จิตต์สุภา ฉิน : กลโกงไฮเทคชิงไหวชิงพริบครู-นักเรียน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Elementary learner cheating at lesson

ก่อนหน้าการมาถึงของสมาร์ตโฟนและสมาร์ตวอตช์ วิธีการโกงข้อสอบเท่าที่ฉันพอจะจำได้ก็พอจะมีตั้งแต่แบบที่คลาสสิคที่สุดคือเงยหน้าขึ้นแอบมองกระดาษข้อสอบของเพื่อนที่นั่งโต๊ะข้างหน้า จดสูตรเอาไว้บนยางลบ หรือส่งต่อคำตอบกันในม้วนกระดาษเล็กๆ ไปจนถึงวิธีที่ไฮเทคขึ้นมาหน่อยอย่างนาฬิกาข้อมือที่มีปุ่มเล็กๆ ให้กดคิดเลขได้ ซึ่งถ้าเจออาจารย์คุมสอบที่เฮี้ยบๆ หน่อยก็จะถูกห้ามไม่ให้ใส่เข้าไปในห้องสอบ

ห่างเหินจากชีวิตการเรียนมานาน พอได้มาอัพเดตอีกทีว่าเด็กสมัยนี้ใช้เทคโนโลยีโกงข้อสอบกันไปถึงไหนแล้วก็รู้สึกตกใจเล็กๆ ในแวดวงเทคโนโลยี ถึงกับมีการอุทิศคำเรียกให้เลยว่านี่คือเทคโนโลยีแห่งการโกง หรือ CheatTech

ล่าสุดคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตของอังกฤษเพิ่งจะออกมาเสนอกฎข้อใหม่ว่านาฬิกาข้อมือทั้งหมด ทุกประเภท ไม่ใช่เฉพาะสมาร์ตวอตช์เท่านั้น ควรถูกแบนไม่ให้สวมเข้าห้องสอบด้วยเลย เพื่อเป็นการตัดโอกาสความเป็นไปได้ที่นักเรียนจะโกงข้อสอบด้วยการใช้สมาร์ตวอตช์

ถ้าถามว่าแล้วทำไมถึงไม่แบนเป็นเรือนๆ ไปล่ะ อันไหนที่ดูไฮเทคหน่อยก็ห้ามนำเข้า อันไหนดูหน้าตาธรรมดา มีกลไกแบบนาฬิกาทั่วๆ ไปก็ให้ใส่เข้าไปสอบก็ไม่เห็นจะเป็นไร

แต่สาเหตุก็คือ สมาร์ตวอตช์สมัยนี้มีหน้าตาและความสามารถที่หลากหลายมาก บางเรือนมีรูปลักษณ์ไฮเทคดูออกทันทีว่าเป็นแก็ดเจ็ต

ในขณะที่บางเรือนหน้าตาภายนอกก็ดูเป็นนาฬิกาที่ใช้บอกเวลาธรรมดา แต่เพียงแค่กดปุ่มมันก็จะเปลี่ยนให้เป็นนาฬิกาประเภทที่สามารถใช้พิมพ์อีเมลได้ทันที

เพื่อเป็นการปลอดภัยไว้ก่อน อาจารย์คุมห้องสอบทุกคนก็เลยได้รับคำแนะนำว่าให้ตัดไฟแต่ต้นลม แบนนาฬิกาข้อมือทั้งหมดออกจากห้องสอบไปเสียเลยจะดีกว่า

เพราะสมัยนี้เริ่มแยกแยะนาฬิกาที่เอาไว้ใช้บอกเวลาเฉยๆ ออกจากนาฬิกาที่มีลูกเล่นนั่นนี่ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

ถ้าคนคุมสอบไม่เท่าทันเทคโนโลยีก็อาจจะถูกตบตาได้ หรือไม่อย่างนั้นก็เสียเวลากว่าจะตรวจนาฬิกาทีละเรือนๆ ก็ไม่ต้องเป็นอันเริ่มสอบกันพอดี

 

ฟังดูก็อาจจะรู้สึกว่าทำเกินกว่าเหตุไปหรือเปล่านะ แต่เมื่อลองค้นเพิ่มเติมอีกนิดก็จะเข้าใจหัวอกครูมากขึ้น

เพราะเดี๋ยวนี้มีแม้กระทั่งนาฬิกาที่โฆษณากันตรงๆ ว่าเป็นนาฬิกาสำหรับการใช้โกงโดยเฉพาะ เพราะนาฬิกาสามารถเก็บไฟล์ PDF Word และไฟล์เอกสารประเภทอื่นๆ ได้ และที่ทั้งน่าประทับใจและน่าเป็นห่วงเท่าๆ กันก็คือความสามารถของการกดปุ่มฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว กดปุ๊บก็จะเป็นการล็อกปุ่มอื่นๆ ทั้งหมด และเปลี่ยนหน้าจอของนาฬิกาให้กลายเป็นการบอกเวลาธรรมดา ไว้ใช้สำหรับกรณีที่ครูคุมสอบเกิดสงสัยและเดินเข้ามาขอตรวจนั่นเอง

อีกเรือนหนึ่งก็คอนเซ็ปต์แหวกแนวไม่แพ้กัน คือการเป็นนาฬิกาล่องหน มองด้วยตาเปล่าหน้าจอนาฬิกาจะไม่แสดงอะไรเลย แต่ทันทีที่สวมแว่นพิเศษที่ขายคู่กันกับนาฬิกา ตัวอักษร โน้ตที่แอบจดเข้าไป สูตรต่างๆ ที่อัพโหลดเอาไว้แล้วล่วงหน้าจึงจะปรากฏขึ้นมาให้เห็นบนจอ

