รายงานพิเศษ : คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา ยูเครนกับวิถีทางการทูต (จบ)

โดย ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected]

“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2014 ประเทศรัสเซีย เพื่อนบ้านของเรา ได้เปิดการรุกรานเขตอธิปไตยยูเครนด้วยกองกำลังติดอาวุธโดยเข้ายึดครองสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย (Autonomous Republic of Crimea) รวมทั้งเมืองเซวัสโทปอล (Sevastopol)”

เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย นายอันดรีย์ เบชตา เล่าถึงสถานการณ์ในยูเครน

“กองกำลังติดอาวุธของรัสเซียเข้ารุกรานเมืองดอนบาส (Donbas) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศยูเครนติดกับเขตแดนรัสเซีย ด้วยกำลังทหารหลายพันนายจากทุกเหล่าทัพ พร้อมอาวุธหนัก กระสุน ทรัพยากรทางการเงิน และทหารรับจ้าง ซึ่งมีการจัดกำลังทหารราว 7,000 นายในเมืองดอนบาส และสหพันธรัฐรัสเซียยังได้จัดรถถัง 700 คัน รถเกราะลำเลียงพลมากกว่า 1,000 คัน ปืนใหญ่อีกกว่า 1,000 กระบอก เข้าสู่เมืองดอนบาส”

“เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.2016 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้ลงมติเรื่อง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐปกครองตนเองแหลมไครเมียและเมืองเซวัสโตปอลในยูเครน (Situation of human rights in Autonomous Republic of Crimea and the city of Sevastopol in Ukraine) โดยให้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของสาธารณรัฐปกครองตนเองแหลมไครเมียและเมืองเซวัสโตปอล ว่า เป็นส่วนหนึ่งของยูเครน และประณามการยึดครองแหลมไครเมียและไม่ยอมรับความพยายามในการผนวกแหลมไครเมียของสหพันธรัฐรัสเซีย”

“นอกจากนี้ สมัชชาสหประชาชาติยังได้ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัสเซียซึ่งเข้าไปยึดครอง รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรม การลักพา การประหัตประหารทางการเมือง และการจำกัดสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของชาวไครเมีย ซึ่งควรจะเป็นขั้นตอนสำคัญต่อการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองยูเครนที่อาศัยอยู่ภายใต้การยึดครองนี้”

“พฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในศตวรรษที่ 21 โดยประชาคมระหว่างประเทศได้มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อการกระทำที่ก้าวร้าวของรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษรัสเซีย”

เอกอัครราชทูตเบชตา ยังได้พูดถึงกรณีเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน เอ็มเอช 17 (MH17) ซึ่งออกเดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อไปยังกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.2014 และต่อมา เครื่องตกใกล้กับเมืองฮราโบฟ (Hrabove) จังหวัดโดเนตสก์ (Donetsk) ประเทศยูเครน ห่างจากชายแดนยูเครน-รัสเซียประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียที่น่าเศร้า คือผู้โดยสาร 283 คนและลูกเรือ 15 คน รวม 298 คน เสียชีวิตทั้งหมด

“รายงานล่าสุดของทีมสืบสวนนำโดยเนเธอร์แลนด์ (Dutch-led Joint Investigation Team – JIT) ประกอบด้วยเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ออสเตรเลีย มาเลเซีย และยูเครน ได้ข้อสรุปว่า เครื่องบินถูกยิงตกโดยระบบขีปนาวุธ บัค (BUK) จากพื้นที่ควบคุมโดยรัสเซีย และกลุ่มที่สนับสนุนรัสเซีย ซึ่งระบบนี้ได้ติดตามเข้ามาในเขตยูเครน และกลับเข้าสู่ดินแดนของรัสเซียหลังเกิดอุบัติเหตุ ประชาคมระหว่างประเทศแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวเพื่อนำผู้กระทำผิดในอาชญากรรมชั่วร้ายนี้มาสู่กระบวนการยุติธรรม”

“การเจรจามาราธอน 16 ชั่วโมงในกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เพื่อหาหนทางแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างผู้นำของ 4 ประเทศ คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และยูเครน สิ้นสุดลงด้วยการทำข้อตกลงมินสก์ (Minsk agreements 2014 and 2015) โดยที่มีการกำหนดกรอบเวลาซึ่งฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งทำศึกกันอยู่ ตลอดจนตัวแสดงนำอื่นๆ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ สงครามในเมืองดอนบาส (Donbas) จะจบลงทันที หากรัสเซียได้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อตกลงมินสก์ และอนุญาตให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยอิสระภายใต้การตรวจสอบโดยผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ”

“สหพันธรัฐรัสเซียมีการกระทำที่ละเมิดบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัดรวมทั้งในกฎบัตรสหประชาชาติและภาระผูกพันภายใต้พระราชบัญญัติเฮลซิงกิรอบสุดท้าย (Helsinki Final Act) พฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในศตวรรษที่ 21 ประชาคมนานาชาติได้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระทำที่ก้าวร้าวของรัสเซีย”

“กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก G7 และประเทศในสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จนกว่ารัสเซียจะปฏิบัติตามข้อตกลงมินส์คโดยสมบูรณ์ และคืนแหลมไครเมียสู่ยูเครน”

 

ท่านทูต เบชตา กล่าวเพิ่มเติมว่า

“เราขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งใน 100 ประเทศ ซึ่งออกเสียงในข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับ บูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศยูเครน เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2014 หลังจากที่รัสเซียเข้าครอบครองแหลมไครเมีย”

