ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ปรากฏการณ์บิณฑ์ : สัญญาณของความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ทั้งๆ ที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 เพิ่งถวายสัตย์และทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเต็มตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม แต่ถึงตอนนี้สถานการณ์การเมืองต่างๆ ทำให้ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อรัฐบาลเต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายราวกับประยุทธ์ 2 บริหารประเทศมาหลายสิบปี ถึงแม้อายุงานรัฐบาลจะยังไม่ถึงสามเดือนก็ตาม

แน่นอนว่าการที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีผู้นำซึ่งยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2557 เป็นเหตุให้ประชาชนเบื่อรัฐบาลในเวลาที่รวดเร็วแน่ๆ

และเมื่อคำนึงว่ารัฐบาลนี้มีรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ไม่เคยอยู่ในประยุทธ์ 1 ความเบื่อก็แสดงว่าคนหน่าย พล.อ.ประยุทธ์จนรัฐมนตรีไม่มีผลให้อะไรดีขึ้นเลย

ด้วยเหตุจากความเอือมระอานายกรัฐมนตรีซึ่งกลายเป็นความรู้สึกที่ประชาชนหลายล้านคนมีร่วมกัน ปรากฏการณ์ที่รัฐบาลทำอะไรก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปหมดกำลังก่อตัวในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

จนดูเหมือนว่าความยอมรับที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลถดถอยลง ไม่ต้องพูดถึงความร่วมมือซึ่งยิ่งนานก็ยิ่งน่ากังวล

ล่าสุด ขณะที่น้ำท่วมอุบลราชธานีสองสัปดาห์จนน้ำเริ่มจะลง ความเชื่องช้าของรัฐบาลส่งผลให้ความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรแผ่ขยายในหมู่คนจำนวนมาก

จากนั้นเมื่อ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ประกาศระดมเงินไปให้คนอุบลฯ ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ความอึดอัดต่อรัฐบาลก็กลายเป็นการแห่บริจาคช่วยคนอุบลผ่านบิณฑ์ทันที

ยังไม่มีใครรู้ว่าความอาทรของคนไทยจะแปรสภาพเป็นเม็ดเงินช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ เงินตั้งต้นจากบิณฑ์ 1 ล้านบาท เติบโตภายในสองวันเป็นเงินเกือบ 250 ล้าน โดยบิณฑ์แทบไม่ต้องเอ่ยปากอะไรเลย

นั่นแปลว่าพลังบวกในสังคมไทยที่บิณฑ์เป็นตัวกลางถ่ายทอดสู่คนไทยสูงจนน่าอัศจรรย์

ท่ามกลางความมืดมิดที่คนนับล้านคับข้องใจกับรัฐบาลจนเกิดแฮชแท็ก #SaveUbon บิณฑ์กลายเป็นประตูให้ความปรารถนาดีของคนไทยพุ่งสู่อุบลฯ

แล้วกระจายไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

สัมฤทธิผลของบิณฑ์ชี้ว่าสังคมไทยมีคนอยากทำอะไรแบบนี้นานแล้ว แต่บิณฑ์เป็นคนแรกที่เปิดประตูนี้ออกมา

ปัญญาชนที่กลัวว่าโลกจะไม่ฉลาดบางกลุ่มวิจารณ์ว่าวิธีบริจาคเงินไม่ได้แก้ “ปัญหาโครงสร้าง” อะไร

แต่ที่จริงทุกขเวทนาของผู้ประสบเหตุน้ำท่วมนั้นหนักจนการบรรเทาภัยเฉพาะหน้าสำคัญกว่า “ปัญหาโครงสร้าง” อยู่แล้ว ไม่ต้องพูดว่าเงินบริจาคแบบนี้น้อยจนไม่อยู่ในฐานะจะแก้ “ปัญหาโครงสร้าง” ได้เลย

หน้าที่ทางสังคมของการบริจาคคือการแสดงถึงความอาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความเป็นเพื่อนมนุษย์ในที่นี้จะถักทอด้วยชาติ, ความเห็นใจ, ความเป็นคนไทย, สำนึกพื้นถิ่น ฯลฯ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่สังคมที่มนุษย์อาทรมนุษย์ด้วยกันนั้นน่าอยู่กว่าสังคมที่คนไม่อาทรกันแน่ ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็ตาม

ในกรณีของบิณฑ์ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความอาทรซึ่งแปรรูปเป็นเงินบริจาคอันมหาศาลในเวลารวดเร็วแก้ “ปัญหาโครงสร้าง” หรือไม่ เพราะประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าคือทำไมสิ่งที่เรียกว่า “โครงสร้าง” ไม่สามารถตอบสนองความอาทรที่ไหลวนมหาศาลในสังคมจนพวยพุ่งออกมาด้วยการปลดปล่อยของบิณฑ์?

