ทวีศักดิ์ บุตรตัน : ความท้าทายทางการแพทย์จากภาวะโลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ในวงการแพทย์อเมริกัน อังกฤษ และออสเตรเลีย ตื่นตัววางแผนรับมือกับภาวะโลกร้อนกันอย่างคึกคักหลังจากพบสถิติการเจ็บป่วย การเสียชีวิตจากโรคภัยที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับภาวะโลกร้อนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่ากระบวนการรักษาเยียวยาผู้ป่วยมีความซับซ้อนต้องใช้ยาหลายขนานควบคู่กันมากกว่าเดิม

วารสารการแพทย์แห่งนิวอิงแลนด์เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยของทีมแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตแอนชูตซ์ (Anschutz Medical campus) ระบุว่า คนงานในภาคการเกษตรทั่วโลกจำนวนนับหมื่นคนเสียชีวิตเพราะเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ CKD (chronic kidney disease)

ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

 

ในทางการแพทย์ ไตเรื้อรัง หมายถึงภาวะไตถูกทำลาย ความสามารถของไตทำงานลดลง เช่น การรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย การควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด การกำจัดของเสียออกจากเลือด การกำจัดยาและพิษออกจากร่างกาย การหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด

สถิติคนงานในประเทศนิการากัวและเอลซัลวาดอร์เสียชีวิตเพราะเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น 83 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน

แพทย์พบว่าคนงานเหล่านี้ทำงานในที่กลางแจ้ง แดดจ้า อากาศร้อนอบอ้าวและสูญเสียเหงื่อมาก

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ปกติแล้ว ภาวะไตเรื้อรังจะมีความสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคเบาหวานและเครียดจัด แต่คนงานซึ่งไม่ได้เป็นเบาหวานหรือเครียด กลับเป็นไตเรื้อรังมากขึ้น

นอกจากคนงานในไร่แถบอเมริกากลางเป็นไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นแล้ว คนงานในรัฐฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย และโคโลราโด ป่วยเป็นไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบัน ผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยเพราะอากาศร้อนมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยเพราะโรคหัวใจ

พญ.เซซิเลีย โซเรนเซน หนึ่งในทีมนักวิจัยบอกว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกมีแต่เพิ่ม และผู้คนจะเผชิญกับความเสี่ยงจากคลื่นความร้อน ดังจะเห็นเหตุการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี 2546 มีผู้เสียชีวิต 70,000 คน

“คนอเมริกันเห็นเชื้อไลม์แพร่ระบาดในสถานที่ที่ไม่เคยมีเชื้อนี้มาก่อนเพราะมีอากาศหนาวจัด แต่วันนี้ได้เห็นแล้วเพราะสภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิเพิ่มขึ้น เชื้อไลม์สามารถฝังตัวอยู่กับสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่นเดียวกับยุงเป็นพาหะของเชื้อซิก้า เชื้อเดงกี่และชิกุนคุนยา ได้แพร่ระบาดในสหรัฐมาหลายปีแล้ว” คุณหมอโซเรนเซเซนอธิบาย

 

“แอนนา โกชัว” นักศึกษาแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เขียนบทความเรียกร้องให้วงการแพทย์อเมริกันตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมว่ามีผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนเป็นอย่างมาก

บทความดังกล่าวชี้ว่า จากการบันทึกข้อมูลประวัติและการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยพบมีอาการป่วยซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต ต้องใช้ยาหลายขนานในการรักษา

“โกซัว” ชี้ว่า ภายในปี 2593 ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อแหล่งผลิตอาหาร ผู้คนเสียชีวิตเพราะไม่มีอาหารตกถึงท้องราว 5 แสนคน บรรดาแพทย์จะเป็นแนวหน้าช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ก่อนกลุ่มอื่นๆ

โกซัวเสนอให้โรงเรียนแพทย์เร่งเปิดหลักสูตรเพื่อรองรับปัญหาโลกร้อนและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีโรงเรียนแพทย์ที่ใดจัดหลักสูตรเต็มรูปแบบ

ปัจจุบันในสหรัฐมีเพียงมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งซานฟรานซิสโก ที่เปิดหลักสูตรอาหารเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืน มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับภาวะโลกร้อน แต่ให้เป็นแค่วิชาเลือก

ดร.โทมัส นิวแมน เขียนคำแนะนำหลักสูตรว่า โลกร้อนจะเป็นภัยคุกคามใหญ่สุดในด้านการสาธารณสุขของศตวรรษที่ 21 และกระทบกับสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้

 

ด้านสมาคมแพทย์แห่งออสเตรเลีย ประกาศเป็นทางการว่า มีหลักฐานยืนยันชัดเจนภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างร้ายแรงกับผู้ป่วยและชุมชนของออสเตรเลียทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า

เป็นคำประกาศหลังจากสมาคมแพทย์อเมริกันและสมาคมแพทย์แห่งอังกฤษ แถลงการณ์ว่า ภาวะโลกร้อนมีผลต่อสุขภาพและจะร่วมกันรณรงค์ควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับเป็นกลางภายในปี 2573

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 องค์การอนามัยโลกเตือนว่าโลกร้อนเป็นภัยคุกคามด้านการสาธารณสุขที่ใหญ่หลวงของศตวรรษที่ 21

ในครั้งนั้นสมาคมแพทย์ออสเตรเลียแสดงความเห็นด้วยกับองค์การอนามัยโลก

ดังนั้น คำประกาศครั้งล่าสุดของสมาคมแพทย์แห่งออสเตรเลียถือว่าได้เป็นการยกระดับการรับมือกับภาวะโลกร้อนขั้นสูงสุด

ในคำประกาศดังกล่าวยังย้ำเตือนให้รัฐบาลออสเตรเลียเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากยุคการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ยุคการใช้พลังงานหมุนเวียน และขอให้จัดแผนควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ริเริ่มโครงการพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติด้านสุขอนามัยและภาวะโลกร้อน

 

นายแพทย์โทนี่ บาโทเน่ ประธานสมาคมแพทย์แห่งออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว ภาวะโลกร้อนคือภัยคุกคามด้านสุขอนามัยและชีวิตความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ

เชื้อโรคแพร่ระบาดกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ผ่านสภาวะภูมิอากาศที่วิปริตแปรปรวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นความร้อนซึ่งจะทำให้ผู้คนเจ็บป่วย ติดเชื้อ และคนป่วยจะมีสภาพจิตผิดปกติรุนแรงขึ้น

โลกร้อนยังเป็นสาเหตุให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ภาวะขาดแคลนอาหารจะตามมา

คุณหมอบาร์โทเน่บอกอีกว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาคมการแพทย์ออสเตรเลียชักชวนหน่วยงานองค์กรการแพทย์ การสาธารณสุขเข้าร่วมหารือและเขียนจดหมายผลักดันรัฐบาลออสเตรเลียตระหนักถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนและระบบสุขอนามัยของออสเตรเลีย

ทั้งหมดนี้เป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวของวงการแพทย์ในประเทศพัฒนาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความเป็นกังวลต่อปัญหาโลกร้อนอย่างมาก

วงการแพทย์บ้านเราสนใจเรื่องอย่างนี้กันมั่งหรือเปล่า?