สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : ระเบิดนิวเคลียร์กับความสงบ | วิกฤติศตวรรษที่ 21

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (16)

ศึกการค้าครั้งนี้ สหรัฐใช้อาวุธหนักชนิดเดียวต่อจีน คือการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร มีด้านที่สะดวกและง่ายในการปฏิบัติ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับประธานาธิบดีทรัมป์ผู้มีแนวคิดแบบ “ขวาเชิงปฏิบัติ” เป็นกระทำการแบบลุ่นๆ ไม่ต้องอ้างอะไรมาบังหน้า

ต่างกับแนวคิด “ขวาแนบเนียน” ของประธานาธิบดีโอบามา เมื่อสหรัฐต้องขาดดุลการค้ากับจีน ปีละราว 500 พันล้านดอลลาร์ก็ขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเท่าจำนวนนั้น กดดันให้จีนเข้าสู่การเจรจายอมตามความประสงค์ของสหรัฐ หรือไม่ก็เสี่ยงต่อการที่เศรษฐกิจจีนจะซบเซาอย่างหนัก

บริษัทต่างๆ จะพากันย้ายออกจากจีน เพราะทำมาหากินไม่ได้กำไรเหมือนก่อน จนถึงขั้นเศรษฐกิจจีนต้องล้มทั้งยืนได้

การศึกครั้งนี้จึงเป็นฝ่ายสหรัฐที่ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทางการค้าก่อน อันที่จริงแล้ว สหรัฐก็ไม่ได้มีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงต่อจีนอย่างอื่นใด นอกจากอัตราภาษีศุลกากร ดังนั้น จึงจำต้องใช้อาวุธนี้ในแบบที่ทรัมป์ต้องการ

จนถึงขณะนี้ชนชั้นนำสหรัฐโดยทั่วไปยังเห็นว่าตนเองจะสามารถเอาชนะสงครามการค้าต่อจีนได้ หรืออย่างน้อยสกัดการรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วของจีนได้อย่างบังเกิดผล

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงนั้นมีความซับซ้อนแนบเนียนในตัวของมันเอง ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา มีการแซงก์ชั่นรัสเซียอย่างทั่วด้าน โดยความร่วมมือจากสหภาพยุโรป รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย หวังจะให้เศรษฐกิจรัสเซียที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ต้องล้มทั้งยืน

แต่เศรษฐกิจรัสเซียเพียงแต่ซวนเซอยู่พักหนึ่ง แล้วกลับฟื้นตัวขึ้นมาเข้มแข็งกว่าเดิมอีกจนสหรัฐและฝรั่งเศสมีความคิดจะเชิญรัสเซียเข้าร่วมกลุ่ม 7 อีกครั้ง

เมื่อปฏิบัติการแซงก์ชั่นให้รัสเซียล้มทั้งยืนยังไม่สำเร็จ การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทางการค้ากับจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจ ประชากรและตลาด และฐานอุตสาหกรรมใหญ่กว่ารัสเซียเป็นอันมาก ทั้งยังไม่ได้รับความร่วมมือเต็มที่จากสหภาพยุโรปและพันธมิตร

ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย

ความเป็นจริงที่ซับซ้อนก็คือ ช่วงหลายปีมานี้ จีนได้ปรับแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจบางประการอย่างจริงจัง คือ

ก) การเปลี่ยนการเจริญเติบโตจากการส่งออกมาสู่การบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

จากมูลค่าการส่งออกที่เคยสูงถึงร้อยละ 31.6 ของจีดีพีในปี 2008 เหลือเพียงร้อยละ 18.5 ของจีดีพี ในปี 2017 (การส่งออกของสหรัฐปี 2017 อยู่ที่ราวร้อยละ 12 ของจีดีพี)

ประเทศที่จีนส่งสินค้าออกก็มีหลากหลายขึ้น ในบรรดาคู่ค้าหลัก 15 ประเทศเขตแคว้น กว่าครึ่งอยู่ในเอเชีย ที่เหลือกระจายไปในยุโรป ละตินอเมริกา

ที่ส่งออกไปยังสหรัฐมีร้อยละ 19.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ดังนั้น จีนไม่ได้พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐมากอย่างที่คิด