“ข้อมตินี้ได้ส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นว่า ในศตวรรษที่ 21 ประชาคมระหว่างประเทศจะไม่ยอมรับความพยายามใดๆ ในการยึดครองดินแดนของรัฐอธิปไตย”

“เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศยูเครน ย้ำการสนับสนุนของไทยเพื่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน”

 

การปฏิรูปของประเทศยูเครน

“ได้ดำเนินการคืบหน้าทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย ระบบศาล และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยยึดหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งยูเครนยังต้องทำต่อไปอีกมาก”

“อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการปฏิรูปยูเครนได้รับการยืนยันจากสถาบันต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและการจัดอันดับ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ยกให้ยูเครนเป็นประเทศที่น่าลงทุนทำธุรกิจมากที่สุดในอันดับที่ 32 ดัชนีชี้วัดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สหประชาชาติ (UN e-Government Development Index : EGDI) ให้ยูเครนอยู่ในอันดับที่ 25 ส่วนอันดับที่ 16 ของยูเครนเป็นในด้าน “ความเข้มแข็งของการคุ้มครองนักลงทุน” จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เป็นต้น”

“ขั้นตอนของการปฏิรูปในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ยังมีอีกหลายขั้นที่จะต้องดำเนินต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุด-เราได้ผ่านจุดนั้นและจะไม่หวนกลับไปสู่ช่วงก่อนการปฏิรูป”

“ในปี ค.ศ.2014 ยูเครนได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรี DCFTA หรือ Deep and Comprehensive Free Trade Area ระหว่างสหภาพยุโรปหรืออียู กับยูเครน อันเป็นบทบัญญัติที่เป็นแผนงานในการปฏิรูปต่อไปในยูเครน”

“ส่วนสหภาพยุโรปก็ประสบความสำเร็จ สามารถบรรลุข้อตกลงอนุญาตให้พลเมืองจากยูเครนเดินทางเข้าสู่เขตยูโรโซนได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”

เรื่องราวของนักการทูตกับชีวิตครอบครัว

“ผมกับภริยา นาตาเลีย (Natalia) พบกันที่มหาวิทยาลัย”

“เราเป็นบิดามารดาของลูกที่กำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น 3 คน”

“ส่วนตัวผมนั้นชื่นชอบในเรื่องดนตรีเป็นอันดับแรก”

“ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุข ช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งทางตรงและทางอ้อม”

“ดนตรีเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของมนุษย์ให้มีความเบิกบานหรรษาให้เกิดความสงบและพักผ่อน”

“งานอดิเรกอีกอย่างของผมคือ ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ มีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ สมัยเป็นนักเรียนมักจะเพลิดเพลินกับการท่องป่าไปตามเทือกเขาคาร์พาเทียน (Carpathians Mountains) อันสวยงามในยูเครน ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้เข้าใจวัฒนธรรมและประเพณีของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามภูเขา”

“ได้เรียนรู้ทักษะของการอยู่รอดเมื่อถึงคราวจำเป็น และได้นำประสบการณ์มาถ่ายทอดให้แก่ลูกๆ ด้วย โดยใช้วันหยุดในฤดูร้อนพาครอบครัวไปกางเต็นท์นอนเวลาเข้าป่า”

“เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีธรรมชาติ ผืนป่าและสัตว์ป่า อันอุดมสมบูรณ์หลายแห่ง”

“ซึ่งเราได้ไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยในที่ใหม่ๆ”

“เพื่อช่วยส่งเสริมให้คนไทยรู้จักยูเครนมากขึ้น งานสำคัญอย่างหนึ่งของผมคือ การติดต่อระหว่างบุคคลต่อบุคคล และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางแก่ชาวยูเครนที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเมืองไทยเป็นที่นิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวยูเครน ในช่วงปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวยูเครนเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ปี 2013 – 24,000 คน; ปี 2014 – 36,000 คน และปี 2015 – มากกว่า 45,000 คน) แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปเยือนยูเครนยังต่ำมาก ดังนั้น เราจึงเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายเปิดเสรีวีซ่าสำหรับชาวยูเครนที่เดินทางมาเยือนไทยและชาวไทยที่ไปเยือนยูเครน”

“สำหรับปี ค.ศ.2017 นับเป็นปีแห่งการครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างยูเครนและไทย ผมหวังว่า เราจะสามารถใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศยูเครนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในยูเครน”

นายอันดรีย์ เบชตา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย ฝากข้อความถึงคนไทยว่า

“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราเข้าใจถึงการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรไทยและขอแบ่งปันความโศกเศร้าของคนไทย พวกเราในยูเครนทราบดีว่า ทรงเป็นแบบอย่างในการอุทิศพระองค์ที่ทรงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อประโยชน์สุข และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกรตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ เพื่อความผาสุกและความเป็นหนึ่งเดียวกันในราชอาณาจักร”

“เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.2016 เป็นพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ผมจึงมีความปรารถนาให้ประเทศไทยเป็นเอกภาพ มีความสงบสุขและมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป”

“ผมขอสรุปการสนทนาวันนี้ว่า คนไทยมีความสุภาพและเป็นมิตร มีอัธยาศัยดีและรักความสงบ เช่นเดียวกันกับที่ชาวต่างชาติมองคนยูเครน ถึงแม้ประเทศของเราจะอยู่ห่างไกลกันหลายพันกิโลเมตร แต่ทั้งยูเครนและไทยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกัน ผมจึงขอเชิญคนไทยหาโอกาสไปเยือนยูเครน ประเทศซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรม ธรรมชาติที่มีความหลากหลายและสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง”