คำ ผกา | นายกฯเบื่อคนขอเงิน?

คำ ผกา

“อะไรกันนี่ประเทศไทย ดังนั้น ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ทั้งการสร้างความปรองดอง ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ จะไปไม่ได้ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้จับประเด็นได้คือ ประชาชนเคยชินกับสิ่งที่เคยได้ โดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องเหมือนทุกวันนี้ โดยไม่เข้าใจระเบียบราชการ วันนี้เราไม่ได้มีปัญหาแค่ระบบราชการ หรือการเมือง แต่มีปัญหาที่คนด้วย ที่พูดไม่ได้ตำหนิใคร เพียงแต่อยากชี้ให้ทุกคนเห็นว่าโจทย์ประเทศอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เห็นหน้ากันก็จะขอแต่เงิน ขอแต่เงิน และร้องเรียนว่าเงินไม่ถึงมือโดยตรง ไม่ว่าผมจะไปไหนก็มีแต่คนขอเงิน ของบฯ ขอขึ้นเงินเดือน ผมอึดอัดใจมาก ซึ่งถ้าผมมี ผมรวย หรือประเทศไทยรวย ผมก็อยากให้จริงๆ ผมไม่โทษใครเพราะเขายังขาดแคลน แต่ข้าราชการต้องช่วยกันอธิบาย เพราะประชาชนไม่รู้จะขอใคร ก็ขอที่นายกฯ ซึ่งผมอยากให้แต่ไม่มีเงินให้ เราต้องจัดสรรให้จากเงินในระบบ ตามขั้นตอนโปร่งใส ถึงมือประชาชน แต่พอไม่ให้ ก็มีคนมาพูดอย่างอื่น คนก็เชื่อกันไปหมด”

https://mgronline.com/politics/detail/9620000089015

อ่านสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แล้วก็นึกภาพออกว่า ไม่ว่านายกฯ จะไปไหน

เมื่อได้พบปะประชาชนก็เป็นธรรมดาที่ประชาชนจะสะท้อนปัญหาและความต้องการของเขาให้นายกฯ ฟัง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ความเดือดร้อนลำบาก

คนที่เจอน้ำท่วมอยู่ ความช่วยเหลือมาช้า ข้าราชการก็ย่อมชี้แจงกับประชาชนว่า งบฯ ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ประชาชนก็ย่อมเห็นว่า เรื่องเร่งด่วนทำไมไม่รีบทำงบฯ ฉุกเฉินมาก่อน ฯลฯ

แต่ทั้งหมดนี้นายกฯ ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านเขาไม่ได้ “ขอเงิน” และนายกฯ ไม่จำเป็นต้องรวยเพื่อจะมีเงินมาแจกชาวบ้าน

เนื่องจากชาวบ้านประชาชนไม่ได้อยากได้เงินส่วนตัวของนายกฯ ย้ำอีกครั้งว่าชาวบ้านเขาไม่ได้ “ขอเงิน” แต่เขากำลัง “ทวงเงิน” ในฐานะผู้เสียภาษีให้กับประเทศชาติว่า ในเมื่อเขาเสียภาษีไปแล้ว เงินภาษีนั้นรัฐบาลเอาไปทำอะไร?

นึกออกไหมว่าประชาชนที่เขาเสียภาษีเขาก็เสียไปบนความคาดหวังว่าภาษีนั้นมันจะกลับมาเป็นเม็ดเงินงบประมาณที่ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี ลูกเต้าได้เรียนหนังสือดี ถนนดี น้ำดี

และภาษีนั้นควรจะทำให้เขารอดพ้นหรือได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้ง และอื่นๆ

ทีนี้เมื่อหลายๆ อย่างมันไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

เมื่อประชาชนมีโอกาสได้พบกับนายกฯ ตัวเป็นๆ เขาก็ย่อมอยากจะทวงถามว่า เงินหายไปไหน ทำไมไม่เอาเงินไปช่วยเขา

พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ก็พูดถูกส่วนหนึ่งว่า เงินงบประมาณมันก็มีระเบียบการใช้จ่าย จะควักมาจ่ายมาแจกไปเรื่อยไปเทื่อยไม่ได้ พวกชาวบ้านนี่ไม่รู้อะไรบ้างเลย เก่งแต่ขอ เก่งแต่ทวง เก่งแต่ด่า เก่งแต่บ่น ไม่ได้รู้เรื่องระบบระเบียบอะไรบ้างเลย

ฟังแล้วชาวบ้านอย่างเราๆ นี่กลายเป็นพวกขี้ขอยังไงก็ไม่รู้

เอางี้ ฉันว่าเรามานั่งนับหนึ่งกันใหม่ในเวลาที่เราพูดว่าเราคาดหวังอะไรจากการเสียภาษีให้รัฐ และอย่ามาบอกว่าคนจนไม่เสียภาษี

เพราะคนไทยทุกคนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตที่โดยสัดส่วนแล้วเป็นรายได้ของรัฐมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยซ้ำ

เวลาที่เราเสียภาษี เราไม่ได้คาดหวังให้รัฐเอาเงินนั้นมาแจกเรา

เราไม่ได้คาดหวังให้รัฐเอาถุงของขวัญหรือมาผลิตข้าวปลาอาหารราคาถูกขายบรรเทาทุกข์ให้เรา

รัฐบาลที่เข้าใจประชาชนและเป็นเนื้อเดียวกันกับประชาชนจะรู้ว่า priority ของการใช้ภาษีของประชาชนในการทำงบประมาณนั้นต้องใช้ไปกับการ empower ประชาชน

หลักการ empower ประชาชน หรือการทำให้ประชาชนให้เข้มแข็งนั้นเรียบง่ายมากคือ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีการศึกษาดี และมีเงินเหลือใช้

เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง รัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขทั้งคุณภาพ บริการ การเข้าถึง นี่เป็นสิ่งที่รัฐต้องเอาภาษีของประชาชนมาลงทุน

นอกจากเรื่องสาธารณสุขที่หมายถึงโรงพยาบาล ประชาชนจะมีสุขภาพที่ดีได้ก็ต่อเมื่อมีอาหารที่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีมลพิษ อากาศไม่เสีย พืชผักไม่ปนเปื้อนสารเคมี มีสวนสาธารณะ สนามกีฬา มีพื้นที่สีเขียว มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง ถนนหนทางปลอดภัย

เพื่อให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี รัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาสาธารณะหรือการศึกษามวลชน โรงเรียนรัฐทั่วประเทศต้องมีคุณภาพมาตรฐานการศึกษาใกล้เคียงกัน (หมายถึงดีใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ห่วยใกล้เคียงกัน)

การศึกษาภาคบังคับต้องเป็นบริการจากรัฐทุกคนเรียนฟรี นอกจากโรงเรียนดีมีคุณภาพเหมือนกันทั้งประเทศ รัฐมีหน้าที่บริการการศึกษานอกโรงเรียนที่หมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นคือมีหน้าที่ในการสร้างห้องสมุดสาธารณะ สร้างมิวเซียม (ที่ไม่ใช่แค่โรงเก็บของเก่า) ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ สร้างโรงละคร คอนเสิร์ต เป็นสปอนเซอร์เอาศิลปะดีๆ จากทั่วโลกมาจัดแสดงให้คนไทยได้ดู (ไม่ใช่แค่ให้ไฮโซได้ดู)

การศึกษาที่จะ empower ประชาชน ไม่ได้หมายถึงจับเขามาฝึกอาชีพ แต่หมายถึงการสร้างพลเมืองที่มีศักยภาพจะไปแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และรัฐทำหน้าที่อำนวยให้ความรู้ที่ประชาชนต้องการนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้และเป็นไปได้

เพื่อให้ประชาชนมีเงินเหลือใช้ หรืออย่างแย่ที่สุดคือแม้จะมีเงินน้อยมาก

ประชาชนก็จะไม่มีความอับจนในชีวิตในเกินไป

ไม่ต้องสูญสิ้นความเป็นคนไปเป็นก้อนเนื้อที่แค่หายใจได้ไปวันๆ

สิ่งที่รัฐต้องทำคือ

1. ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละหนึ่ง ดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละห้าหรือหกหรือเจ็ด

เพราะถ้าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ ประชาชนหาเงินเท่าไหร่ เงินก็กลายเป็นดอกเบี้ยธนาคาร ซื้อบ้านสองล้าน จ่ายจริงห้าล้าน ซื้อรถหกแสน จ่ายจริงเก้าแสน อะไรทำนองนั้น