เพราะเทคโนโลยีมีพร้อมให้ใช้ในการโกงได้หลายรูปแบบ สถิติการโกงจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในอังกฤษมีการเพิ่มขึ้นของการใช้สมาร์ตโฟนโกงข้อสอบถึง 26% ในปี 2018 และ 25% ในปี 2017

สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือใช้ช่วยโกงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งอาจารย์คุมสอบก็จะคุ้นเคยกับเครื่องมือชนิดนี้มากที่สุดเหมือนกัน และยังพอที่จะหาทางรับมือได้ไหว

แต่สิ่งที่น่าปวดหัวก็คือมีเทคโนโลยีช่วยโกงเกิดใหม่อีกยุ่บยั่บ ในสหรัฐอเมริกาก็ยังเคยมีนักเรียนที่ใช้หูฟังบลูทูธขนาดจิ๋วคอยฟังข้อมูลที่ส่งมาจากสมาร์ตโฟนที่อยู่ในกระเป๋าสะพาย

หรือในอังกฤษก็มีรายงานว่ามีนักเรียนที่ตั้งใจโกงข้อสอบด้วยการแอบซ่อนดีไวซ์บางอย่างเอาไว้ใต้เล็บปลอมมาแล้ว

 

พูดถึงแต่กรณีในอังกฤษ หรืออเมริกา ก็อาจจะหาว่าไกลตัว เด็กไทยเราก็ใช่ว่าจะน้อยหน้า เป็นข่าวไปทั่วโลกด้วยการใช้แว่นตาที่แอบฝังกล้องสปายแคมเอาไว้ให้เพื่อส่งภาพข้อสอบที่เห็นตรงหน้าไปให้ผู้สมรู้ร่วมคิดส่งคำตอบกลับมาให้ทางสมาร์ตวอตช์

ซึ่งอันที่จริงก็คล้ายๆ กับทริกที่เด็กสิงคโปร์เคยใช้มาก่อนแล้ว

ในจีน ความคิดฉลาดแกมโกงแบบนี้ออกมาในรูปแบบของการใช้ลายนิ้วมือปลอมเพื่อปลอมตัวเข้าไปสอบเอ็นทรานซ์แทนลูกค้าที่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างหลายหมื่นหยวน และยังมีกลโกงแบบอื่น เช่น การใช้ยางลบอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังตัวส่งสัญญาณมาส่งคำถามและรับคำตอบด้วย

ซึ่งในกรณียางลบนั้นแนบเนียนจนดูด้วยตาเปล่าก็ไม่รู้สึกผิดสังเกตอะไร แต่ครูคุมสอบมาจับได้ก็ตรงที่เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งนั่งจ้องยางลบของตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็เลยถูกจับได้ในที่สุด

การใช้หูฟังขนาดจิ๋วก็เป็นอีกหนึ่งทริกที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กจีนเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลจนสามารถทำหูฟังขนาดกระจิริดได้ ก็เกิดเหตุการณ์ที่หูฟังหลุดเข้าไปลึกจนไม่สามารถหยิบออกได้ด้วยตัวเอง หมอในโรงพยาบาลจึงต้องเจอเคสคีบหูฟังที่เข้าไปติดอยู่ในรูหูนักเรียนมากถึง 16 คนภายในวันสอบระดับประเทศวันเดียว

ในเมื่อนักเรียนปรับตัวให้ไฮเทคในการโกงมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายสถาบันการศึกษาก็ต้องไล่ตามให้ทันเหมือนกัน

อย่างเช่นในจีน เจ้าหน้าที่คุมสอบก็ใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าเพื่อตรวจสอบตัวตนของคนที่เข้าสอบว่าใช่คนเดียวกับในฐานข้อมูลหรือเปล่า

อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการจับโกงก็อย่างเช่น เครื่องตรวจจับโลหะ เอาโดรนมาคอยบินตรวจ หรืออุปกรณ์แจมสัญญาณ ไม่แน่ว่าอีกไม่นานอาจจะต้องหันไปแบนทุกสิ่งทุกอย่างแบบที่อังกฤษเริ่มเสนอให้แบนนาฬิกาข้อมือทุกรูปแบบแล้ว

ต่อไปโรงเรียนอาจจะต้องเตรียมทุกอย่างให้ผู้เข้าสอบเอง ตั้งแต่เสื้อผ้า กระโปรง กางเกง แว่นตา รองเท้า ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบอย่างปากกา ดินสอ และยางลบ

นอกห้องสอบก็ใช่ว่าจะชะล่าใจได้ ครูก็ยังต้องหูตากว้างไกลด้วยการตรวจสอบทุกซอกทุกมุมของอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาร์กเว็บ ที่เป็นมุมมืดของอินเตอร์เน็ตและมักจะถูกใช้ในการทำเรื่องผิดกฎหมาย หลายครั้งที่ตรวจสอบก็พบว่ามีการนำข้อสอบและคำตอบมาขายกันอย่างเกลื่อนกลาดด้วย

เดาได้ไม่ยากว่า ไม่ว่าครูจะขยับไปทางไหน นักเรียนที่รู้สึกว่าอนาคตทั้งหมดของชีวิตขึ้นอยู่กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (แต่ไม่ได้เตรียมความพร้อมตัวเองมาให้ดีพอ) ก็จะต้องดิ้นรนเพื่อที่จะชิงไหวชิงพริบกับครูต่อไปจนได้ แม้ว่าผลกระทบที่ตามมาอาจจะหมายถึงการเสียอนาคต ถูกไล่ออก ถูกตัดสิทธิสอบ หรือการมีชื่อเสียติดตัวไปตลอดทั้งชีวิตก็ตาม

เพราะผลตอบแทนที่ได้ หากไม่ถูกจับ มันหอมหวานและยั่วยวนจนยากจะห้ามใจ