E-DUANG : ​​การเมือง ในยุค ออนไลน์ พรรคใด ครอบครองพื้นที่

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะอยู่ภายใต้ฉายาแห่งรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557 แต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่พื้นที่การเมืองเป็นอย่างสูง

ปัจจัยอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 1 เกิดจากตัว”รัฐประหาร” เป็นตัวเร่งเร้า

โดยเฉพาะ”คนรุ่นใหม่” ที่ตกเป็นเหยื่อของ “รัฐประหาร”

หากพวกเขาอายุ 13 ปีตอนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เขาก็อายุ 18 ปีตอนเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

ปัจจัยอันเหมือนกับสร้างบทสรุปอย่างมีประสิทธิภาพให้กับคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะอายุ 18 ไม่ว่าจะอายุ 25 ปีก็คือ ปัจจัยจากเทคโนโลยี

นั่นก็คือ บทบาทของ”โซเชียล มีเดีย

 

อาจกล่าวได้ว่า ภายในกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เทคโนโลยี”ออนไลน์”ได้เข้ามามีส่วนหนุนเสริมและสร้างความคึกคักเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ล้วนมี”เวบเพจ” ของตนเองเป็น “เครื่องมือ”

แต่ผลจากเดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม 2562 ความสน ใจในพื้นทีโซเชียลมีเดีย เสมือนจะตกอยู่ในความยึดครองของพรรคอนาคตใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ไม่เพียงแต่ส่งให้ชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชื่อ นายปิยบุตร แสงกนกกุล มีความโดดเด่น

หากแม้กระทั่ง น.ส.พรรณิการ์ วานิช ก็พุ่งทะยาน

กระแส”ฟ้ารักพ่อ”ที่จุดขึ้นมาจากฟุตบอลประเพณีจุฬาฯกับ ธรรมศาสตร์ กลายเป็น”ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” ดึงดูดคนรุ่นใหม่ เข้าไปแวดล้อมพรรคอนาคตใหม่

ทั้งหมดนี้เป็นฤทธานุภาพของ”โซเชียลมีเดีย“โดยแท้

 

จากเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ผลสะเทือนของโซเชียล มีเดียจึงแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง

ทุกพรรคล้วนมีเพจ ทุกนักการเมืองล้วนมีเพจ

กระนั้น ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็ยังเป็นด้านรองของพรรคอนาคตใหม่

นี่คือคำถามที่ทุกพรรคยังไม่อาจหาคำตอบได้