วรศักดิ์ มหัทธโนบล : นโยบายอาณาจักรสุยอันเป็นจุดเริ่มต้นสู่อวสาน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยในช่วงปลาย (ต่อ)

ดังนั้น เมื่อสุยหยังตี้จักทรงดำเนินนโยบายใด บุคลิกเช่นนี้ย่อมมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ไม่มากก็น้อย จากเหตุนี้ เมื่อจะสร้างหรือขยายจักรวรรดิ การสร้างและขยายนั้นส่วนหนึ่งย่อมมีอารมณ์สุนทรีย์นั้นตั้งอยู่ด้วย

และอารมณ์เช่นนี้ย่อมทำให้สิ่งทำไปแสดงผลทางรูปธรรมในอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม หรือจากที่สุยเหวินตี้ทรงเคยทำเอาไว้ ความต่างนี้ทำให้การพิจารณาบทบาทของสุยหยังตี้ออกมาในลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง ว่าเป็นบทบาทที่ดีหรือร้าย

ดังนั้น ประเด็นที่พึงกล่าวต่อไปจึงคือ นโยบายหรือผลงานต่างๆ ของสุยหยังตี้ ที่ไม่ว่าดีหรือร้ายต่างก็นำไปสู่การล่มสลายของสุยในที่สุด

 

ในที่นี้จะเริ่มจากเมืองหลวงในยุคของสุยหยังตี้ ซึ่งในยุคนี้มีเมืองหลวงอยู่สามเมือง หนึ่งคือ ต้าซิงเฉิงที่สร้างในสมัยราชบิดา สองคือ ลว่อหยังที่อยู่ทางด้านใต้ของที่ราบภาคกลาง สามคือ เจียงตู ที่สุยหยังตี้เคยรับราชการเป็นอุปราชมาก่อน

ในสามเมืองนี้เจียงตูนับเป็นเมืองที่สุยหยังตี้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง

ดังนั้น เมื่อก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้ว เมืองทั้งสามจึงถูกสร้างและขยายให้อลังการมากขึ้น จากเหตุนี้ การเกิดขึ้นหรือการสานต่อนโยบายคลองขุด การสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายกำแพงเมืองจีนจึงดำเนินต่อไป

ที่สำคัญ กลุ่มขุนนางที่มีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ยังคงเป็นกลุ่มเดิมที่เคยรับใช้สุยเหวินตี้ และหนึ่งในนั้นก็คืออี่ว์เหวินไข่ การที่มีกลุ่มขุนนางเดิมเป็นผู้ควบคุมโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ นี้ ในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวของสุยหยังตี้ถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยเป็นโครงการที่ต่างก็ถือปฏิบัติแต่เดิมมาเมื่อครั้งสมัยสุยเหวินตี้อยู่แล้ว

 

ขณะที่การพัฒนาเมืองหลวงดำเนินไป โครงการคลองขุดก็ดำเนินควบคู่กันไป สำหรับคลองขุดที่สำคัญของสุยหยังตี้ก็คือ คลองที่ขุดจากทางใต้ของลว่อหยังเพื่อเชื่อมแม่น้ำเหลืองกับแม่น้ำฮว๋ายเข้าด้วยกัน และคลองที่เชื่อมแม่น้ำฮว๋ายกับแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซีเกียง) เข้าด้วยกัน การเชื่อมเข้าด้วยกันของคลองดังกล่าว ในด้านหนึ่งเป็นไปเพื่อสนองตอบต่อความต้องการเดินทางไปยังเจียงตูของสุยหยังตี้โดยแท้

และเพื่อสนองตอบต่อความต้องการนี้ การขุดคลองที่เชื่อมแม่น้ำหลักเข้าด้วยกันครั้งนี้โดยปกติก็นับเป็นโครงการใหญ่อยู่แล้ว แต่ที่ไม่ปกติและมาสำทับให้โครงการนี้ดูใหญ่ยิ่งขึ้นก็คือ การเร่งรัดโครงการนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานที่ถูกเกณฑ์เพื่อโครงการนี้จึงมีนับล้านคน และต่างต้องทำงานอยู่ภายใต้การควบคุมและบทลงโทษที่เข้มงวดกวดขัน โครงการคลองขุดที่เริ่มใน ค.ศ.605 นี้จะแล้วเสร็จทีละระยะ แต่ละระยะที่แล้วเสร็จคลองนั้นก็จะถูกใช้ทันที ในขณะที่ระยะต่อมาก็ยังคงขุดต่อไป

ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จตามโครงการก็ลุล่วงสู่ ค.ศ.611 รวมระยะทางของคลองที่ขุดทุกระยะประมาณ 2,000 กิโลเมตร และนับเป็นคลองขุดโบราณที่ใช้แรงงานมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลก

แต่ทั้งหมดนี้ต้องแลกกับแรงงานที่ต้องตายไปเพราะความตรากตรำหรือถูกลงโทษ ที่กล่าวกันว่าในแต่ละวันจะมีรถขนศพของแรงงานเหล่านี้เป็นแถวยาวเหยียด ที่สำคัญ ในระหว่างที่โครงการคลองขุดนี้ดำเนินไปอยู่นั้น ในอีกด้านหนึ่ง สุยหยังตี้ยังมีบัญชาให้สร้างเรือขนาดต่างๆ อีกนับหมื่นลำ

เรือเหล่านี้มีไว้เพื่อใช้ล่องไปตามลำคลองหลังจากที่ขุดเสร็จ

ดังนั้น เมื่อการขุดคลองในระยะที่หนึ่งซึ่งเริ่มเมื่อ ค.ศ.605 และแล้วเสร็จในปีเดียวกัน การล่องเรือลงใต้ของสุยหยังตี้ก็เริ่มขึ้นในสารทฤดูของปีนั้น

 

การล่องเรือลงใต้ดังกล่าวมีเจียงตูเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งในตอนนั้นคือเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งของสุยไปแล้ว ขบวนเสด็จทางชลมารคของสุยหยังตี้นี้นับเป็นขบวนเสด็จที่อลังการและหรูหรายิ่งนัก โดยเรือมังกรของสุยหยังตี้นั้นมีความสูงสี่ชั้น ชั้นบนสุดเป็นที่ประทับของพระองค์และวงศานุวงศ์ สองชั้นถัดลงมาเป็นที่ทำงานของเหล่าเสนามาตย์ และชั้นล่างสุดที่เป็นที่อยู่ของเหล่าขันที

การตกแต่งเรือเป็นไปอย่างอร่ามตา

พ้นไปจากนี้ก็จะเป็นเรือในระดับรองลงมาทั้งการตกแต่งและขนาด และเป็นเรือสำหรับบุคคลในรั้วในวังระดับต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ภิกษุ แม่ชี หรือนักบวชลัทธิเต้า ตลอดจนอาคันตุกะจากต่างถิ่น

ส่วนการเดินเรือแทนที่จะใช้ฝีพายก็กลับใช้คนลากจากสองข้างฝั่งคลอง

และเมื่อต้องใช้คนลากสำหรับเรือทุกลำทุกขนาดแล้ว จำนวนคนลากจึงสูงราว 80,000 คน ซึ่งแต่ละคนจะถูกกำหนดให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่งามตา ขบวนเสด็จนี้จึงมีความยาวของขบวนกว่า 100 กิโลเมตร

ครั้นถึงเวลาค่ำแสงไฟจากเรือจักสว่างไสวจนเห็นได้แม้อยู่ระยะไกล แน่นอนว่าทั้งเวลากลางวันและกลางคืน สองข้างฝั่งคลองจึงไม่เพียงมีทหารรักษาความปลอดภัยแก่จักรพรรดิเท่านั้น หากแม้แต่การประดับประดาตลอดสองฝั่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ธงทิวและต้นหลิวจึงมีให้เห็นตลอดทาง

ส่วนอาหารเป็นหน้าที่ของเมืองต่างๆ ที่ไกลจากคลองในระยะประมาณ 250 กิโลเมตรต้องนำมาถวาย

การเดินทางเช่นนี้ทำให้ขบวนเสด็จใช้เวลาประมาณสามเดือนจึงถึงเจียงตู แม้จะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานก็จริง แต่ก็เป็นเวลาที่ไม่มีใครในเรืออนาทรทุกข์ร้อน เพราะหากเสด็จทางสถลมารคที่เป็นถนนขรุขระแล้ว การเดินทางจะใช้เวลาที่นานและยากลำบากกว่ามาก

ดังนั้น ผู้ที่อนาทรทุกข์ร้อนจะมีก็แต่แรงงานที่ถูกเกณฑ์มาลากจูงเรือเท่านั้น

เมื่อถึงเจียงตูแล้วสุยหยังตี้ก็ทรงพำนักที่เมืองนี้จนถึงต้น ค.ศ.606 จึงเสด็จกลับ ครั้นถึง ค.ศ.610 จึงได้เสด็จอีกเป็นครั้งที่สองด้วยวิธีที่ไม่ต่างไปจากครั้งแรก โดยทั้งระหว่างนั้นและหลังจากนั้นโครงการคลองขุดระยะต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป

และในท่ามกลางความตรากตรำทุกข์ยากของแรงงานเกณฑ์ทั้งโครงการนี้และโครงการอื่น ก็ได้ยังความไม่พอใจให้แก่ราษฎรและกลุ่มอำนาจอื่นๆ จากนั้นความไม่พอใจนี้ก็เข้ามาสั่นคลอนเสถียรภาพของสุย

 

ภัยคุกคามของสุย

อันที่จริงสุยตระหนักถึงภัยคุกคามของตนมาแต่แรกตั้งราชวงศ์ใน ค.ศ.581 แล้ว และภัยคุกคามกลุ่มแรกที่ได้กล่าวไปแล้วก็คือ เฉิน แต่ภายหลังจากที่สยบเฉินได้แล้วนั้น ภัยคุกคามก็ยังมีมาจากกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สุยเองก็รู้ดี และก็ด้วยเหตุนี้ สุยจึงมิได้ตั้งอยู่ในความประมาทแม้แต่น้อย ภัยคุกคามจากกลุ่มอื่นนี้โดยมากคือชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ส่วนการไม่ตั้งอยู่ในความประมาทก็คือ การสร้างขยายกำแพงเมืองจีน

กำแพงเมืองจีนในยุคสุยคือการบูรณะกำแพงเดิมและการสร้างขยายกำแพงใหม่

โดยใน ค.ศ.586 ที่เป็นปีแรกของโครงการนี้ได้ใช้แรงงานเกณฑ์ราว 110,000 คน

ค.ศ.587 ใช้ราว 100,000 คน แต่ครั้นถึงยุคของสุยหยังตี้คือใน ค.ศ.607 มีการใช้แรงงานเกณฑ์สูงถึง 1,000,000 คน ก่อนที่จะลดลงในปีถัดมาเหลือ 200,000 คน

จะเห็นได้ว่ายุคสุยหยังตี้ใช้แรงงานเกณฑ์ทั้งมากกว่าและหนักกว่าในยุคสุยเหวินตี้

และสิ่งที่มาสำทับอย่างหนักหน่วงก็คือ การใช้ในยุคสุยหยังตี้ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อสนองตอบต่อชีวิตเยี่ยงโอรสแห่งสวรรค์ ซึ่งมิได้ตั้งอยู่บนความสมถะและมัธยัสถ์ดังสมัยราชบิดา

ส่วนการใช้แรงงานในการพัฒนากำแพงเมืองจีนแม้จะเป็นไปเพื่อความมั่นคง แต่เบื้องหลังของเหตุผลดังกล่าวก็มีประเด็นปัญหาที่ซับซ้อนเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจเบื้องหลังที่ว่า ในเบื้องต้นจึงพึงทำความเข้าใจภัยคุกคามในสายตาของสุยก่อน

 

ดังได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า สุยตั้งราชวงศ์ขึ้นจากที่โค่นล้มโจวเหนือและกลุ่มอำนาจเก่าลงไปได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องของการจัดการภายใน แต่กับภายนอกแล้วยังคงมีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่อีกไม่น้อย ซึ่งต่างล้วนคือเป้าหมายที่สุยพึงกวาดล้างเพื่อสร้างจักรวรรดิให้สมบูรณ์

ผู้ตั้งตนเป็นใหญ่นี้หากมิใช่บางราชวงศ์จากยุคราชวงศ์ใต้-เหนือที่ยังเหลืออยู่ ก็จะเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่อยู่ทางเหนือ และราชวงศ์ที่สำคัญก็คือ เฉิน ดังได้กล่าวไปแล้ว

ส่วนผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่เป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นนั้น ทางเหนือคือทูเจี๋ว์ย ทางตะวันตกคือถู่อี้ว์หุน ทางใต้ที่ไกลจากจีนคือจามปาหรือเวียดนาม และทางตะวันออกคือหลิวฉิวหรือริวกิว ที่เป็นดินแดนของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งสุยประสบผลสำเร็จในการจัดการกับชนชาติเหล่านี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ยกเว้นก็แต่กับโกกูรยอหรือเกาหลี