2. รัฐต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการคมนาคมและขนส่งสาธารณะ และต้องคิดว่าทำอย่างไรประชาชนจะต้องจ่ายเงินไปกับค่าเดินทางน้อยที่สุด

คงไม่ต้องมานั่งแจกแจงว่า รถเมล์เมืองไทยคุณภาพแย่แค่ไหน

ไม่มีทางเลือกของการเดินทางที่ใช้การเดินด้วยสองเท้าหรือการปั่นจักรยาน

ค่ารถไฟฟ้าใต้ดินของเราแพงกว่าหลายๆ ประเทศที่เขามีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเราหลายเท่า

คนในต่างจังหวัดต้องควักเงินซื้อรถขี่เอง ขับเอง แทนที่หนึ่งครอบครัวจะมีรถหนึ่งหรือสองคัน กลายเป็นว่าครอบครัวที่มีสมาชิกสี่คนก็ต้องมีรถเครื่องสามถึงสี่คัน

บางบ้านอาจมีรถยนต์เพิ่มขึ้นมาอีก เป็นทั้งภาระค่าใช้จ่าย แถมยังต้องเสี่ยงชีวิตกับอุบัติเหตุ

เด็กมัธยมในต่างจังหวัดต้องขี่รถเครื่องไปโรงเรียนตั้งแต่ ม.1 ทั้งๆ ที่ยังทำใบขับขี่ไม่ได้ แต่ไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทาง

คิดง่ายๆ ว่าครอบครัวคนที่มีรายได้น้อย ถ้าเพียงแค่เขาไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรถ และเขามีทางเลือกในการเดินทางที่ดี ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว เราจะลดภาระหนี้สินให้พวกเขาได้มากขนาดไหน

3. รัฐต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปลงทุนกับ public housing หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า การเคหะแห่งชาติ หน่วยงานนี้ควรจะเป็นหน่วยงานเกรดเอบวกๆ เป็นหน่วยงานที่สำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ

สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเคหะแห่งชาติทำงานร่วมกับนักพัฒนาเมือง นักออกแบบเมือง นักวางผังเมืองและกระทรวงที่วางแผนทำการขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้ประชาชนซื้อในโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการให้เช่าราคาถูกแบบเช่าระยะยาว

นอกจากนี้ การเคหะจะเป็นผู้ออกแบบที่อยู่อาศัยเหล่านี้พร้อมออกแบบพื้นที่ใช้สอยโดยมองไกลไปจนเห็นล่วงหน้าว่าหน้าตาของเมืองที่จะเกิดขึ้นตามหลัง “ผู้คน” และชุมชนของการเคหะนี้อย่างไร เพียงประชาชนไม่ต้องผ่อนบ้านหน้ามืด หรือนำรายได้หนึ่งในสามมาจ่ายค่าเช่า แถมยังได้ facility จากบ้านหรือแฟลตการเคหะที่มาพร้อมสระว่ายน้ำ สนามกีฬา ห้องสมุด สวนสาธารณะ โรงเรียนใกล้บ้านสำหรับลูกหลาน

แค่นี้ประชาชนก็มีเงินเหลือในกระเป๋าอย่างแช่มชื่น

การใช้ภาษีเพื่อ empower ประชาชนมันเงียบง่ายมาก นั่นคือ รัฐต้องใช้งบประมาณส่วนใหญ่ ย้ำว่าส่วนใหญ่ ไปกับ 4 สาธารณะ คือ สาธารณสุข/public health, สาธารณศึกษา/public education, ขนส่งสาธารณะ/public transportation และสาธารณะเคหะ/public housing

เมื่อมีสี่สาธารณะนี้แบบจริงจังแล้ว

จะไม่มีความจำเป็นอะไรที่รัฐจะต้องมาแจกเงินประชาชนสามร้อยห้าร้อย

และที่สำคัญ ถ้านายกฯ ไม่อยากไปไหนแล้วมีแต่คนทวงเงิน มีแต่คนโทษว่าทำไมนายกฯ ไม่ทำ ทำไมนายกฯ ไม่มา

น้ำท่วมอีสานทำไมไปผัดใบเหลียง

ถ้านายกฯ ไม่อยากเจออะไรแบบนั้น บอกเลยว่ามันมีวิธีที่ง่ายมากที่สุดคือ ทำการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นโดยแท้จริงเสีย

อย่าบอกว่ามันยาก มันใช้เวลา

เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยนั้นเขาเติบโตของเขามาค่อนข้างเข้มแข็งแล้ว

อบจ. เทศบาล อบต.ต่างๆ ทั่วไทย เขาพัฒนาไปได้ไกล สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นได้พอสมควรแล้ว (แน่นอนว่าก็มีท้องถิ่นห่วยๆ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราต้องไปดึงเอาอำนาจกลับมารวมศูนย์ใหม่)

กระจายอำนาจ มอบสิทธิในการตัดสินใจเรื่องท้องถิ่นให้ท้องถิ่น ยอมให้เขาบริหารจัดการเงินตนเอง และรัฐบาลกลางค่อยๆ ถอนตัวเองออกมาดูเรื่องใหญ่ๆ ก็พอ เช่น เกษตร, กลาโหม ความมั่นคง การคลัง อะไรแบบนี้

โอมเพี้ยง ถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเขาจัดการตนเองเต็มที่ บอกเลยว่า จะไม่มีใครบ่นถึงบ่นหาถามหานายกฯ เลย เพราะมีปัญหาอะไรเขาจะไปถามหานายก อบต.แทน เพราะเขารู้แล้วว่า นายกรัฐมนตรีนั้นดูแค่ภาพกว้างๆ ดูแค่เรื่องใหญ่ๆ

แต่นี่นายกรัฐมนตรีเล่นไปสอนประชาชนทุกเรื่องตั้งแต่น้ำท่วม เลี้ยงปลา หรือเรื่องมาเรียมกินพลาสติก แถมยังพร่ำพูดเรื่องภาระการดูแลประชาชนในอารมณ์บิดาดูแลบุตร

เมื่อเป็นเช่นนั้น ประชาชนเขาก็นึกว่า อะไรๆ ก็นายกฯ สั่ง

แถมงบฯ อะไรก็ต้องกลับมาอนุมัติที่ส่วนกลางหมด ในนามของการกลัวคอร์รัปชั่น กลัวการโกง บลา บลา บลา ก็ทำให้ทุกอย่างล่าช้า

พอเป็นแบบนี้ ชาวบ้านเจอหน้าเขาก็ต้องทวง

แถมให้อีกนิดว่า ถ้าไม่อยากให้ชาวบ้านมาทวงเงินห้าพันบาทช่วยน้ำท่วม สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ

1. ปรับปรุงประสิทธิภาพการเตือนภัยพิบัติ

2. เตือนไม่ทันมันฉุกเฉิน รัฐต้องมีประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือ การขนย้ายคน สัตว์เลี้ยง การตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว (ที่ไม่ใช่เต็นท์อนาถา)

3. ต้องมีแผนที่ชัดเจนในการเยียวยาผู้ประสบภัย ทั้งการพักชำระหนี้ กองทุนฟื้นฟูชีวิตและอาชีพหลังประสบภัย เงินกู้ไร้ดอกเบี้ยเพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และหรือ ใช้โอกาสหลังเกิดภัยพิบัติไปจัดการจัดวางผังเมือง ระบบน้ำ ระบบสุขาภิบาลต่างๆ ใหม่

4. วนกลับไปที่ข้อ 1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนภัย รัฐต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว เพราะภัยมีทั้งภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และภัยมลพิษ pm 2.5

ทำได้ครบทั้งหมดนี้ เวลานายกฯ ไปที่ไหน นอกจากจะไม่มีคนมาทวง (ขอ) เงินแล้ว จะมีแต่คนเข้ามากอดมาหอม มาผูกผ้าขาวม้าให้ด้วยใจรักจริง จะมีแต่คนเอาลางสาด ลองกอง เอาลำไย ลิ้นจี่เป็นเข่งๆ มากำนัลนายกฯ

เพราะเขาขอบคุณที่นายกฯ บริหารประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ถ้าคนเขามีความสุข คนเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาไม่มาบ่นมาขอหรอก แถมเขามีอะไรดี อะไรอร่อย เขาจะขนให้กิน เจ็บป่วยคนก็ห่วงใยอยากให้หายเร็ว

ที่สำคัญถ้ามีนายกฯ คนไหนทำได้ ประชาชนเขาก็ไม่คิดถึงคนอยู่เมืองนอกหรอก จะบอกให้!