วงค์ ตาวัน | ภาคต่อเนื่องรัฐประหาร

วงค์ ตาวัน

การอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ กรณีนายกฯ และ ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วท่ามกลางการติดตามเฝ้าดูเฝ้าฟังของประชาชนทั้งประเทศนั้น มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ซึ่งฝ่ายค้านหลายรายตั้งข้อสังเกตเอาไว้

นั่นคือ ทำไมจึงกล่าวไม่ครบถ้วน ทำไมจึงละเลยไม่กล่าวถ้อยความที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

เมื่อไม่พูดถึงการรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ตีความเชื่อมโยงถึงเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลและล้มรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557

“พร้อมกับตั้งข้อสงสัยกันกลางสภาว่า หรือมีใครแอบคิดว่าจะมีการรัฐประหารอีก!?”

นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ การอภิปรายทั่วไปญัตติการถวายสัตย์ดังกล่าวนั้นมีขึ้นในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

“ในขณะที่วันที่ 19 กันยายน ตรงกับเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 ซึ่งนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือบิ๊กบัง”

คณะรัฐประหารใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. แล้วปรับเปลี่ยนต่อมาเป็น คมช. หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะจดจำกันในชื่อ “คมช.”

“จากนั้นก็มีการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในนาม “คสช.” เรียกกันว่าเป็นการยึดอำนาจภาค 2 ภาคต่อจาก 19 กันยายน 2549 ของ “คมช.” นั่นเอง!”

ถึงขั้นกล่าวกันว่า เพราะภาคแรกนั้น บิ๊กบังทำแล้วไม่สะเด็ดน้ำ จึงทำให้ต้องมีการทำซ้ำโดย คสช. โดยทำแล้วจะไม่ให้เสียของเหมือนหนแรก

19 กันยายน 2549 นั้น เป็นการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ส่วน 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.เข้ายึดอำนาจแล้ว ยังเป็นนายกฯ เองโดยอยู่ยาวถึง 5 ปี

จากนั้นมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ภาคใต้สูตรคำนวณพิสดาร ภายใต้ปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ อีก แบบเรียกได้ว่าล็อกผลเอาไว้ล่วงหน้า

“แต่พอนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณกลับเกิดปัญหา กล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้!”

ครั้นเมื่อตีความถ้อยคำที่ตกหล่นไป ว่าทำไมจึงละเลยละเว้น

ทำให้อดตั้งข้อสงสัยกันไม่ได้ว่า หรือจะมีการรัฐประหารต่อเนื่องเป็นภาคที่ 3 อีก!?

เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในวันที่ 19 กันยายน พล.อ.สนธินำรถถังออกมาล้มรัฐบาลทักษิณ ด้วยข้ออ้างสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม โดยมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณของม็อบเสื้อเหลือง แต่การชุมนุมดังกล่าวได้เสนอข้อเรียกร้องชัดเจนให้ทหารออกมาล้มรัฐบาล

ลงเอยบิ๊กบังก็นำรถถังออกมาในค่ำ 19 กันยายน 2549 ขณะที่นายกฯ ไม่ได้อยู่ในประเทศ ไปประชุมที่สหประชาชาติ การยึดอำนาจจึงง่ายดาย

แต่ดูเหมือนคณะรัฐประหารยังกังวลในเรื่องภาพลักษณ์ทางการเมือง จึงเพียงเข้ายึดอำนาจ แล้วค่อยๆ ถอยออกมา พร้อมกับให้มีการตั้งรัฐบาลโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ก็อยู่ในอำนาจเพียงปีเดียว เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 เรียบร้อยแล้วก็กลับไปสู่ยุคประชาธิปไตย เปิดให้มีการเลือกตั้ง

“ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนซึ่งก็คือเครือข่ายของทักษิณชนะเลือกตั้งถล่มทลาย!”