บริษัทบลูมเบิร์กด้านข้อมูล-ข่าวสารทางเศรษฐกิจ-การเงินของสหรัฐ ได้ส่งคณะนักข่าวออกสัมภาษณ์ชนชั้นกลางในหลายเมืองของจีนทั่วประเทศ รวม 20 ราย มีอาชีพต่างๆ กัน รายได้อยู่ระหว่างราว 60,000 ถึงเกือบ 300,000 หยวน คนเหล่านี้ถือว่าไวต่อปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

เมื่อถามถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งหมดตอบว่ายังไม่มีผลกระทบ ยังมองโลกด้านดี เหมือนปีที่แล้ว แต่เริ่มกังวลถึงในอนาคต และเห็นว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกิดจากปัญหาภายในประเทศ ได้แก่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นต้น

บางส่วนต้องเข้มงวดในการใช้จ่าย กรณีพิพาททางการค้ากับสหรัฐไม่ใช่เรื่องสำคัญ มีเพียงสองรายที่กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้า

รายหนึ่งกล่าวว่า เขาต้องระงับการซื้อรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูที่ทำในสหรัฐ เนื่องจากมีราคาสูงขึ้น

รายหนึ่งเป็นสตรีที่เมืองฉงชิ่ง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเกิดขึ้นแล้ว การพิพาททางการค้าจะทำให้เรื่องเลวร้ายขึ้น (ดูบทรายงานของ Karen Leigh และคณะ ชื่อ What China”s Middle Class Says About Trump, Trade and Tomorrow ใน Bloomberg.com 28/02/2019)

ข) การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูง ช่วยให้จีนสามารถพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว

ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากตะวันตกเหมือนเดิม เปลี่ยนจากผู้เลียนแบบเป็นผู้นำในบางอุตสาหกรรมไฮเทคของ โลก เครือข่ายสื่อสาร 5 จี เทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค เช่น การชำระเงินออนไลน์) ไบโอเทคโนโลยี การแพทย์ อวกาศ

(ดูบทความของ Yilong Du ชื่อ Imitator to lnnovator: How China Could Soon Be Leader the World”s Tech Leader ใน forbes.com 12/09/2017)

ค) การเปิดตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อรับการลงทุนและการแข่งขันจากภายนอก ให้บริษัทของจีนยีนอยู่ได้ในตลาด ที่มีการแข่งขันดุเดือดและสามารถสร้างแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงระดับโลกของตนเองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

โดยในปี 2006 จีนมีแบรนด์ติดอันดับหนึ่งในร้อยของโลกเพียงแบรนด์เดียว

แต่ในกลางปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็นถึง 16 บริษัทด้วยกัน มี อาลีบาบา เทนเซนต์ เป็นต้น

(ดูข่าวชื่อ China”s Alibaba, Tencent among 10 most valuable global brands ใน xinhuanet.com 12/06/2019)

ความซับซ้อนของการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังมีลักษณะเฉพาะของมันจากการปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายสหรัฐ นับแต่เลิกผูกค่าเงินดอลลาร์เข้ากับทองคำในสมัยประธานาธิบดีนิกสันในปี 1971 ก็มีแนวคิดที่จะแปรเศรษฐกิจของตนเป็นเชิงการเงิน

ให้ภาคการเงินขยายตัวและมีบทบาทสูงนำภาคอุตสาหกรรม และให้ภาคธุรกิจเอกชนมีเสรีภาพ ในการประกอบกิจการมากขึ้น แก้ไขกฎระเบียบคลายการควบคุมที่เอื้อต่อบรรษัทในการเคลื่อนไหวเงินทุน (รวมโรงงาน) และสินค้าอย่างเสรีทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาภาวะที่ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราการว่างงานสูง รวมทั้งภาวะ เงินเฟ้อสูงของตน

สร้างเป็นกระแสขึ้นทั่วโลกที่เรียกกันว่าเสรีนิยมใหม่ หรือฉันทามติวอชิงตัน

ทำให้เศรษฐกิจของโลก มีฐานเป็นเงินดอลลาร์ต่อไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเปิดช่องให้ทุนการเงินสหรัฐค้าเงินอย่างเสรีไปทั่วโลก และทุน อุตสาหกรรมย้ายโรงงานไปยังประเทศกำลังพัฒนามีจีนเป็นต้น เพื่อเพิ่มพูนกำไรและขยายโอกาส โดยไม่ต้องคำนึงถึง ผลประโยชน์ของแรงงานในสหรัฐเหมือนเดิมขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อหลีกเลี่ยง การแข่งขันกับสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศกำลังพัฒนา เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีลักษณะเด่นดังนี้คือ

