จัตวา กลิ่นสุนทร : 2 ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) “กมล ทัศนาญชลี” และ “ถวัลย์ ดัชนี” (ผู้ล่วงลับ)

“กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) (จิตรกรรม+สื่อผสม) ยังเป็นแกนนำกลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาต่างๆ เดินสายสัญจรไปทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ศิลปะ ในนามกระทรวงวัฒนธรรม

ถึงถิ่นพำนักยังอยู่ในนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (Los Angeles, California, USA) แต่ในทุกๆ ปีจะเดินทางไป- กลับแอลเอ (LA)-กรุงเทพฯ เพื่อมาเดินสายสร้างงาน เผยแพร่งานศิลปะอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 4 เดือน เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540

โดยจะกลับไปยังแอลเอ สหรัฐ (LA,USA) ในช่วงที่ต้องนำพากลุ่มยุวศิลปิน และครูผู้สอนศิลปะจากประเทศไทยไปศึกษาดูงานยังสหรัฐ หลังจากที่คณะกรรมการในประเทศไทยทำการคัดเลือกในไว้แต่ละปี ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม

โดยเขาเป็นผู้ดำเนินงาน ประสานงานกับสถานแสดงศิลปะ สถาบันศิลปะ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ กระทั่งศิลปินร่วมสมัยของสหรัฐอเมริกา

บางปี บางโอกาสก็เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินร่วมสมัยของไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยนำศิลปินระดับแนวหน้าจากประเทศไทย “ศิลปินแห่งชาติ” และศิลปินรับเชิญอาวุโสทั้งหลายเดินทางไปเปิดนิทรรศการศิลปะแลกเปลี่ยนในสหรัฐ

โดยเฉพาะในนครลอสแองเจลิส (Los Anngeles) ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจาก “สถานกงสุลไทย” ในเมืองดังกล่าวอย่างดี และประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง

 

กมลเพิ่งเดินทางกลับไปยังสหรัฐเมื่อกลางๆ ปี 2562 หลังกลับจากงานนิทรรศการ “เวนิส เบียนนาเล่” (Venice Biennale) ครั้งที่ 58 (116 ปี) และนำคณะยุวศิลปินจากโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรม (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (Yong Artist Talent) รุ่นที่ 10 จำนวน 12 คน เดินทางไปศึกษาดูงานยังเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น 14 วัน มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่น

กลับมาจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้หยุดนิ่ง ได้ไปเดินสาย “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีคณะครู นิสิต นักศึกษาจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ศิลปะแขนงต่างๆ กว่า 700 คน

ขณะมีช่วงว่างเพียงวันสองวันเขาก็แวะไปทำงานศิลปะ เช่น ภาพพิมพ์ เซรามิก (Graphic, Ceramic) ตามนิสัยของศิลปินที่ทำงานตลอดเวลาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่องานศิลปะทั้งหมดชนิดไม่เคยหยุดนิ่ง

กมลตัดสินใจซื้อที่ดินข้างเคียงบ้านเกิดเพื่อสร้าง “หอศิลป์” (บ้านศิลปินแห่งชาติ) เป็นอาคารสูง 3 ชั้น โดยทุ่มเทกำลังสติปัญญา ทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากกว่า 10 ล้านบาท ณ วงเวียนใหญ่ (ซอยราษฎรร่วมเจริญ) เขตคลองสาน กรุงเทพฯ สำหรับติดตั้งแสดงผลงานเพื่อการศึกษาเผยแพร่

เขาบินจากสหรัฐสู่ประเทศไทยอีกครั้งเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2562 โดยมีศิลปินแห่งชาติกว่า 20 ท่าน เกือบครบทุกสาขาร่วมเดินทางเพื่อดำเนินงานตามนโยบายในการเผยแพร่ศิลปะแขนงต่างๆ และได้รับการตอบรับจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครูผู้สอน และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก

กลับจากภาคใต้ ศิลปินแห่งชาติกลุ่มนี้ได้พากันสัญจรสู่ภาคอีสาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายนที่ผ่านมา

กมลจะเดินทางกลับสหรัฐตอนสิ้นเดือนกันยายน 2562 หลังเดินทางกลับจากจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง “หอศิลป์ บ้านนายถวัลย์ ดัชนี พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” เพื่อรับรางวัล “ยกย่องเชิดชูเกียรติ” (Thawan Duchanee Arts and Culture Prize 2019) ในวันที่ 27 กันยายน 2562

 

“ดอยธิเบศร์ ดัชนี” ทายาทหนึ่งเดียวของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ได้กำหนดเอาวันที่ 27 กันยายน ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดบิดา เป็น “วันถวัลย์ ดัชนี” และมอบรางวัลให้กับศิลปิน ช่าง และผู้ที่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการศิลปะในประเทศ เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าของรางวัล ซึ่งสร้างคุณูปการไว้มากมายในวงการศิลปะของไทย

ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นลักษณะแนวทางของตนเองอย่างลึกซึ้งแฝงปรัชญาไว้จำนวนมากในแผ่นดิน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ จนได้รับรางวัลระดับสูงจากองค์กร วงการศิลปะในต่างประเทศ โดยไม่นับรางวัลในประเทศไทย เช่น รางวัลสำคัญ The 12th Fukuoka Asian Culture Prize – “Art and Culture Prize” สำหรับบ้านเราในสังคม การเรียนการศึกษาศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปะ สมัครใจเรียกท่าน (พี่) ว่า “ปราชญ์วาดรูป”

การแสดงงานครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี คือ นิทรรศการ “ไตรสูรย์” เมื่อปี พ.ศ.2547-2548 ณ หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ

นอกจากนั้น ติดตามชมงานของท่าน (พี่) ถวัลย์ได้ตามพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยเฉพาะที่หอศิลป์ร่วมสมัย กรุงเทพฯ

 

วันที่ 27 กันยายน 2483 เป็นวันเกิดของท่าน (พี่) ถ้ายังมีชีวิตอยู่ วันที่ 27 กันยายน 2562 จะมีอายุครบ 80 ปี คณะกรรมการจึงกำหนดเอาวันนี้เป็นวันถวัลย์ ดัชนี ดังกล่าว พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ซึ่งเจ้าของรางวัลเป็นผู้ออกแบบเอาไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่ เป็น “ไม้แกะสลักรูปหัวพญานาค”

ผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีคุณูปการแก่วงการศิลปะ เป็นศิลปินสร้างผลงานทางด้านศิลปะ และครูอาจารย์สาขาต่างๆ อย่างเช่นยอดฝีมือด้านการแกะสลักไม้

เช่น อาจารย์กมล ทัญนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม), อาจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม), อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง), อาจารย์ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ถ่ายภาพ), แม่ครูบัวซอน ถนอมบุญ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง), คุณชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, อาจารย์นริศ รัตนวิมล สาขาวัฒนธรรม, คุณอัฐพล คำวงษ์ สาขาวัฒนธรรม

ทายาทคนเดียวของท่าน (พี่) ถวัลย์ ได้ดำเนินการมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินี้มา 3 ปีแล้ว โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งตรงกับวันเวลาที่ “คณะศิลปินแห่งชาติสัญจร” ไปยัง “หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” พอดี

 

กมล ทัศนาญชลี ซึ่งสนิทสนมกับท่าน (พี่) ถวัลย์แบบรู้ใจมากคนหนึ่งเล่าว่า ท่าน (พี่) มักจะเดินทางไปพำนักยังบ้านพักของเขาในนครลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles, USA) เป็นประจำแทบทุกปีต่อเนื่องมานานมาก โดยเฉพาะระหว่างช่วงเดือนกันยายน-เดือนพฤศจิกายน หรือบางครั้งอยู่สหรัฐจนข้ามปี เพื่อหลบหลีกผู้ที่พยายามจะไปจัดงานวันเกิดให้

ระหว่างพำนักในสหรัฐ กมลได้เตรียมอุปกรณ์ในการวาดภาพ สร้างงานศิลปะให้พร้อมอย่างรู้ใจเพื่อให้สามารถหยิบฉวยขึ้นมาตวัดฝีแปรงได้ทันทีเมื่อมีอารมณ์จะทำงานในความเงียบสงบไร้สิ่งรบกวน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเวลาประมาณตี 4 จนถึงใกล้สว่าง บางครั้งเกิดไฟดับเพราะได้ตั้งเวลาเอาไว้ “ปราชญ์วาดรูป” ก็ยังสามารถวาดตวัดฝีแปรงจนสำเร็จเสร็จลงจนได้ในความมืด

ผลงานทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนเป็นเงินจำนวนมหาศาลในประเทศนั้น แม้กระทั่งวันที่ท่านเสียชีวิตลง หลายชิ้นยังค้างคาอยู่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะต้องเดินทางกลับมาก่อนในการเยือนครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะไม่ได้กลับไปอีกเลยก็ยังสามารถขายไปไม่มีเหลือโดยนักสะสม หรือนักเก็งกำไรไม่ทราบแย่งกันมากวาดไปจนหมด

ทรัพย์สินจากการขายผลงานของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี จำนวนไม่น้อยสามารถนำไปช่วยเหลือการกุศลต่างของคนไทยในสหรัฐ และอำนวยความสะดวกในบ้านของกมล ทัศนาญชลี เช่น พาหนะซึ่งใช้เป็นสถานที่สำหรับต้อนรับนักศึกษา อาจารย์ ศิลปินทั้งหลายที่เดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศนั้นเป็นประจำทุกๆ ปีอย่างได้ผล

สร้างประโยชน์แก่การเรียน การศึกษา การสอนศิลปะ ศิลปินของประเทศไทยให้ก้าวหน้าร่วมสมัยกับต่างประเทศตลอดมา

 

ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี “ปราชญ์วาดรูป” ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเชียงราย เกิดและตายลาจากโลกนี้ในเดือนเดียวกันคือกันยายน ท่าน (พี่) เสียชีวิตในวันที่ 3 กันยายน 2557 ผ่านเลยไป 5 ปีแล้ว

ชื่อเสียงเกียรติคุณ และผลงานอันยิ่งใหญ่ยังคงดำรงอยู่ อย่างน้อยที่สุด “ทายาทคนเดียว” ของท่านผู้ซึ่งจะได้รับมรดกตกทอดด้วยความชอบธรรมตามสายเลือด ก็ยังรักษาและสืบทอดสิ่งที่ผู้เป็นพ่อสร้างเอาไว้

วันที่ 27 กันยายนทุกปีเป็น “วันถวัลย์ ดัชนี”

“บ้านสีดำ เชียงราย” คือ “หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ”