นั่นเอง

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ คัทซึชิคะ โฮะคุไซ KATSUSHIKA HOKUSAI, ผู้เขียน ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์, สำนักพิมพ์สารคดี, หนังสือ เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ, ผู้เขียน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, สำนักพิมพ์สมมติ, https://bit.ly/2m1Xm1l