ก) ความเข้มแข็งทางภาคการเงิน การธนาคาร ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้แก่สหรัฐจำนวนมากแล้ว ยังใช้เป็นอาวุธ สำคัญในการก่อสงครามการค้า และประเทศคู่อริของตนไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้

ข) ภาคอุตสาหกรรมไฮเทค มีอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ เอไอ และโทรศัพท์มือถือเ ป็นต้น ที่เข้มแข็ง นำหน้าชาติอื่น มีซิลิคอนวัลลีย์ อันมีชื่อเสียง เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ที่สุดของโลก ดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความสามารถจากที่ต่างๆ ไปที่นั่น แม้มนต์ขลังนี้จะลดลง มีเขตเซินเจิ้นของจีนขึ้นมาเป็นคู่เปรียบ แต่ซิลิคอนวัลลีย์ของสหรัฐก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลก สหรัฐมีรายได้จากภาคนี้จำนวนมาก

ค) การผลิตสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมอ่อนแอลงแข่งขันสู้ชาติอื่นไม่ได้ ต้องเสียเปรียบดุลการค้ามหาศาลกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก

ซึ่งสหรัฐได้เคลื่อนไหวให้แก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นก่อสงครามขึ้น

ทางฝ่ายจีน ได้ดำเนินการหลายอย่างในการใช้กระแสเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของตน ได้แก่

ก) การเปิดประเทศผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีที่เซินเจิ้นเป็นแห่งแรก คล้ายกับฮ่องกงที่เป็นท่าเรือเสรีปลอดภาษี ดึงดูดให้ทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา เกิดเป็นจีนเดียวสองระบบในทางปฏิบัติขึ้น ประชาชนจีนเกือบทั้งหมดอยู่ในเศรษฐกิจฐานเงินหยวน นักลงทุน นักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ในเศรษฐกิจฐานเงินดอลลาร์ เมื่อกิจการดำเนินไปดีก็ขยายเขตเศรษฐกิจกว้างขวางและในหลายพื้นที่ขึ้น

ข) การพัฒนาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เพื่อการส่งออกและสนองการส่งออกและการบริโภคในประเทศ เริ่มจากการเลียนแบบ นานปีต่อมาจึงสร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง

ค) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ทางฝ่ายสหรัฐมองแต่ด้านการปฏิบัติของจีนที่ตนเองเห็นว่าเป็นโทษ เช่นว่าทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่เห็นว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ในอีกด้านหนึ่ง จีนมีความสามารถในการผลิต การค้า การสร้างโซ่อุปทานอย่างยอดเยี่ยม จนถึงปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่า แทบจะไม่มีประเทศใดที่สามารถค้าขายแข่งกับจีนได้ เป็นสิ่งที่จีนควรจะได้ระมัดระวัง ไม่เอาประโยชน์เข้าตนมากเกินไป

ในสถานการณ์ดังกล่าว จีนใช้วิธีต่อสู้แบบที่สำนักวิชากำลังภายในของจีนเรียกว่า “ใช้ความนิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว” ได้แก่

1) ใช้การตอบโต้ที่ดูไม่รุนแรงเท่า แต่ส่งผลสะเทือนสูงอย่างมีเป้าหมาย ได้แก่ การเกษตร อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐ เป็นต้น

กรณีการโจมตีเป้าหมายเกษตรกรสหรัฐ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานความผิดหวังของเกษตรกรในรัฐไอโอวาของสหรัฐไว้ดังนี้

นายเครก ฮิลล์ ประธานสำนักการเกษตรรัฐไอโอวา ซึ่งตนเองก็เป็นเกษตรกรคนหนึ่งของท้องถิ่นกล่าวว่า “พื้นที่ภูมิทัศน์ของไอโอวาร้อยละ 88 ใช้ทำฟาร์ม จ้างงานราวร้อยละ 20 และเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 เกี่ยวข้องกับการเกษตร”

ไอโอวาเป็นรัฐนำในการผลิตถั่วเหลือง ข้าวโพด และเนื้อหมู และต้องพึ่งการส่งออกไปยังประเทศมาก ซึ่งแต่ละปีสั่งซื้อถั่วเหลืองที่ผลิตได้ในรัฐไอโอวาและอิลลินอยส์ทั้งหมดรวมกัน

ฮิลล์กล่าวว่า “ราคาถั่วเหลืองได้ลดลงมาก หลังจากเริ่มประกาศสงครามการค้า (คือเดือนมีนาคม 2018) เมื่อราคาถั่วเหลืองในตลาดล่วงหน้าทรุดต่ำจากบุชเชลละ 10.36 ดอลลาร์ เหลือ 8.3 ดอลลาร์ในเวลาไม่ถึง 2 เดือน”

การปฏิบัติพลิกไปพลิกมาของรัฐบาลสหรัฐ ยิ่งทำให้ราคาถั่วเหลืองตกลงอีก กระทั่งเหลือ 8 ดอลลาร์ต่อบุชเชล เป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ฮิลล์ชี้ว่าเกษตรกรที่ขายผลผลิตในราคาต่ำกว่าในตลาดล่วงหน้า ต้องขาดทุนถึงบุชเชลละ 2 ดอลลาร์

“เราผลิตถั่วเหลืองได้ราว 550 ล้านบุชเชลในแต่ละปี ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องขาดทุนถึงปีละ 1 พันล้านดอลลาร์”

นี่ยังไม่ได้นับผลผลิตการเกษตรอื่น อย่างเช่น ข้าวโพดและเนื้อหมู

ฮิลล์สรุปว่า “เมื่อเราเดินไปบนหนทางนี้ มันเหมือนกระโจนลงจากหน้าผา”

สำนักข่าวซินหัวรายงานต่อไปว่า เกษตรกรสหรัฐโดยทั่วไปสนับสนุนพรรครีพับลิกันทางการเมืองในสหรัฐ และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการส่งให้ทรัมป์ก้าวสู่ทำเนียบขาวในการเลือกตั้งปลายปี 2016 เกษตรกรเหล่านี้จำนวนมากเคยเชื่อว่า ภาคการเกษตรของสหรัฐจะเป็นฝ่ายชนะในความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และจะได้รับรางวัลในการเข้าถึงตลาดใหญ่อย่างจีนที่มีชนชั้นกลางขยายตัว และความต้องการบริโภคเนื้ออย่างไม่สิ้นสุด

แต่มาถึงปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นว่า โอกาสเช่นนั้นไม่แน่นอนเสียแล้ว ความอดทนของเกษตรกรสหรัฐได้ลดน้อยลงทุกที บางกลุ่มกำลังคิดใหม่ในการสนับสนุนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

(ดูบทรายงานชื่อ U.S. farmers harvest disappointment as trade war escalates ใน xinhuanet.com 04/09/2019)

2) สร้างความคงทนในการรับมือกับการโจมตีของสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะว่าข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐจะเก็บภาษีสินค้าของจีนในอัตราสูงขึ้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าทรัมป์จะอยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้าหากจีนรับมือไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจีนจะก่อความเสียหายแก่สหรัฐเท่าใด ตนเองก็จะเกิดความเสียหายได้มากเช่นกัน กระทั่งอาจล้มทั้งยืนได้

การสร้างความคงทนสามารถกระทำได้หลายทาง ได้แก่

ก) การปรับตัวเองอย่างเช่นกรณีหัวเว่ย เมื่อถูกขึ้นบัญชีดำ ซื้อหาอุปกรณ์และซอฟต์แวร์จากบริษัทสหรัฐได้ยาก ก็ออกระบบปฏิบัติการของตนเอง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าฮาร์โมนี ไปจนถึงการทำให้ลูกค้ามั่นใจในความมั่นคงทางข้อมูลเมื่อใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย

ข) ขยายพันธมิตรเพื่อโดดเดี่ยวสหรัฐ เปิดกว้างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะภาคการเงิน ลดอัตราภาษีลงสำหรับประเทศอื่น เร่งโครงการการลงทุนต่างๆ ให้เกิดผล รวมทั้งโครงการการลงทุนมูลค่า 400 พันล้านดอลลาร์ในอิหร่าน ด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านขนส่งและการผลิตอุตสาหกรรมรถไฟ ขณะที่สหรัฐกำลังกดดันสุดขีดต่ออิหร่าน

ค) นำหน้าในการสร้างระเบียบการค้าโลกใหม่ที่เป็นธรรมขึ้น เพราะการค้าที่ไม่มีกฎระเบียบและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ย่อมเป็นไปได้ยากและเกิดประโยชน์น้อยแก่ทุกฝ่าย (ดูเนื้อหาสำคัญของรายงานชื่อ Endurance- China”s phase 3 in its trade war strategy ใน db.com 30/08/2019 เป็นต้น)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและสงครามการค้าโลก