การเมืองแบบ “เซน”

จบไปแล้วสำหรับการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152

ประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายมีอยู่ 2 เรื่อง คือ

1. กรณีนำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

และ 2. แถลงนโยบายโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มางบประมาณ

เรื่องที่ 2 ถือเป็น “น้ำจิ้ม”

เพราะ “เมนูหลัก” คือเรื่องการถวายสัตย์

ว่ากันว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่การอภิปรายในสภา และไม่ใช่เรื่องการเมือง

แต่เป็นคดีที่ต้องตัดสินว่า “ผิด” หรือ “ไม่ผิด”

บอกได้เลยว่าหลักฐานในคดีนี้มัด “จำเลย” แน่นจนดิ้นไม่หลุด

เถียงไม่ออก

เถียงมุมไหนก็เถียงไม่ขึ้น

เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดถ้อยคำไว้แล้วชัดเจนว่าต้องถวายสัตย์ปฏิญาณว่าอย่างไร

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดไม่ครบถ้วน

แถมเติมคำ “ตลอดไป” เข้าไปด้วย

ชัดยิ่งกว่าชัด

เมื่อชัดเจนจนดิ้นไม่หลุด

“จำเลย” จึงใช้วิธีการใหม่

ไม่ดิ้น

แต่ “นอนหลับ” คาเชือกไปเลย

ในตำราพิชัยสงครามระบุว่า “หนี” คือสุดยอดกลยุทธ์

สู้ไม่ได้ก็ให้หนี

พล.อ.ประยุทธ์คงศึกษาตำรามาเป็นอย่างดี

ลุกขึ้นชี้แจงเรื่อง “น้ำจิ้ม” คือเรื่องการแถลงนโยบายโดยไม่ชี้แจงที่มางบประมาณ

แล้ว “หนี” เลย

“หนี” แบบชายชาติทหารที่ศึกษาเรื่องกลยุทธ์สงครามมาเป็นอย่างดี

ปล่อยให้ “วิษณุ เครืองาม” ตอบคำถามเรื่องแรกแทน

ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ คือคนเดียวที่รู้เรื่องนี้ว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น

“วิษณุ” ไม่ใช่ “ทหาร”

เขาเลยไม่หนี

“วิษณุ” เป็นนักวิชาการ นอกจากเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายแล้ว

ยังรู้ซึ้งเรื่อง “ปรัชญา” เป็นอย่างดี

เมื่อ “หนี” ไม่ได้

เขาก็ใช้การตอบคำถามแบบ “เซน”

ถือหลักว่าพรรคฝ่ายค้าน “ถาม” ไม่ตรง “คำตอบ”

เขาจึง “ตอบ” แบบ “ไม่ตอบ”

ไม่สนใจว่าการกระทำเช่นนี้จะกลายเป็น “มาตรฐานใหม่” ของการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐบาลชุดต่อไป

นึกอยากจะพูดอะไรก็ได้

ไม่ต้องสนใจรัฐธรรมนูญ

เป็น “มาตรฐาน” ใหม่แบบ “เซน”

คือ “มาตรฐาน”

ที่ไม่มี “มาตรฐาน”