ตรงข้ามกับคำอธิบายง่ายๆ ว่าการบริจาคสะท้อนวัฒนธรรรมช่วยเหลือที่ฉาบฉวยซึ่งไม่ได้แก้ “ปัญหาโครงสร้าง” อะไร การบริจาคของบิณฑ์และวิธีที่สังคมตอบสนองอย่างล้นหลามแสดงถึง “โครงสร้าง” บางอย่างที่เปลี่ยนไปมาก

บิณฑ์จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในอดีตนั้นคนไทยมองการบริจาคเป็น “ทาน” วัดจึงเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจการบริจาคในประเทศนี้ทั้งหมด วินาทีที่คนไทยหยิบเงินใส่ซองหรือหย่อนธนบัตรเข้าตู้ตามวัดต่างๆ คือวินาทีแห่งการตั้งจิตอธิษฐานเพื่อชีวิตที่ดีของตัวเองและคนรักในโลกนี้และโลกหน้า แม้แต่องค์กรการกุศลอื่นก็เช่นเดียวกัน

นอกจากการบริจาคในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ทาน” การระดมเงินของหน่วยงานรัฐในเหตุการณ์ต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจการบริจาคที่ใหญ่ที่สุด คนไทยที่บริจาคเงินช่วยน้ำท่วม, ไฟไหม้, สึนามิ ฯลฯ จึงมีทั้งคนที่คิดว่ากำลังทำ “ทาน” หรือไม่ได้คิดเลยก็ได้ เมื่อเทียบกับความรู้สึกว่าช่วยคนไทยด้วยกัน

แม้บิณฑ์จะลงพื้นที่ไปช่วยคนอุบลฯ ที่ประสบน้ำท่วมในนามมูลนิธิร่วมกตัญญูซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะด้าน “ทาน” ที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย แต่ในการวางตัวเป็นประตูเพื่อนำเงินประชาชนไปสู่ประชาชน บิณฑ์พูดเรื่องนี้ในแง่ “ทาน” น้อยจนคนที่บริจาคเงินด้วยความคิดเรื่อง “ทาน” อาจมีน้อยเหลือเกิน

“ทาน” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมศาสนาในสังคมไทยเหมือนในสังคมอื่น แต่ในโลกที่คนนิยามตัวเองกับศาสนาน้อยลง “ทาน” อาจเสื่อมความสำคัญจนไม่พอจะแผ่กิ่งก้านครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมก็ได้ สำนึกเรื่องความเอื้ออาทรที่เอกเทศจากอุดมคติเรื่อง “ทาน” จึงสำคัญต่อการช่วยคนในสังคมในปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่การบริจาคของบิณฑ์จะแสดงความอาทรซึ่งไม่ขึ้นต่อความเชื่อเรื่อง “ทาน” การบริจาคเงินให้บิณฑ์ยังเป็นการบริจาคต่อ “ปัจเจกบุคคล” ที่ทำเรื่องนี้โดยไม่อิงรัฐบาลหรือการรับรองของราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่ง

กระบวนการนี้จึงเป็นเรื่องของ “ประชาสังคม” ที่ไว้ใจซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องพึ่งรัฐเลย

ทุกคนรู้ว่าวิธีที่บิณฑ์รับบริจาคและจ่ายเงินนั้นตรวจสอบไม่ได้เลย แต่ด้วยต้นทุนทางสังคมที่สูงของบิณฑ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ “ประชาสังคม” มีต่อบิณฑ์จึงถึงจุดที่ไม่มีใครคิดว่าบิณฑ์หรือคณะจะยักยอกเงินไปด้วย

ความเชื่อใจระหว่างคนธรรมดาที่ไม่ต้องมีรัฐรับรองข้อนี้คือนิมิตของความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม

น่าสังเกตว่าการบริจาคเงินมหาศาลให้บิณฑ์เกิดขึ้นหลังจากคำพูดของบิณฑ์เรื่อง “รัฐบาลมัวแต่ช้อปอะไร”

ปริมาณเงินจึงสะท้อนความแคลงใจที่ประชาชนมีต่อวิธีบริหารงานและงบประมาณของรัฐบาลนี้ด้วย

แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการแสดงปฏิกิริยาต่อความล้มเหลวของระบบราชการในการดูแลทุกข์สุขประชาชน

แน่นอนว่าไม่มีข้าราชการคนไหนจงใจละเลยประชาชน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ความช่วยเหลือที่รัฐมีต่อประชาชนไปไม่ถึงคนที่สมควรได้ความช่วยเหลือทั้งหมด มิหนำซ้ำปริมาณความช่วยเหลือยังต่ำกว่าที่คนไทยด้วยกันเห็นว่ารัฐสมควรช่วย ระบบราชการกรณีนี้จึง “ไม่มีน้ำยา” จนคนหลายกลุ่มอึดอัดนาน

ก่อนที่บิณฑ์จะรับบริจาคโดยนำเงินใปให้ผู้เดือดร้อนโดยตรง ข่าวที่ระบาดหนาหูคือเงินบริจาคจังหวัดต้องโอนมากรุงเทพฯ ก่อนจังหวัดจะเบิกช่วยประชาชนภายหลัง ความไม่พอใจที่ราชการไม่เอาเงินให้ผู้ประสบภัยทันทีจึงกรุ่นในใจคนจำนวนมาก วิธีให้เงินประชาชนโดยตรงของบิณฑ์จึงตบหน้าระบบราชการตรงๆ

บิณฑ์รับบริจาคเงินท่ามกลางความหงุดหงิดที่สังคมมีต่อรัฐบาลและระบบราชการ ความไม่เข้าท่าของนายกฯ ที่ไปใต้ตอนน้ำท่วมอีสาน ทำให้คนไม่พอใจอยู่แล้ว ระบบราชการที่เงินบริจาคไปถึงประชาชนช้าสร้างความขุ่นใจยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความรู้สึกว่าข้าราชการล้มเหลวในการเตือนภัยและดูแลประชาชน

จริงอยู่ว่าหน่วยงานรัฐเตือนประชาชนล่วงหน้าเรื่องพายุจะเข้าไทย

แต่ข้อมูลในพื้นที่ก็ยืนยันว่าคำเตือนไปไม่ถึงประชาชนด้วยเหตุต่างๆ, ประชาชนไม่รู้ว่าควรจะอพยพหรือไม่, การอพยพควรเกิดขึ้นในวันไหน, เส้นทางไหนถูกตัดขาด, จะย้ายจากไหนไปไหนดี หรือแม้แต่รัฐเองก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนเพื่อช่วยประชาชน

ภายใต้รัฐบาลที่ผู้นำไม่รู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการย่อมปะทุออกมาจนถึงขีดสุด

ความเข้าใจว่าน้ำมาแล้วเดี๋ยวก็ลงอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลไม่ตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อแก้ปัญหานี้

และในเมื่อระบบราชการบริหารความเดือดร้อนไม่ได้ กลไกดูแลประชาชนทั้งหมดก็พังทลาย

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่แสดงให้เห็นความสามารถในการดูแลตัวเองของสังคม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือปรากฏการณ์นี้แสดงว่าสังคมมีพลังพอโอบอุ้มคนไทยด้วยกันในยามวิกฤตได้อีกมาก ปัญหาของประเทศตอนนี้คือผู้นำที่ไร้น้ำยาคุมรัฐบาลที่ประสิทธิภาพเหนือระบบราชการที่ล้มเหลวสิ้นเชิง

แน่นอนว่าบิณฑ์และการบริจาคผ่านบิณฑ์ไม่ได้แก้ “ปัญหาโครงสร้าง” แต่เงินบริจาคไม่เกินสามร้อยล้านนั้นไม่พอจะแก้โครงสร้างอะไรอยู่แล้ว สาระสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การวิจารณ์ปรากฏการณ์นี้เหมือนวิจารณ์ตูนจนเป็นสูตรสำเร็จ แต่คือการมองเห็นว่าปรากฏการณ์บิณฑ์สะท้อนทุนทางสังคมที่ควรต่อยอดอย่างไร

ปรากฏการณ์บิณฑ์เป็นสัญญาณของสังคมไทยที่เคลื่อนตัวสู่การมีสำนึกสาธารณะบางอย่างมากขึ้น และในสำนึกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นจนปะทุออกมาในรูปเงินบริจาคให้บิณฑ์แบบนี้ สิ่งที่พังทลายลงไปคือความเชื่อมั่นในรัฐและระบบราชการซึ่งพยายามวางตัวเองเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ระบบการบริหารที่คนทั้งประเทศรังเกียจย่อมมีรากฐานที่ผุพังลงไปเรื่อยๆ และถึงที่สุดแล้วความมืดในวันนี้ก็เป็นห้วงเวลาที่รอแสงสว่างเท่านั้นเอง