ส่วนทักษิณได้กลับมาในไทยอีกครั้งในระยะสั้นๆ แล้วเดินทางออกไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลยนับจากนั้น

“จากนั้นในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะอย่างท่วมท้น ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรก ท่ามกลางเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง”

จนกระทั่งในปลายปี 2556 แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้วยสาเหตุ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทักษิณ

การชุมนุมเป็นไปอย่างยืดเยื้อ เมื่อรัฐบาลประกาศยอมยุติ พ.ร.บ.ปัญหา โดยให้วุฒิสภาตีตกไป พร้อมกับประกาศยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ในต้นปี 2557

แต่ม็อบนกหวีดก็ไม่ยอมถอย เปลี่ยนเป้าหมายเป็นการเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เรียกหาทหารให้ออกมายึดอำนาจ เพื่อยังไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในเร็ววัน เพื่อให้ปฏิรูปก่อน

“ผลจากการชัตดาวน์ ทำให้สถานการณ์เข้าทางตัน เหลือทางเดียวคือทางรถถัง!”

22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ในนาม คสช.จึงออกมายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วไม่มีการเลือกตั้งยาวนานถึง 5 ปี แต่ก็ชัดเจนว่าไม่มีความคืบหน้าเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอะไรเลย

เพราะเป็นเพียงข้ออ้างของเกมอำนาจ!!

เหมือนเป็นสูตรเดียวกัน นั่นคือ ม็อบเหลืองออกมาชุมนุมไล่ทักษิณยืดเยื้อ เรียกหาทหาร ลงเอยก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มทักษิณ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อทำให้อำนาจฝ่ายการเมืองลดน้อยลงไป

แต่เมื่อไม่สามารถสกัดกั้นเครือข่ายพรรคทักษิณได้ จึงเกิดม็อบนกหวีดชัตดาวน์ยืดเยื้อ เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็คือยังไม่ให้มีเลือกตั้ง ทำให้เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้องสาวของทักษิณ

“เป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกันมาก ทั้งลงเอยยิ่งลักษณ์ก็ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศกับพี่ชาย”

เพียงแต่เมื่อไม่อยากให้เสียของ หนนี้หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงเป็นนายกฯ เอง และอยู่ยาวถึง 5 ปี พร้อมกับเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยิ่งกว่าฉบับ 2550 หลายเท่า เช่น นายกฯ ไม่ต้องลงเลือกตั้ง แค่ใส่ชื่อไว้ในบัญชีของพรรคการเมือง

“และมี 250 ส.ว.นอนรอโหวตนายกฯ เหมือนล็อกผลเอาไว้แล้ว”

อันที่จริงแล้ว หากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทำแล้วไม่สามารถหยุดอำนาจฝ่ายนักการเมืองได้ แทนที่จะทบทวนหาข้อสรุปว่าเป็นหนทางที่ผิดพลาด ที่สำคัญฉุดให้บรรยากาศของประเทศในสายตาชาวโลกถดถอยลงไป กระทบต่อเศรษฐกิจ

“แต่กลับก่อรัฐประหารภาค 2 ซ้ำอีกในปี 2557 แถมรัฐบาลรัฐประหารอยู่ยาวอีก คราวนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจการค้ายิ่งทรุดหนักยาวนาน!!”

จนถึงวันนี้กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ธุรกิจการค้าตกต่ำไปถ้วนหน้า

เพราะนายกรัฐมนตรียังเป็นอดีตนายทหารพลเอก แถมมาด้วยกระบวนการต่อท่ออำนาจจากยุค คสช.

ไม่แต่เท่านั้น ความที่พรรครัฐบาลไม่ใช่พรรคที่ชนะเป็นอันดับ 1 การตั้งรัฐบาลจึงทุลักทุเล กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แถมเผชิญปัญหามากมายหลายด้านตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งหน้าที่

“วิเคราะห์ได้ล่วงหน้าเลยว่า การเมืองไทยจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปได้ไม่นาน ต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

จะมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ในปลายปีนี้

หรือจะมีภาค 3 ต่อเนื่องอีกก็ไม่แน่ชัด

ข้อสงสัยยิ่งอึงอลเมื่อมีการตีความว่า เหตุใดการกล่าวคำถวายสัตย์ จึงตัดประเด็นการรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญออกไป!?!